‘โลกร้อน’ ทำ ‘น้ำแข็งขั้วโลก’ ละลายเร็วกว่าเดิม ‘ระดับน้ำทะเล’ พุ่งสูง

‘โลกร้อน’ ทำ ‘น้ำแข็งขั้วโลก’ ละลายเร็วกว่าเดิม ‘ระดับน้ำทะเล’ พุ่งสูง

นักวิทยาศาสตร์ว่าน้ำอุ่นในมหาสมุทรไหลซึมผ่านใต้แผ่นน้ำแข็ง ทำให้เกิดน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

KEY

POINTS

  • น้ำทะเลอุ่นแทรกซึมอยู่ระหว่างแผ่นน้ำแข็งชายฝั่งและพื้นดินอยู่ ซึ่งน้ำอุ่นละลายช่องน้ำแข็ง ยิ่งทำให้น้ำไหลเข้าไปในน้ำแข็งได้มากขึ้น และเมื่อน้ำแข็งละลายสู่มหาสมุทร ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
  • การรุกล้ำของน้ำทะเล” ไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในแบบจำลองระดับน้ำทะเลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็น “จุดพลิกผัน” ช่วยอธิบายว่าทำไมแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์จึงหดตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ 
  • น้ำแข็งในแอนตาร์กติกาตะวันตกจะยังคงละลายตลอดทั้งศตวรรษนี้ ต่อให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงจนเหลือศูนย์ก็ตาม และการละลายนี้จะส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อระดับน้ำทะเล

ภาวะโลกร้อน” ทำให้ “น้ำแข็งขั้วโลก” ละลายอย่างรวดเร็วขึ้นไปทุกขณะ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “ระดับน้ำทะเล” ที่พุ่งสูงขึ้น และดูเหมือนว่าการประเมินการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะต่ำความเป็นจริงอยู่เรื่อยมา ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบปัจจัยใหม่ที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว และระดับน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

จากการศึกษาใหม่จากคณะสำรวจทวีปแอนตาร์ติกาของสหราชอาณาจักร หรือ BAS ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience พบว่า มีน้ำทะเลอุ่นแทรกซึมอยู่ระหว่างแผ่นน้ำแข็งชายฝั่งและพื้นดินอยู่ ซึ่งน้ำอุ่นละลายช่องน้ำแข็ง ยิ่งทำให้น้ำไหลเข้าไปในน้ำแข็งได้มากขึ้น และเมื่อน้ำแข็งละลายสู่มหาสมุทร ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

การศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ “เขตกราวดิง” (grounding zones) เป็นบริเวณที่น้ำแข็งจากพื้นดินมาบรรจบกับทะเล เมื่อเวลาผ่านไป น้ำแข็งบนบกจะเคลื่อนตัวลงสู่มหาสมุทรโดยรอบและละลายในที่สุด ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ชายฝั่งแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลอง เพื่อหาว่าน้ำทะเลสามารถซึมระหว่างพื้นดินกับแผ่นน้ำแข็งได้อย่างไร ส่งผลต่อการละลายน้ำแข็งเฉพาะจุดและเร่งให้ละลายเร็วขึ้นอย่างไร ซึ่งพบว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นจาก น้ำทะเลอุ่นเข้ามาละลายน้ำแข็งบริเวณกราวดิงจนเป็นโพรงใหญ่ และทำให้น้ำอุ่นไหลเข้ามาในแผ่นน้ำแข็ง ซึ่งจะเร่งให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น

ดังนั้นหากน้ำทะเลมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นแม้เพียงนิดเดียวก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตราการละลายของน้ำแข็ง ซึ่งจะเปลี่ยนจากระยะทางไม่กี่เมตรให้กลายเป็นหลาย 10 กิโลเมตร ได้ในระยะเวลาไม่นาน

อย่างไรก็ตาม “การรุกล้ำของน้ำทะเล” ไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในแบบจำลองระดับน้ำทะเลของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็น “จุดพลิกผัน” ช่วยอธิบายว่าทำไมแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์จึงหดตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ 

“แบบจำลองที่ใช้กันอยู่อาจไม่ได้รวมการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าไปด้วย การศึกษาของเราเป็นจุดพลิกผันใหม่ที่ทำให้เรารู้ว่าเหตุใดแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาถึงได้ละลายเร็ว หมายความว่าการประเมินระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมีนัยยะสำคัญ” ดร.อเล็กซานเดอร์ แบรดลีย์ จาก BAS ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยกล่าว

ดร.แบรดลีย์กล่าวเพิ่มเติมว่า แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องได้รับการอัปเดต เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอนาคตได้ดีขึ้น และเตรียมพร้อมมือกับสถานการณ์ได้ทัน

ทั้งนี้ การศึกษาระบุว่าเราจะยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบดังกล่าวในทันที แต่ระดับน้ำทะเลจะค่อย ๆ สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอีกหลายร้อยปี ซึ่งคุกคามชุมชนชายฝั่งทั่วโลก อีกทั้งการศึกษาไม่ได้ระบุว่าจุดพลิกผันจะมาถึงเมื่อไหร่ และไม่ได้ระบุว่าการรุกล้ำของน้ำทะเลจะทำให้ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเท่าใด แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละปีแอนตาร์กติกาจะสูญเสียน้ำแข็งปีละ 150,000 ล้านเมตริกตัน และหากน้ำแข็งทั้งหมดละลายจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 58 เมตร

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การรุกล้ำของน้ำทะเลอาจทำให้อัตราการละลายของแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่พบในปัจจุบันว่า น้ำทะเลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำแข็งละลายในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ ข้อมูลจากดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่าแผ่นน้ำแข็งในเขตกราวดิงมีความสูงลดลง

นักวิทยาศาสตร์เตือนมาโดยตลอดว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศกำลังผลักให้โลกไปสู่จุด “หายนะ” หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการพังทลายของแผ่นน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์ และการพังทลายของกระแสน้ำสำคัญในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งจะส่งผลกระทบความมั่นคงทางอาหารของผู้คนหลายพันล้านคน เนื่องจากปริมาณน้ำฝนลดน้อยลง

การวิจัยในปี 2023 พบว่า น้ำแข็งในแอนตาร์กติกาตะวันตกจะยังคงละลายตลอดทั้งศตวรรษนี้ ต่อให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงจนเหลือศูนย์ก็ตาม และการละลายนี้จะส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อระดับน้ำทะเล

สอดคล้องกับงานวิจัยนี้ พบว่าแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกบางแผ่นมีความเสี่ยงต่อการรุกล้ำของน้ำทะเลมากกว่าแผ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะ “ธารน้ำแข็งเกาะไพน์” ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นธารน้ำแข็งที่ทำให้ระดับน้ำทะเลในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้นมากที่สุด มีความเสี่ยงสูงเพราะในตอนนี้ฐานของธารน้ำแข็งมีลักษณะลาดชัด ทำให้น้ำทะเลทะลักเข้าไปได้ง่าย เช่นเดียวกับแผ่นน้ำแข็งลาร์เซน ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลถือเป็นผลกระทบระยะยาวที่อันตรายที่สุดจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้ในอีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า แผนที่โลกอาจไม่เหมือนเดิม เพราะน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจมหายไป ไม่ว่าจะเป็นมหานครนิวยอร์ก หรือแม้กระทั่งเซี่ยงไฮ้ และจะทำให้ผู้คนหลายพันล้านคนไม่มีที่อยู่อาศัย 

 

ที่มา: CNACNNPhysThe Guardian