'กรุงศรี-MUFG' ร่วมจัดงาน สุดยอดการประชุมสัมมนา ESG หนุนธุรกิจโตยั่งยืน
Krungsri-MUFG ESG Symposium สุดยอดการประชุมสัมมนา ESG โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก พาธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่ความยั่งยืน โดยงานสัมมนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 67 ภายในงานได้จัดเป็น 2 เวทีสัมมนาใหญ่ แนวคิด Net Zero World และ Transition in Action
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเป็นกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของโลก จัดสัมมนาใหญ่ Krungsri-MUFG ESG Symposium สุดยอดการประชุมสัมมนา ESG โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก รวมพลังสร้างอนาคตพาธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการสนับสนุนความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG โดยงานสัมมนาได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในหัวข้อ "การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero" ว่า ปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกไม่เป็นอย่างที่คิด อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี กรุงศรีได้ให้ความ
สำคัญในเรื่องของโลกร้อน ถือเป็นต้นน้ำที่ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านการ ดี-คาร์บอนไนเซชันของไทย จากเวที COP28 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถมีข้อยุติลดปริมาณการใช้ฟอสซิลแต่สิ่งที่ทำได้คือการเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกพลังงานหมุนเวียนอีก 3 เท่า เพื่อให้ถึงเป้าหมายปี ค.ศ. 2030 ในการเพิ่มพลังงานสะอาด 30@30 ที่มาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน 30%
ส่วนเรื่องของการเงินนั้น แต่ละประเทศได้เสนอให้เงินสนับสนุนต่อประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านเอ็นเนอจี้ ทรานซิชั่น เนื่องจากแต่ละประเทศมีความสามารถในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่แตกต่างกัน โดยนโยบายของประเทศไทยถือว่ามีความชัดเจนตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปีค.ศ. 2050 และ Net zero ปี ค.ศ. 2065 ตามตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนที่ 222 ล้านตัน ในปี 2030 โดยลดการปล่อยในประเทศเฉลี่ย 30% และได้รับความช่วยเหลือต่างประเทศ ในรูปแบบทวิภาคี รวมถึงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณามาตรฐานการแลกเปลี่ยน
นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในหัวข้อ "การเดินหน้าของอุตสาหกรรมไทยตามกลยุทธ์และการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอน" ว่า ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม บีโอไอได้ปรับบริบทและเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนให้เข้ากับบริบทที่เกิดขึ้น
สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ละประเทศต่างมีมาตรการรองรับ บีโอไอได้ให้ความสำคัญเรื่องกรีน อีโคโนมี กว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยปีค.ศ. 2009-2021 สนับสนุนเงินด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มชึ้นจาก 1.4 พันล้านดอลลาร์ ไปจนถึง 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีการเติบโตของตลาดจาก 7% เป็น 10% โดยสินค้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่น่าจับตา ทั้งในส่วนของกรีน อุตสาหกรรม พลังงาน การผลิต การขนส่งและสังคม
การสนับสนุนด้านพลังงาน จะเร่งออกเกณฑ์ค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (UGT) โดยจะเริ่มใช้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ผ่าน 2 ช่องทาง เพื่อให้มีผลกับการลงทุน โดยส่งเสริมธุรกิจเพาเวอร์แพลน ที่เน้นซื้อพลังงานสีเขียว จากตัวเลขของนักลงทุนที่สนใจพบว่า มีกิจการที่ลงทุนถึง 1,932 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปีค.ศ. 2022 ภาคอุตสาหกรรม ถือว่ามีความหลากหลาย ทั้งเกษตร และไบโอแมส ซึ่งภายใต้อุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเกษตร ชีวภาพที่อยู่ภายใต้บริบท BCG
โดยในช่วงที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบาย BCG ให้เป็นวาระแห่งชาติปี ค.ศ. 2020 มีการลงทุนปี ค.ศ. 2023 ถึง 356 โครงการ ที่เน้นนำของเสียมาผลิตใหม่ ภาคการขนส่ง ถือเป็นอีโคซิสเต็มการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อเทียบกับยานยนต์ ICE เดิม บีโอไอให้สิทธิน้อย พอมาภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ ก็ปรับสิทธิประโยชน์มากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการจัดหาผลักดันซัพพลายเชนให้เกิดขึ้นในไทย
นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องถึงการสนับสนุนด้านดิจิทัล ดาต้าเซ็นเตอร์ AI และแมชชีน โดยปี ค.ศ. 2023 มีคำขอสนับสนุนกว่า 7.7 หมื่นคัน เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2022 มากขึ้น 7 เท่า ส่วนภาคสังคม ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา บีโอไอมีมาตรการดึงความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าสนับสนุนชุมชน หากผู้ประกอบการสนใจสนับสนุนชุมชน ก็มาขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอในกิจการต่างๆ เพื่อชุมชนได้ ปัจจุบันมีการสนับสนุนด้านเกษตร ท่องเที่ยว ลดโลกร้อน และ PM2.5
"ทั้งหมดนี้ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงโลกด้านสิ่งแวดล้อม บีโอไอปรับด้านกรีน อีโคโนมี พลังงานสีเขียว พลังงานทดแทน ซึ่งปีนี้และปีต่อๆ ไป จะมีสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย เพื่อตอบโจทย์โลกมากขึ้น"
นายสิริวิทย์ ปรีชาศุทธิ์ General Manager of Corporate Planning Department, Toyota Motor Thailand Co., Ltd. กล่าวในหัวข้อ "อนาคตอุตสาหกรรมยานยนตร์ โอกาสและความท้าทาย" ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โตโยต้าดำเนินตามกรอบเพื่อมุ่งสู่โมบิลิตี้ CASE แบ่งเป็น 1. Connectivity โดยการเชื่อมต่อ ตลอดระยะเวลา 20 ปี ได้มีการพัฒนาจากระบบ 2จี มา 5จี และไม่เกิน 5 ปีนี้ จะเข้าสู่ 6จี 2. Autonomous ถือเป็นเรื่องที่ตื่นเต้น เพราะปัจจุบันยานยนต์ไร้คนขับมีจริงและเกิดการใช้งานจริง 3. Sharing เทรนด์คนรุ่นใหม่ ไม่นิยมซื้อสินทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ผู้บริโภคจะเน้นเช่า เพราะมีการออกแบบที่ทันสมัย เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องการ
และ 4. Electrification จะเห็นว่าปัจจุบันการใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าเข้ามาแทนการใช้น้ำมัน ทั่วโลกตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โตโยต้าจะช่วยและปรับสู่โมบูลิตี้คอมพานีเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ตามวิสัยทัศน์ Carbon Neutrality และ Expanding the value of mobility โตโยต้ามีความเชื่อว่า Powertrain is not enemy ซึ่งไม่ใช่ศัตรูของสิ่งแวดล้อม แต่เป็นคาร์บอนที่ทำลาย โตโยต้าดำเนินธุรกิจเพื่อตอบรับความต้องการผู้บริโภค จึงผลิตยานยนต์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะไฮบริดมากขึ้น ซึ่งโตโยต้าอยู่ระหว่างผลิต ตั้งเป้าหมายปีค.ศ. 2035 จะลดคาร์บอนได้ 50% และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปีค.ศ. 2050
"ทั้งนี้ โตโยต้าจะขยายมูลค่าธุรกิจใหม่ในเชิงนวัตกรรม เป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนโมบิลิตี้ เพื่อช่วยโลก สังคม และสังแวดล้อม ทั้งนี้ โลจิสติกส์ของประเทศจะเปลี่ยนไป ด้วยโลจิสติกส์ใหม่ โดยมีสมาร์ทโซลูชั่นต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคมไทย" นายสิริวิทย์ กล่าว
สำหรับหัวข้อ "การเงินสีเขียว ก้าวที่สำคัญสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน" ได้รับเกียรติจากผู้บริหารบิ๊กคอร์ป 4 ท่าน โดยนางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การเงินและการลงทุน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า บริษัทฯ ประกาศเป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2050 โดยปี ค.ศ. 2030 จะลด 25% จากปีฐานปีค.ศ. 2020 ภายใต้แนวคิด Inclusive Green Growth
สำหรับแนวคิดดังกล่าวจะถูกผลักดัน 4 เรื่อง คือ 1. องค์กรคล่องตัว ยืดหยุ่น ปรับตัวได้เร็ว ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า 2. นวัตกรรมกรีน SCG ให้ความสำคัญมาก จึงออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชั่น และพลาสติกรักษ์โลก เป็นต้น 3. องค์กรแห่งโอกาส สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ SCG พยายามให้พนักงานปล่อยพลังให้ได้คิดค้นวิธีการทำงานใหม่ๆ เกิดเป็นสตาร์ทอัป ซึ่งสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือ ได้อัพสกิลและใส่ความเป็นเจ้าของกิจการ และ 4.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่นโครงการเมืองคาร์บอนต่ำสระบุรี ถือเป็นเมืองต้นแบบเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ ให้เกษตรกรได้ทำนาเปียกสลับแห้ง
การที่ SCG จะเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero จะต้องลงทุนและเสริมสร้างความรู้มากมาย แต่ทุกเรื่องของความท้าทายจะมีโอกาสเสมอ บริษัทฯ สามารถอยู่กับ ESG และหาโอกาสทำธุรกิจได้ ส่วนกระบวนการผลิตก็มีการลดการปล่อยคาร์บอนลงเรื่อย ๆ พร้อมนโนบายติดตั้งโซลาร์ที่โรงงานมุ่งสู่กรีนเอ็นเนอจี้
"องค์กรจะเติบโตยั่งยืนจะต้องได้รับความไว้ใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อประกาศแผนดำเนินงานออกไปแล้วจะลงมือทำและรายงานผลทุกไตรมาส เราเชื่อมั่นคุณค่าของคน ที่เกิดจากการปลูกฝังอุดมการณ์ตั้งมั่นในความเป็นธรรม ตามอุดมการณ์ 4 ประการในการดำเนินธุรกิจ ปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ขับเคลื่อนองค์กรเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของ SCG" นางจันทนิดา กล่าว
นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ดำเนินธุรกิจโดยเริ่มจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกว่า 45 ปี จัดตั้งมาเพื่อดูแลความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ เมื่อองค์กรเติบโตแล้วจะต้องมองเรื่องความมั่นคงด้านอื่นๆ อีกด้วย จึงนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาปรับใช้ในธุรกิจมากกว่า 12 ปีที่แล้ว และทำอย่างต่อเนื่อง
ในเรื่องของ Beyond ปตท. ได้เปลี่ยนธุรกิจไปเยอะ โดยจะเน้นไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อต้องการให้สังคมไทยมีความยั่งยืนมากขึ้น แต่การดำเนินธุรกิจเพื่อได้ตามเป้าหมายนั้น ธุรกิจจะต้องเติบโตโดยพลังงานเดิม เช่น ธุรกิจก๊าซจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น พลังงานทดแทน ไฮโดรเจนและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างน้อยจะต้องสร้างสัดส่วนรายได้ 30% เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปีค.ศ. 2040 และ Net Zero ปี ค.ศ. 2050 โดยฐานเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอน 15% ในปีค.ศ. 2030
"กลุ่มปตท. ได้ตั้งทีม G-NET คณะทำงานมุ่งสู่ Net Zero โดยใช้ความถนัดต่างๆ ในบริษัทลูก ทั้งด้านพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยี CCS, CCUS โดยนำเอาคาร์บอนมาทำผงฟู หรือ การปลูกป่า และการทำ กิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชม" นายวรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ปตท.จะมีกลยุทธ์ คือ 1. เร่งปรับ คือ ปรับกระบวนการผลิต 2. เร่งเปลี่ยน ธุรกิจจะต้องทรานฟอร์มและแตกแขนง เช่น อีวีแวลูเชน AI&Robotics จะเสริมและชดเชยสิ่งที่ปรับลดลง โดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างธุรกิจถ่านหิน และ 3. เร่งปลูก โดยการปลูกป่าเพื่อการดูแลสังคมชุมชนในพื้นที่ ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเร่งสู่เป้าหมาย ดังนั้น การทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน ต้องทำมิติ ESG เพื่อสร้างความสมดุลให้เติบโตมั่นคง มีกำไรที่พอเหมาะโดยจะต้องดูแลสังคมและชุมชน
นางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ให้บริการศูนย์การค้าและโรงแรม ปัจจุบันมี 100 กว่าโครงการ และอยู่ระหว่างเพิ่มเติมอีก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน และมีนโยบายจริงจังด้านสิ่งแวดล้อมมากว่า 10 ปี
บริษัทฯ ตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2050 โดยระหว่างทาง จะปรับกระบวนการโดยการติดตั้งโซลาร์ที่ศูนย์การค้า และตั้งเป้าติดตั้งทุกโครงการในปีนี้ ซึ่งยอมรับว่ายังมีกฎระเบียบข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาแต่ก็จะพยายามดำเนินการให้สำเร็จ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ส่วนขยะที่เกิดจากก่อสร้างก็ร่วมกับองค์กรต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อให้อย่างน้อยทุกการก่อสร้างมีการปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรีมีกรีนพอร์ตที่ทำมานานแล้ว ทุกอย่างที่ทรานซิชั่นก็เพื่อให้ทุกคนก้าวไปด้วยกัน ธนาคารเราเป็นตัวกลางเพื่อช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนคนที่ทำจริงจะต้องเป็นลูกค้าที่ต้องมีแผนที่ชัดเจน เพราะธนาคารอนุมัติได้จากสาขาต่างๆ แต่สโคปสำคัญคือ พอร์ตโฟลิโอที่ปล่อยให้ลูกค้า เพราะลูกค้าเยอะจึงไม่ใช่ง่าย อย่างไรก็ตามกรุงศรีถือว่าอยู่เคียงคู่ไปกับสังคม จึงต้องช่วยทุกคนให้ก้าวข้ามผ่าน ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จคือ ความจำเป็นของลูกค้า เราอยากให้ลูกค้ามุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หลายบริษัทมีแผนที่ชัดเจน ธนาคารก็ช่วยได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นมากดดัน อีกทั้งความจำเป็นในการทำเรื่อง ESG ก็ต่างกัน การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงต้องเรียนรู้เพื่อไปสู่โอกาสและประสบความสำเร็จ จึงถือเป็นความท้าทาย เพราะธนาคารเองก็อยู่ยากขึ้น เพราะในอดีตจะดูแค่ Cash flow แต่มายุคปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อจะมีศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ ทั้งเรื่องของ Climate Change ทั้งเรื่องของ EBITDA ธนาคารต้องทำความเข้าใจในรายธุรกิจถึงกระบวนการจัดการกับคาร์บอน
"เรามีความรู้เรื่อง ESG จึงตั้งหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน โดยมีลูกค้าข้ามชาติ จึงสามารถนำความรู้จากลูกค้าเมืองนอกและไทยมาบริหารจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งการเริ่มทำในช่วงแรกได้เริ่มจากการคุยกับลูกค้า และรู้เทรนด์โลก ดังนั้น แม้จะปรับตัวมากมากแค่ไหน เราก็จะต้องทำอีกเยอะและทำไปพร้อมกับหลายคน" นายประกอบ กล่าว