ภาคการเงิน ใส่ใจความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม | พรเพ็ญ สดศรีชัย
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ “ภาวะโลกรวน” หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ถูกพบเห็นบ่อยครั้งในระยะหลัง และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เดือนที่แล้ว (ก.ค.67) ทำลายสถิติร้อนที่สุดในโลก โดยหลายพื้นที่มีอุณหภูมิทะลุ 50 องศาเซลเซียส และสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เร่งจัดการภาวะโลกร้อน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและแรงงาน
รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO สะท้อนว่า แรงงานราว 70% มีความเสี่ยงสูงทางสุขภาพจากความร้อนสูง อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานลดลง 50% ในวันที่อุณหภูมิเกิน 34 องศาเซลเซียส
ทั่วโลกได้เร่งปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สภาวะที่โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสมดุลกับก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ หรือสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission)
โดยบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษและฝรั่งเศส ต่างกำหนดเป้าหมาย Net zero ในปี 2050 ส่วนไทยตั้งเป้าหมายในปี 2065
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ได้กล่าวในงานสัมมนาเมื่อเดือน มิ.ย. สะท้อนความท้าทายของธุรกิจไทย ที่ว่า
1.แม้ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน top 20 ของโลก แต่เราติดอันดับ top 10 ที่รับผลกระทบจาก climate change รุนแรงที่สุด โดยเจออากาศร้อนยาวนานขึ้น และจะเผชิญภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้งขึ้น
2.ธุรกิจไทยต้องเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการค้าในต่างประเทศ ที่เข้มงวดกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่ และ SMEs ใน supply chain โดยในบางอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ supply chain สูงกว่าตัวบริษัทเองกว่า 11 เท่า
3.อุตสาหกรรมไทยกว่า 30% ของ GDP ยังอยู่ในกลุ่มสีน้ำตาลและเป็นเทคโนโลยีโลกเก่า พึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและน้ำมันในสัดส่วนที่สูง ซึ่งหากปรับตัวไม่ทันก็เสี่ยงที่จะเสียโอกาสทางธุรกิจ
สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนกลุ่มสีน้ำตาลให้เริ่มปรับตัว โดยเปลี่ยนไป “less brown” มากขึ้นเรื่อยๆ จน “green” ได้ในวันข้างหน้า ที่เทคโนโลยีมีความพร้อมในต้นทุนที่เหมาะสม
รอง รณดลฯ ยังได้เล่าถึงตัวอย่างของหลายธุรกิจที่เริ่มปรับตัวแล้วและเห็นผลสำเร็จ เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ต้นทุนค่าไฟสูงถึง 6-8% ของรายได้ โดยจากการสำรวจธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัว เช่น หันมาใช้หลอดไฟ LED ติด solar rooftop หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟ สามารถลดต้นทุนค่าไฟเกือบ 30% และยังช่วยเพิ่มจุดขายให้แก่โรงแรมอีกด้วย
ภาคการเงินมีบทบาทในการสนับสนุนเงินทุน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันการณ์ โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่ให้สินเชื่อสีเขียว (green loan) และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเกือบ 2 แสนล้านบาท หรือ 1.4% ของยอดคงค้างสินเชื่อรวม
ภาคธุรกิจไทยมีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) ประมาณ 882 พันล้านบาท หรือ 5% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ไทย ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับความจำเป็น และยังเน้นสนับสนุนกลุ่มสีเขียว
แบงก์ชาติจึงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ที่สนใจ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (financing product for transition to environmental sustainability) สำหรับกลุ่มลูกค้าที่จะสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านจาก “red” หรือ “brown” ให้เป็น “less brown”หรือ “greener” ควบคู่กับการให้ความรู้ที่จำเป็น เช่น การประเมินคาร์บอตฟุตฟริ้นท์ คาดว่าธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ จะประกาศรายละเอียดได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
แบงก์ชาติยังได้วางรากฐานสำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยปีที่แล้วร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเงินและภาคเอกชน จัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ Thailand Taxonomy
เริ่มจากภาคพลังงานและขนส่งแล้ว และอยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำ Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติม คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และภาคการจัดการของเสีย คาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชนในช่วงปลายปีนี้
ประโยชน์ของ Thailand Taxonomy ดังนี้
1.ภาคการเงิน สามารถสนับสนุนเงินทุนได้ตรงจุด เพราะมีการกำหนดนิยามความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เข้าใจตรงกัน ทำให้ประเมินสถานะลูกค้า สถานะพอร์ตของธนาคารเอง เพื่อช่วยวางกลยุทธ์การให้สินเชื่อ
2.เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของกิจกรรมเปลี่ยนผ่าน (transition) เพราะมีการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเหลือง (amber) สะท้อนการให้ความสำคัญกับบริบทของไทยที่ยังมีกลุ่มสีน้ำตาลอยู่มาก ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถปรับตัวเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
3.ลดปัญหาการกล่าวอ้างเกินจริง หรือ greenwashing รวมถึงการมี taxonomy ที่ได้มาตรฐานสากล ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมในไทยมากขึ้น
ท้ายที่สุด รณดลฯ ยังกล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จ “3 C Solutions” ได้แก่
C1: Clear direction คือ มีทิศทางที่ชัดเจนในระดับประเทศและระดับองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันด้านสิ่งแวดล้อม โดยไทยกำลังจะมี พ.ร.บ.Climate Change ที่คาดว่าจะบังคับใช้ปีนี้
C2: Cooperation คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน ต้องร่วมมือและประสานงานกัน
C3: Customization คือ การคำนึงถึงบริบทและความพร้อมที่ต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจ
สิ่งสำคัญคือ ต้องมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย และให้ความสำคัญกับการกระตุ้นความตระหนักรู้ และให้ความรู้ เช่น การประเมินคาร์บอนฟุตปรินต์ รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่สามารถช่วยเหลือ SMEs ในซัพพลายเชนในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแบงก์ชาติที่สนับสนุนภาคการเงินในการร่วมสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมกันค่ะ
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด