ธปท. เปิด Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 สอดรับกติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน
ธปท. เปิดมาตรฐานใหม่ Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน หวังทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแนวทางความยั่งยืน ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หนุนสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวใน งานสัมมนา Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืนว่า Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืนในวันนี้ และแสดงให้เห็นว่าภาคส่วนต่าง ๆ ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
และความสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนดังเช่นที่ท่านรองปลัดเถลิงศักดิ์ได้กล่าวไว้ การจัดงานในวันนี้นับได้ว่าเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญที่จะได้เผยแพร่มาตรฐานThailand Taxonomy ระยะที่ 1 แสดงถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการร่วมพัฒนาเครื่องมือที่จะเป็นกติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งตัวและส่งผลกระทบรุนแรง ต้องยอมรับครับว่าการปรับตัวสู้ความท้าทายนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประเทศไทย โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนสำคัญยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล หรือ คิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และวางแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ
ทุกภาคส่วนในไทยจึงต้องเตรียมการและปรับตัวไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ และไม่สะดุด
ภาคการเงินในฐานะตัวกลางจัดสรรเงินทุนจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการปรับตัวโดยคำนึงถึง “timing” และ “speed” ไม่ให้ช้าเกินไปจนความเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหาย และไม่เร็วเกินไปจนตัดขาดธุรกิจที่ยังไม่พร้อม
การที่ภาคการเงินจะสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุด จำเป็นต้องทราบก่อนว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กร หรือ ธุรกิจ มีสถานะการดำเนินการอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระดับใด จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มสีเขียวหรือไม่ ถ้าไม่ เราอยู่ห่างจากความ “เขียว” แค่ไหนจะได้เตรียมการและดำเนินการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ สถาบันการเงินต้องสามารถประเมินสถานะของพอร์ตตนเองได้ว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
การกำหนดนิยามความเขียวของแต่ละคนปัจจุบันมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Taxonomy
แม้ว่าในหลายประเทศจะมีการกำหนดนิยามความเขียวขึ้นมาแล้ว แต่บริบทของไทยก็ไม่ได้เหมือนกับต่างประเทศ
ดังนั้น ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มี Thailand Taxonomy ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับหลักสากล
โดยในระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง climate change mitigation ก่อน และครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้แก่ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง และเราจะทยอยทำในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ในระยะต่อไป
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคส่วนต่างๆ จะนำ Thailand taxonomy มาใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการกำหนดนโยบายหรือกลยุทธ์การสร้างโอกาสในการหาแหล่งเงินทุน ตลอดจนการบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม
สำหรับภาคการเงิน ธปท. คาดหวังว่าสถาบันการเงินจะนำ Thailand Taxonomy ไปใช้เป็นจุดยึดโยงเพื่อประเมินสถานะของตนเองและลูกค้า (1) เพื่อให้ทราบว่าสถานะพอร์ตในภาพรวมของสถาบันการเงินมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมแค่ไหน จะได้บริหารจัดการความเสี่ยงได้
และ (2) เพื่อให้ทราบว่าลูกค้าของสถาบันการเงินจัดอยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งการที่สถาบันการเงินทราบสถานะของทั้งตนเองและลูกค้านั้นจะทำให้สถาบันการเงินสามารถเริ่มต้นตั้งเป้า ปรับกลยุทธ์และการดำเนินงานภายใน วางแผนปรับตัว ออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียวมากขึ้นได้อย่างราบรื่นและทันการณ์