สหรัฐเตรียมรับมือ ‘คลื่นความร้อน’ ทำค่าไฟพุ่ง 8% คนไม่มีเงินซื้อแอร์
ฤดูร้อนปีนี้สหรัฐร้อนกว่าเดิม ทำค่าไฟพุ่ง 8% คนไม่มีเงินซื้อเครื่องปรับอากาศ ขณะที่รัฐตัดเงินช่วยเหลือ และยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือจากคลื่นความร้อน
KEY
POINTS
- สมาคมคณะกรรมการช่วยเหลือพลังงานแห่งชาติ (NEADA) ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือความยากจนและสภาพภูมิอากาศด้านพลังงานของสหรัฐ คาดว่าค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 8% และในบางพื้นที่อาจพุ่งไปถึง 12%
- สำหรับชาวอเมริกันบางคนแล้ว ค่าสาธารณูปโภคที่พุ่งสูงขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพหรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในปี 2023 ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากความร้อนมีถึง 2,300 คน
- โครงการช่วยเหลือด้านพลังงานในบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือ LIHEAP กลับลดลงถึง 1 ใน 3 เหลือเพียงมูลค่า 4,100 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่หน้าฝน แต่ในสหรัฐกำลังจะเข้าหน้าร้อน และคาดว่า “คลื่นความร้อน” จะทำให้ฤดูร้อนนี้มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าไฟก็แพงขึ้นด้วยเช่นกัน
สมาคมคณะกรรมการช่วยเหลือพลังงานแห่งชาติ (NEADA) ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือความยากจนและสภาพภูมิอากาศด้านพลังงานของสหรัฐ คาดว่าค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 8% อยู่ที่ 719 ดอลลาร์ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน โดยในแต่ละพื้นที่จะขึ้นไม่เท่ากัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคมิดแอตแลนติก และมิดแปซิฟิกจะต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มมากกว่า 12% ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยในบางส่วนของมิดเวสต์อาจเจอกับค่าไฟที่สูงขึ้น 10%
มาร์ค วูล์ฟ กรรมการบริหารของ NEADA กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐคาดว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอาจมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติในฤดูร้อนนี้ ทำให้ประชาชนต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ผ่านหน้าร้อนนี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม ราคาค่าไฟที่ NEADA ประเมินไว้ สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐคาดไว้ว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 519 ดอลลาร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หน่วยงานมีความเห็นตรงกับ NEADA ว่าค่าไฟในเขตมิดแอตแลนติก มิดแปซิฟิก และมิดเวสต์จะพุ่งสูงขึ้น แต่ไม่สูงเท่าตัวเลขของ NEADA
ราคาที่แตกต่างกันนี้ เกิดขึ้นจาก NEADA คำนวณจากอัตราการใช้งานที่สูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และยังคิดระยะเวลานานกว่า เพราะสมาคมกำหนดให้เดือนกันยายนยังอยู่ในช่วงฤดูร้อนด้วย
ร้อนขึ้น ค่าไฟแพง อาจทำให้คนเสียชีวิตมากขึ้น
สำหรับชาวอเมริกันบางคนแล้ว ค่าสาธารณูปโภคที่พุ่งสูงขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพหรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในปี 2023 ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากความร้อนมีถึง 2,300 คน เพิ่มขึ้นจาก 1,600 คนในปี 2021 ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์
“หากผู้คนไม่สามารถซื้อเครื่องปรับอากาศได้ในช่วงฤดูร้อน เราก็ไม่แปลกใจที่ผู้คนจะป่วยและไปโรงพยาบาล ขณะนี้คลื่นความร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น ครอบครัวจำนวนมากจำเป็นต้องเข้าถึงเครื่องทำความเย็นที่ราคาไม่แพง” วูล์ฟกล่าว
นอกจากนี้ ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากความร้อนยังแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในบางส่วนของประเทศเมื่อฤดูร้อนปี 2023 ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินจากความร้อนที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้สหรัฐยังไม่มีนโยบายที่จะช่วยให้ประชาชนคลายร้อน และรักษาอุณหภูมิให้เย็นคงที่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยขึ้น
ไดอานา เฮอร์นันเดซ รองศาสตราจารย์และผู้อำนวยการร่วมของ Energy Opportunity Lab แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า ปัจจุบันประมาณ 80% ของเงินทุนของรัฐบาลกลางสำหรับช่วยเหลือประชาชนจ่ายค่าสาธารณูปโภค ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติความร้อน และแม้ว่าบางรัฐและท้องถิ่นจะจัดหาเครื่องปรับอากาศให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่หลายคนก็ไม่กล้าใช้เครื่องปรับอากาศเพราะว่ามีค่าใช้จ่ายสูง
ทั้งนี้ เฮอร์นันเดซระบุว่า รัฐบาลกลางจำเป็นต้องปรับปรุงและคิดนโยบายช่วยเหลือด้านพลังงานให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการอยู่เย็นที่บ้านเพื่อสุขภาพ ความปลอดภัย และความอยู่รอด
ความช่วยเหลือยังไปไม่ถึง
แม้ว่าชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังดิ้นรนในการชำระค่าสาธารณูปโภค แต่งบประมาณประจำปี 2024 จากรัฐบาลกลางสำหรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานความร้อนและความเย็นที่เรียกว่า โครงการช่วยเหลือด้านพลังงานในบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือ LIHEAP กลับลดลงถึง 1 ใน 3 เหลือเพียงมูลค่า 4,100 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 6,100 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณก่อนหน้า
การตัดงบ LIHEAP จะทำให้รัฐต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือครอบครัวได้น้อยลงประมาณ 1 ล้านครัวเรือน และทำให้ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลืออาจได้รับเงินน้อยลง หรืออาจจะไม่ได้รับเงินสำหรับใช้ซื้อเครื่องปรับอากาศ
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้เพิ่มเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับ LIHEAP ภายหลังจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ NEADA ระบุจำนวนคนที่ต้องการช่วยเหลือและจำนวนเงินที่พวกเขาเป็นหนี้อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่ปี 2020 ช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดใหม่ ๆ
ในเดือนธันวาคม 2023 มีประมาณ 21.2 ล้านครัวเรือนที่มีหนี้ค่าไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 6 ครัวเรือนในสหรัฐ โดยมีมูลค่าเงินค้างชำระค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มรวมกันมากกว่า 20,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 17,800 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 ซึ่งมีครอบครัวที่เป็นหนี้ราว 20.1 ล้านครัวเรือน
ตามการสำรวจชีพจรครัวเรือนในเดือนเมษายน 2024 ที่จัดทำโดยสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐ พบว่า เกือบ 1 ใน 5 ของครัวเรือนในสหรัฐกล่าวว่า ในปี 2023 มีอย่างน้อยหนึ่งเดือนที่พวกเขาไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการรักษาอุณหภูมิในบ้านให้เหมาะสมและปลอดภัยกับสุขภาพ
ยิ่งไปกว่านั้น มีเพียง 17 รัฐ และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศเท่านั้น ที่ไม่มีการตัดไฟในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน หากไม่ได้จ่ายค่าไฟ แม้ว่ารัฐส่วนใหญ่ยินยอมให้จ่ายค่าไฟล่าช้าในช่วงฤดูหนาวก็ตาม ชี้ให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของรัฐยังคงล้าสมัยและไม่ปรับตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
“เนื่องจากขาดนโยบายในการจัดการกับคลื่นความร้อน ทำให้มีคนเสียชีวิตจากฮีทสโตรกจำนวนมาก เราจะต้องตายโดยไม่จำเป็น”
ที่มา: CNN, Fast Company, The Guardian