'โลมาอิรวดี' สัตว์ป่าคุ้มครองแห่งทะเลสาบสงขลา เร่งอนุรักษ์ก่อนสูญพันธุ์

'โลมาอิรวดี' สัตว์ป่าคุ้มครองแห่งทะเลสาบสงขลา เร่งอนุรักษ์ก่อนสูญพันธุ์

ทช. จัดทำ “แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา” (พ.ศ. 2567 - 2576) สัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย ก่อนสูญพันธุ์

KEY

POINTS

  • โลมาอิรวดีที่อาศัยในน้ำจืด เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) และในไทย ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
  • ในปี พ.ศ. 2565 เหลือเพียง 14 - 20 ตัว ซึ่งโลมาอิรวดีแห่งทะเลสาบสงขลา เป็นเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกมีเพียง 5 ประชากรย่อยเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด
  • หากประเทศไทยไม่สามารถอนุรักษ์โลมาอิรวดีกลุ่มนี้ไว้ได้ นับเป็นความสูญเสียในระดับสากลซึ่งเมื่อสูญเสียไปแล้วก็ไม่สามารถทดแทนได้

โลมาอิรวดี นับเป็นสัตว์น้ำหายาก ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ 1 ใน 5 แห่งของโลก ที่พบโลมาอิรวดี ได้แก่ ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่าโลมาอิรวดี ตายไปทั้งหมดกว่า 140 ตัว

 

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยว่า การประเมินสถานภาพประชากรโลมาอิรวดีทั่วโลก จากบัญชีแดงของ IUCN ( IUCN Red List of Threatened Species ) ในปี ค.ศ. 2017 ระบุให้โลมาอิรวดีที่อาศัยในน้ำจืด เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) อีกทั้ง ในประเทศไทยโลมาอิรวดีถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

 

ประกอบกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการศึกษาวิจัย สำรวจและติดตามประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตอนบน โดยคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาก่อนปี พ.ศ. 2534 มีมากกว่า 100 ตัว แต่จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ. 2565 เหลือเพียง 14 - 20 ตัว ซึ่งโลมาอิรวดีแห่งทะเลสาบสงขลาเป็นเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกมีเพียง 5 ประชากรย่อยเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

หากประเทศไทยไม่สามารถอนุรักษ์โลมาอิรวดีกลุ่มนี้ไว้ได้ นับเป็นความสูญเสียในระดับสากลซึ่งเมื่อสูญเสียไปแล้วก็ไม่สามารถทดแทนได้ เป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ

 

ดังนั้น การอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตอนบน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยจะต้องทำควบคู่กับการดูแลวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบทะเลสาบสงขลา จำนวน 60 ชุมชน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

 

ทั่วโลก มีการค้นพบโลมาอิรวดีในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง

1. แม่น้ำอิรวดี ประเทศเมียนมา

2. แม่น้ำโขง ในส่วนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชา

3. แม่น้ำมะหะขาม ประเทศอินโดนีเซีย

4. ทะเลสาบซิลิก้า ประเทศอินเดีย

5. ทะเลสาบสงขลาของประเทศไทย

 

แผนอนุรักษ์ “โลมาอิรวดี”

ทช. ได้มีการจัดทำ “แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา” (พ.ศ. 2567 - 2576) วัตถุประสงค์เพื่อลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ รวมถึงการศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดี วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี และเป็นแนวทางการอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน รวมถึง การบริหารจัดการแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา

 

แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ประกอบด้วยตัวชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่

1. อัตราการตายของโลมาอิรวดีจากเครื่องมือประมงเป็นศูนย์

2. จำนวนประชากรโลมาอิรวดีเพิ่มขึ้นเป็น 30 ตัว ในระยะเวลา 10 ปี

3. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงมีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพครอบคลุมพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติงานที่ตรวจสอบได้

 

แผนอนุรักษ์ฯ 5 ปี

สำหรับ แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาระยะ 5 ปี เป้าหมายเพื่ออนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน (20 ตัวในเวลา 5 ปี) ดังนี้ 

 

แผนงานที่ 1 การลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดี และแหล่งที่อยู่อาศัย (3 โครงการ 8 กิจกรรม)

  • เป้าหมาย

1. ไม่มีเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดี ทำการประมงในทะเลสาบ

2. กำหนดเขตพื้นที่คุ้มครอง และพื้นที่หวงห้ามสำหรับอนุรักษ์โลมาอิรวดี

3. ประชาชนในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลาตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามต่อโลมาอิรวดีและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์

 

แผนงานที่ 2 การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา และการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ (1 โครงการ 1 กิจกรรม)

  • เป้าหมาย

เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมาอิรวดีในแหล่งที่อยู่อาศัย

 

แผนงานที่ 3 การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (2 โครงการ 5 กิจกรรม)

  • เป้าหมาย

1. ข้อมูลการแพร่กระจายและจำนวนประชากรของโลมาอิรวดีที่เป็นปัจจุบัน

2. เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการตื้นเขินและการลดมลพิษของทะเลสาบสงขลาตอนบน

 

แผนงานที่ 4 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (1 โครงการ 1 กิจกรรม)

  • เป้าหมาย

ข้อมูลรูปแบบและความหลากหลายทางพันธุกรรมของโลมาอิรวดี

 

แผนงานที่ 5 การดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน (7 โครงการ 17 กิจกรรม)

  • เป้าหมาย

1. เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ปฏิบัติงานลาดตระเวน คุ้มครอง เฝ้าระวังเชิงคุณภาพ และช่วยชีวิตโลมาอิรวดีอย่างมีประสิทธิภาพ

2. นายสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการช่วยชีวิตโลมาอิรวดีและสัตว์ทะเลหายาก

3. พัฒนาศูนย์เรียนรู้และช่วยชีวิตโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาและสัตว์ทะเลหายาก

4. การอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างรายได้ของชาวประมงในแต่ละชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา

5.การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โลมาอิรวดีบนพื้นฐานของมิติความเท่าเทียมกันทุกเพศสภาพ (Genderequality)

 

แผนงานที่ 6 การบริหารจัดการแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (1 โครงการ 4 กิจกรรม)

  • เป้าหมาย

การบริหารจัดการ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาในทุกมิติ

 

สร้างความยั่งยืน

ทั้งนี้ แผนดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ใน 4 เป้าหมาย ได้แก่

เป้าหมายที่ 5 : บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน

เป้าหมายที่ 10 : ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

เป้าหมายที่ 12 : สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ

เป้าหมายที่ 14 : อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

อ้างอิง :  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง