‘Rain Bomb’ ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกับ ‘ลานีญา’

‘Rain Bomb’ ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกับ ‘ลานีญา’

ทำความรู้จัก “Rain Bomb” ปรากฏการณ์ฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ผลมาจากภาวะโลกร้อน

KEY

POINTS

  • กรมอุตุนิยมวิทยา เผยประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” เรียบร้อยแล้ว โดยจะลากยาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เกิดฝนตกหนักขึ้น อากาศหนาว และร้อนมากกว่าเดิม
  • สิ่งที่ตามมาจากลานีญา คือ “Rain Bomb” ปรากฏการณ์ฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ผลมาจากภาวะโลกร้อน
  • “Rain Bomb” กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้างครั้งแรกๆ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2022 แต่คำนี้ก็ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการ

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่าประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” เรียบร้อยแล้ว โดยจะลากยาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ส่งผลให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิจะลดต่ำลงกว่าปีที่แล้ว

กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทยเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2567- มกราคม 2568 โดยในเดือนกรกฎาคม,สิงหาคม และตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนมากกว่าปกติ ส่วนภาคใต้จะมีฝนมากกว่าค่าปกติเล็ก ยกเว้นช่วงเดือนสิงหาคม เพียงเดือนเดียว

สำหรับอุณหภูมิในครึ่งปีหลังประเทศไทย จะต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงสุด และต่ำสุดสูงกว่าค่าปกติ โดยช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคม คาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุด และอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่าค่าปกติระหว่าง 0.2-1.0 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วง 3 เดือนหลัง คาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุด และอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย

ในช่วงนี้จึงมีปรากฏการณ์อยู่ๆ ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมโดยฉับพลัน อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่ในภูเก็ตเองก็ตาม  ซึ่ง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า “Rain Bomb” ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

ดร.ธรณ์ได้ให้ความหมายของ Rain Bomb ไว้ว่าใช้เรียก ฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากเป็นศัพท์ใหม่ และยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการ จึงไม่มีการฟันธงว่านี่คือ ปรากฏการณ์ “ระเบิดฝน” หรือไม่ ? แต่ว่าง่ายๆ คือ เหมือนฟ้ารั่ว

เนื่องจากน้ำจากฟ้าจำนวนมากถล่มลงมาอย่างรุนแรงในช่วงอันสั้น การรับมือแบบดั้งเดิม เช่น ประกาศเตือนให้ประชาชนนำรถขึ้นที่สูง หรือทำกระสอบทรายป้องกันน้ำ อาจไม่เร็วเพียงพอที่จะช่วยรักษาชีวิต และทรัพย์สินได้ทันท่วงที จนบางคนเปรียบเทียบว่า เหมือนสึนามิจากฟ้า

“Rain Bomb” อาจแฝงมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในยุคโลกเดือด เพราะเมื่อมหาสมุทรร้อนจะทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ส่งผลให้อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เมื่อเมฆมีน้ำอยู่มากมายพร้อมทะลักทลายจากบนฟ้าในช่วงสั้นๆ หากตกลงบนเขาหรือในป่า อาจเกิดน้ำไหลหลากฉับพลันลงมา

ขณะเดียวกัน หากตกในเมือง ถนนหนทางก็จะกลายเป็นทางน้ำ รวมถึงโคลนถล่มตามมาในพื้นที่ไม่เคยเกิด เช่น หายนะที่ลิเบีย และถ้าตกลงในเมืองที่ราบแบบกรุงเทพฯ น้ำท่วมเร็วมาก น้ำเข้าบ้านโดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง น้ำท่วมรถติดบนถนน ทำทรัพย์สินเสียหาย

คำว่าบอมบ์หมายถึง เกิดฉับพลันแล้วหายไป น้ำท่วมแบบนี้จึงไม่นาน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การคาดการณ์ล่วงหน้าทำแทบไม่ได้ในระยะยาว ปกติก็เป็นการทำนายทั่วไปในพื้นที่กว้าง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน

 

 

สำหรับคำว่า “Rain Bomb” กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้างครั้งแรกๆ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2022 ปริมาณน้ำในแม่น้ำหลายสายสูงขึ้นกว่าระดับสูงสุด กลายเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในเมืองบริสเบน ที่เกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 6 วัน ทำให้มีระดับน้ำฝนเกือบเท่ากับปริมาณน้ำฝนเกือบทั้งปี 

เหตุการณ์นี้ทำให้ต้องมีการอพยพผู้คนออกจากเมือง ประกาศปิดโรงเรียน บ้านเรือน สะพาน และถนนในเมืองต่างๆ จมอยู่ใต้น้ำ ผู้คนทั่วเมืองไม่มีไฟฟ้าใช้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คน

ปี 2022 “ลานีญา” เข้ามามีบทบาทสำคัญ ถูกจารึกว่าเป็นปีลานีญาที่ “ร้อนที่สุด” ได้ผลักดันให้น้ำทะเลที่อุ่นกว่าเข้ามาทางตะวันออกของทวีปมากขึ้น ทำให้เกิดเมฆ และฝนเพิ่มมากขึ้น เมื่อรวมกับ “ภาวะโลกร้อน” ยิ่งทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน และก๊าซ ตลอดจนการตัดไม้ทำลายป่า เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชั้นบรรยากาศเต็มไปด้วย “ก๊าซเรือนกระจก” ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความร้อน อุณหภูมิโลกสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะนี้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และออสเตรเลียอุ่นขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ปี 1910

แม้จะทราบดีว่าบรรยากาศสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น 7% เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น แต่ฝนที่เกิดขึ้นอาจจะมากกว่า 7% เพราะเมื่อความชื้นควบแน่นเป็นหยาดฝน พลังงานจะถูกปล่อยออกมาในรูปของความร้อน ทำให้เกิดวงจรย้อนกลับในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นน้ำฝนที่อาจจะมากขึ้นได้ถึง 14%


ที่มา: mintThe Guardian

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์