‘เศรษฐา’ อย่าลืม เป้าหมาย ‘จีดีพี’ 5%
สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมในขณะนี้ คือ แผนการบริหารเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว โดยแผนในระยะสั้นเป็นการดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% ตามเป้าหมายของรัฐบาล ในขณะที่แผนการระยะยาวเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดเตรียมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
ดูเหมือนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยจะฝากความหวังไว้ที่โครงการเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะแจกให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป รวม 50 ล้านคน ซึ่งเดิมทีรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะแจกประชาชนได้ในเดือน ก.พ.2567 แต่ติดปัญหาแหล่งเงินงบประมาณส่งผลให้ต้องเลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 4 ปี 2567 เพื่อรอการตั้งงบกลางปีงบประมาณ 2567 รวมถึงรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 และรอการนำเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้ดำเนินการ
ภายหลังการเข้าบริหารราชการแผ่นดินเมื่อเดือน ก.ย.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ไม่เฉลี่ยปีละ 5% ในช่วง 4 ปี ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในช่วงปี 2566-2570 ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจในรอบ 10 ปี (2557-2566) ที่อยู่ระหว่างติดลบ 6.2% ถึง 4.1% โดยนายเศรษฐาหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการแจกเงินดิจิทัลจะเป็นตัวกระตุกเศรษฐกิจขึ้นมา
การตั้งเป้าหมายไว้สูงเป็นความท้าทายในเชิงการทำงานที่เป็นแนวทางของพรรคเพื่อไทย แต่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากจากกำลังซื้อที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมถึงการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาครัฐที่ยังขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองมีผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นเช่นกัน
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 2-3% ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.2-3.2% จากปัจจัยเรื่องสงครามการค้าและปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลนายเศรษฐา เหลือเวลาบริหารราชการแผ่นดินประมาณ 3 ปี และหากเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ดังกล่าว นั่นหมายความว่ารัฐบาลนายเศรษฐา จะต้องบริหารเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากกว่า 5% เพื่อให้ค่าเฉลี่ย 4 ปี อยู่ที่ 5% ตามที่รัฐบาลประกาศไว้
สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมในขณะนี้ คือ แผนการบริหารเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว โดยแผนในระยะสั้นเป็นการดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% ตามเป้าหมายของรัฐบาล ในขณะที่แผนการระยะยาวเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดเตรียมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงการยกระดับรายได้ประเทศเพื่อให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และนำประเทศไทยเข้าสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง