‘ภาวะโลกร้อน’ กระทบ ‘พยากรณ์อากาศ’ ทำนายได้ยากกว่าเดิม แม่นยำน้อยลง

‘ภาวะโลกร้อน’ กระทบ ‘พยากรณ์อากาศ’ ทำนายได้ยากกว่าเดิม แม่นยำน้อยลง

เปิดโมเดล “พยากรณ์อากาศ” ของสหรัฐ ในการรับมือ “ภาวะโลกร้อน” ทำให้พยากรณ์อากาศได้ยากขึ้น แม่นยำน้อยลง แถมทำให้คนไม่เชื่อมั่น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้สภาพอากาศทั่วโลกไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น รุนแรงมากกว่าเดิม ทั้งคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงพายุฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายแก่แอฟริกา ขณะที่สหรัฐต้องเตรียมรับมือกับพายุเฮอร์ริเคนในปีนี้ที่รุนแรงและมีจำนวนมากกว่าเดิม

เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนจำเป็นต้องพึ่งพาการ “พยากรณ์อากาศ” ในการวางแผนใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับทำให้พยากรณ์อากาศได้ยากขึ้นและแม่นยำน้อยลง

เคน เกรแฮม ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐกล่าวว่า ตามปรกติแล้ว นักพยากรณ์อากาศอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบสภาพอากาศในอดีต เพื่อให้ทราบว่าอากาศในสภาวะปรกติ จะมีลักษณะอย่างไรในแต่ละสถานที่ และใช้คาดการณ์สภาพอากาศในอนาคต แต่ในตอนนี้อนาคตที่คุ้นเคยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีถึง 7 ปีที่มีพายุเฮอร์ริเคนเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกมากกว่าปรกติ ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลแคริบเบียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับการเกิด “น้ำท่วม” ซึ่งเป็นผลพวงมาจากฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันชั้นบรรยากาศของโลกอุ่นขึ้นและมีความชื้นมากขึ้น 

ปี 1985 สหรัฐเกิดน้ำท่วมฉับพลันประมาณ 30 ครั้งต่อเดือน แต่ในปี 2020 เกิดเพิ่มขึ้นเป็น 82 ครั้ง และคาดว่าในปี 2023 จะมีเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันเพิ่มขึ้นเป็น 90 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากปี 1985 ถึง 3 เท่า

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มความถี่ในการเกิดและความรุนแรงของภัยพิบัติ ทำให้พยากรณ์อากาศได้ยากกว่าเดิม” เกรแฮมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศดีขึ้นมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้สามารถเตือนภัยพิบัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและทันต่อการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยมากยิ่งขึ้น 

บิล บันติง รองผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์พายุในเมืองนอร์แมน รัฐโอคลาโฮมา กล่าวว่า ปัจจุบัน “เรดาร์ดอปเปลอร์” ดาวเทียมสำหรับพยากรณ์อากาศจะอัปเดตทุก ๆ 30-60 วินาที และมีแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้นักพยากรณ์มองเห็นอนาคตได้แม่นยำกว่าเดิม ทำให้การคาดการณ์แม่นยำยิ่งขึ้น แม้ว่าสภาวะต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนมากขึ้นก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม การปกป้องผู้คนจากสภาพอากาศที่รุนแรงให้ได้ผลมากที่สุด จำเป็นต้องมีการพยากรณ์อากาศเฉพาะเจาะจงในแต่ละท้องถิ่น บันติงกล่าว

“ตลอดการทำงานของผม เราไม่ได้เพียงแต่ออกคำเตือนเฉพาะระดับประเทศ ภูมิภาค หรือในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เราต้องต้องจงมากขึ้นทั้งในขอบเขตด้านพื้นที่และเวลา” บันติงกล่าว

บันติงยกตัวอย่างการพยากรณ์พายุทอร์นาโด แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดพายุบ่อยครั้งขึ้น แต่ในปัจจุบันสหรัฐก็สามารถเตือนผู้คนในพื้นที่ได้เร็วมากขึ้น ตั้งแต่พายุเริ่มก่อตัว และระบุพื้นที่ที่จะเกิดพายุได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถรักษาชีวิตและทรัพย์สินประชาชนได้มากขึ้น 

ด้วยความไว้ใจที่มีต่อการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐ ปัจจุบันมีผู้คนมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อพายุทอร์นาโดเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยในตอนนี้มีสำนักตรวจอากาศกระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 100 แห่ง

สภาพอากาศสุดขั้ว” และความรุนแรงของภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้สำหรับสื่อสารกับสาธารณะ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติได้ปรับปรุงแผนที่และกราฟิกอื่น ๆ ที่เตือนผู้คนถึงอันตรายจากพายุเฮอร์ริเคนมาโดยตลอด ทั้งเพิ่มคำเตือนคลื่นพายุใหม่ คำศัพท์ใหม่ในการบรรยายพายุที่มีความเร็วเพิ่มขึ้น และจะทวีความรุนแรงก่อนจะขึ้นฝั่ง อีกทั้งยังจะมีแผนที่พยากรณ์เส้นทางพายุเฮอร์ริเคนแบบใหม่ โดนยจะเปิดตัวในปลายฤดูร้อนนี้ ซึ่งจะรวมคำเตือนเกี่ยวกับน้ำท่วม และอันตรายอื่น ๆ

เมื่อปี 2560 กรมอุตุนิยมวิทยาต้องเพิ่มสีใหม่ลงในแผนที่ปริมาณน้ำฝน เนื่องจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ ทำให้เกิดฝนตกหนักมาก จนมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนในเท็กซัส เช่นเดียวกับในหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ในปีนี้กรมอุตุฯตัดสินใจเพิ่มรหัสสีใหม่เพื่อเตือนผู้คนเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ดียิ่งขึ้น

เกรแฮมกล่าวว่า จำเป็นต้องให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าในตอนนี้สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือสำหรับภาพอากาศที่อาจไม่เคยเจอมาก่อน

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยพิบัติและสภาพอากาศสุดขั้วในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และการประกาศเตือนก็มีบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายครั้งก็มีที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง จนทำให้หลายคนเริ่มมีความรู้สึกเปลี่ยนไปกับข่าวพยากรณ์อากาศ โดยเกรแฮมอาการเหล่านี้ว่า “อาการเหนื่อยล้าจากการได้รับการเตือนมากเกินไป” (warning fatigue) ซึ่งจะทำให้ผู้คนหมดความรู้สึก ส่งผลให้ไม่ได้รับหรือเพิกเฉยต่อการแจ้งเตือน หรือการตอบสนองล่าช้า

ดังนั้นกรมอุตุนิยมวิทยาจึงเลือกส่งคำเตือนเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากน้ำท่วม พายุเฮอร์ริเคน คลื่นความร้อน หรือเหตุการณ์สภาพอากาศที่เป็นอันตรายอื่น ๆ เท่านั้น ไม่ได้ส่งให้คนทั้งประเทศ​ เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดเป้าหมายคำเตือนไปยังกลุ่มที่แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขณะเดียวกัน อย่าทำให้ประชาชนเกิดความชะล่าใจ เกรแฮมกล่าวว่า “หากคุณได้รับคำเตือนพายุทอร์นาโด ที่ห่างออกไป 20 ไมล์ คุณอาจจะคิดว่าไม่เป็นไรหรอก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง หรือพายุทอร์นาโดลูกต่อไปจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณ” เขาเน้นย้ำ

 

ที่มา: NPR