ทะเลเดือดที่สุดในรอบ 400 ปี โลกร้อนคุกคาม 'ปะการัง' อาจสูญพันธุ์เร็วๆ นี้

ทะเลเดือดที่สุดในรอบ 400 ปี โลกร้อนคุกคาม 'ปะการัง' อาจสูญพันธุ์เร็วๆ นี้

โลกเผชิญกับภัยคุกคามจากอุณหภูมิมหาสมุทรที่ร้อนที่สุดในรอบ 400 ปี “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” (Great Barrier Reef) แนวปะการังระบบนิเวศที่มีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาจไปไม่รอด หากหยุดยั้ง “ภาวะโลกร้อน” ไม่ได้

KEY

POINTS

  • นับตั้งแต่ทศวรรษ 1900 เป็นต้นมา อุณหภูมิในทิวทัศน์รอบ ๆ เกรตแบร์ริเออร์รีฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ปี 2024 ปีที่ร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 407 ปี
  • ตอนนี้มีความร้อนเกิดขึ้นอยู่บนผิวน้ำทะเลรอบ ๆ แนวปะการัง เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” (Coral Bleaching) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และปะการังส่วนใหญ่กำลังตกอยู่ในอันตราย
  • สำหรับปะการังแล้ว อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ก็เพียงพอที่จะทำลายแนวปะการังได้ถึง 99%

ปัจจุบันอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทร “ร้อนที่สุด” ในรอบ 400 ปี นักวิทยาศาสตร์เตือน “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” (Great Barrier Reef) แนวปะการังและระบบนิเวศที่มีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับภัยคุกคาม และอาจจะล่มสลายในอีกไม่นาน หาก “ภาวะโลกร้อน” ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่า ในปีนี้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลโดยรอบแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ที่มีความยาว 2,400 ตารางกิโลเมตร ในออสเตรเลีย  พุ่งแตะระดับที่ร้อนที่สุดในรอบกว่า 400 ปี

“แนวปะการังกำลังตกอยู่ในอันตราย และหากเรายังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราอาจจะได้เห็นการล่มสลายของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของโลก” เบนจามิน เฮนลีย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ผู้เขียนรายงานวิจัยกล่าว

เฮนรีย์กล่าวต่ออีกว่า “โลกกำลังสูญเสียสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของโลกไป ยากที่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา” นายเฮนลีย์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นและเพื่อนกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยวูลลองกองกล่าว

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1900 เป็นต้นมา อุณหภูมิในทิวทัศน์รอบ ๆ เกรตแบร์ริเออร์รีฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตราย ตั้งแต่ช่วงปี 1960-2024 ผู้เขียนการศึกษาวิจัยสังเกตเห็นอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ร้อนขึ้นทุกปี โดยร้อนขึ้นเฉลี่ยที่ 0.12 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ

การศึกษาระบุว่า มีความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอยู่บนผิวน้ำทะเลรอบ ๆ แนวปะการัง เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” (Coral Bleaching) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และปะการังส่วนใหญ่กำลังตกอยู่ในอันตราย

ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา เกรตแบร์ริเออร์รีฟเผชิญกับการฟอกขาวครั้งใหญ่ในฤดูร้อนมาแล้ว 5 ครั้ง เมื่ออุณหภูมิสูงมากขึ้น เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงกว่าปรกติ เนื่องจากสูญเสีย “ซูแซนเทลลี” สาหร่ายสังเคราะห์แสงที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง

เฮเลน แมคเกรเกอร์ ผู้เขียนร่วมกล่าวว่า เธอกังวลอย่างยิ่ง เกี่ยวกับแนวปะการัง โดยอธิบายว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “ปะการังเหล่านี้มีอายุ 400 ปี และในตอนนี้พวกมันกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่อบอุ่นที่สุด” เธอบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟกำลังถูกผลักเข้าใกล้จุดเปลี่ยนซึ่งไม่อาจฟื้นตัวได้ และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เพื่อวิเคราะห์บันทึกอุณหภูมิในอดีต กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการใช้ข้อมูลจากเรือและดาวเทียม รวมถึงเจาะเข้าไปในปะการังในการวิเคราะห์ตัวอย่าง เป็นวิธีที่คล้ายกับการนับวงแหวนต้นไม้ เพื่อวัดอุณหภูมิมหาสมุทรในฤดูร้อน โดยสามารถนับย้อนหลังไปถึงปี 1618 ซึ่งพบว่า ปี 2024 ปีที่ร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 407 ปี และร้อนกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนปี 1900 ถึง 1.73 องศาเซลเซียส

โลกมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-3 องศาภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ติดต่อกันมาเกิน 12 เดือนแล้ว และยังร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

ทะเลเดือดที่สุดในรอบ 400 ปี โลกร้อนคุกคาม \'ปะการัง\' อาจสูญพันธุ์เร็วๆ นี้

หน่วยงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น และในตอนนี้มีปะการังอย่างน้อยใน 54 ประเทศและดินแดนประสบปัญหาปะการังฟอกขาวจำนวนมาก นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 เป็นต้นมา

ตามข้อตกลงปารีส โลกกำลังพยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หรือสูงสุดได้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส แต่สำหรับปะการังแล้ว อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ก็เพียงพอที่จะทำลายแนวปะการังได้ถึง 99%

แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ เป็นที่อยู่ของชีวิตธรรมชาติที่หลากหลาย โดยมีปะการัง 600 ชนิด และปลา 1,625 สายพันธุ์ ทำหน้าที่ช่วยปกป้องแนวชายฝั่งจากการกัดเซาะ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของออสเตรเลีย สร้างรายได้ให้แก่ออสเตรเลียประมาณปีละ 4,200 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

สหประชาชาติได้แนะนำให้เพิ่มแนวปะการังเข้าไปในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่มีความเสี่ยง แต่ออสเตรเลียปฏิเสธ เนื่องจากกังวลว่าอาจสร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวของแนวปะการังได้


ที่มา: AljazeeraIndependentReutersThe Guardian