กนช.เคาะแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน รับมือลานีญา

กนช.เคาะแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน รับมือลานีญา

กนช.ไฟเขียวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน การส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคเพื่อรองรับสภาวะลานีญา ด้านสทนช. รับลูกเร่งหน่วยงานเสนอโครงการภายใน13มิ.ย.นี้ ของบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ก่อนเสนอครม.อนุมัติใช้กลางเดือน ก.ค.67

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อเร็วๆ นี้ (เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67) เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภค เพื่อรองรับสภาพการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สภาวะลานีญา 

กนช.เคาะแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน รับมือลานีญา

ที่คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักสูงกว่าค่าเฉลี่ย และอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตลอดจนรองรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคด้วย

 สทนช. จึงเดินหน้าเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องให้แก่หน่วยงาน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะต้องเสนอแผนงาน/โครงการ ในการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคดังกล่าว

กนช.เคาะแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน รับมือลานีญา

สำหรับข้อกำหนดในการเสนอแผนงาน/โครงการนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นแผนงาน/โครงการในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ตามที่ สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์ไว้ รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนพื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาโดยเร่งด่วน ตามที่คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร 

โดยจะต้องเป็นแผนงาน/โครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ หรือเพื่อป้องกันบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย หรือเพื่อการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือรองรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 หรือจะเป็นแผนงาน/โครงการเกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 หรือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภคก็ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ จังหวัด และ อปท. ที่มีแผนงาน/โครงการอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีมาดำเนินการได้ หรือไม่มีงบเหลือจ่ายเพียงพอ หรือไม่มีงบประมาณจากแหล่งอื่นมาดำเนินการ สามารถเสนอแผนงาน/โครงการดังกล่าว ในการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางได้เช่นกัน แต่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน/โครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้ว

แผนงาน/โครงการที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางดังกล่าว จะต้องสามารถระบุที่ตั้งพร้อมพิกัดโครงการได้ชัดเจน สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนพัฒนาจังหวัด ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 และแผนพัฒนาท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย แต่จะต้องไม่เป็นภารกิจถ่ายโอน และสามารถดำเนินงานได้ตามข้อกำหนด หลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการในการเสนอโครงการในระบบ Thai Water Plan (TWP) ด้ในระยะเวลาที่กำหนดคือ ภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2567

กนช.เคาะแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน รับมือลานีญา กนช.เคาะแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน รับมือลานีญา

สำหรับประเภทแผนงาน/โครงการในการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคดังกล่าว ได้กำหนดไว้ 6 ประเภท ด้วยกัน ได้แก่

1.โครงการเกี่ยวกับการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุม การระบายน้ำ และการเก็บกักน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพรองรับสถานการณ์น้ำหลาก

2.โครงการเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำและการกำจัดผักตบชวา ทั้งที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

 3.โครงการเกี่ยวกับการขุดลอกคูคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

4.โครงการเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่เป็นการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานรองรับสถานการณ์น้ำหลาก

5.โครงการเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำส่วนเกินในฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป

และ 6.โครงการเกี่ยวกับการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีอยู่แล้วและพัฒนาขึ้นใหม่ตามความจำเป็น

“อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพิจารณาโครงการในแต่ละขั้นตอนเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเสนอแผนงาน/โครงการ โดยพิจารณาจากแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อมอยู่แล้วและมีความจำเป็นเร่งด่วน พร้อมทั้งให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ และหน่วยงาน เร่งรัดการดำเนินการพิจารณาโครงการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

คาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณอนุมัติได้ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เพื่อที่จะให้แต่ละหน่วยงานได้รับการสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์”