เด็กหญิงกังวลปัญหา ‘โลกร้อน’ มากกว่าเด็กชาย ควรปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียน

เด็กหญิงกังวลปัญหา ‘โลกร้อน’ มากกว่าเด็กชาย ควรปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียน

เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มากกว่าเด็กผู้ชาย นักวิจัยแนะนำให้สอนเรื่องปัญหาสภาพอากาศไในโรงเรียนให้มากขึ้น

KEY

POINTS

  • เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มากกว่าเด็กผู้ชาย โดยเด็กหญิงมีความกังวลมากที่ 44% ส่วนเด็กชายมี 27%
  • วิธีหนึ่งที่นักวิจัยคิดว่าสามารถช่วยจัดการกับความวิตกกังวลของนักเรียนที่มีต่อปัญหาสภาพอากาศได้ก็คือ การสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนให้มากขึ้น
  • รายงานยังระบุอีกว่า นักเรียนยังมองไม่ออกว่าการเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความยั่งยืนจะช่วยให้หางานได้อย่างไร 

เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มากกว่าเด็กผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลมากกว่าด้วยเช่นกัน ตามรายงานวิจัยใหม่ ซึ่งนำโดยทีมจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ที่ทำการสำรวจการรับรู้และประสบการณ์ของนักเรียนในอังกฤษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

การสำรวจนักเรียนอายุ 11-4 ปี จำนวน 2,429 คน พบว่านักเรียน 36% กล่าวว่าพวกเขากังวลมาก หรือตลอดเวลา เกี่ยวกับโลกในอนาคต ยังมีนักเรียนอีก 50% ที่มีความกังวลเล็กน้อย และเมื่อถามว่าพวกเขาคิดว่าผู้ใหญ่ดูแลสิ่งแวดล้อมเพียงพอหรือไม่ นักเรียนถึง 53% กล่าวว่าประเด็นนี้ทำให้พวกเขาวิตกกังวล

เมื่อแยกดูตามเพศ พบว่า เด็กผู้หญิงมีความกังวลในระดับที่สูงกว่าเด็กผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด โดยเด็กหญิงมีความกังวลมากที่ 44% ส่วนเด็กชายมี 27% นอกจากนี้ เด็กที่มาจากกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่ามีแนวโน้มที่จะเห็นคุณค่าหรือสนุกกับการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยกว่า กลุ่มเด็กนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าอีกด้วย

ศ.นิโคลา วอลช์ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนแห่ง UCL กล่าวว่า ในปัจจุบันเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองและความปรารถนาของนักเรียนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนน้อยมาก และศ.วอลช์หวังว่าผลการวิจัยนี้ จะสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญ เพื่อใช้สนับสนุนโรงเรียนและครูได้ดีขึ้น

เพิ่มการสอนเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศในโรงเรียน

วิธีหนึ่งที่นักวิจัยคิดว่าสามารถช่วยจัดการกับความวิตกกังวลของนักเรียนที่มีต่อปัญหาสภาพอากาศได้ก็คือ การสอนวิชานี้ให้มากขึ้น นักเรียนประมาณ 75% แสดงความต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความยั่งยืนในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการใช้เวลาอยู่นอกห้องเรียนเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติมากขึ้น

เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมแตกต่างกัน โดย 75% ของเด็กผู้หญิงต้องการเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างไร ส่วนเด็กผู้ชายอยู่ที่ 60%

“เราทราบดีว่าเด็กผู้หญิงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศมากกว่า ดังนั้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้ครอบคลุมด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่น สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อาจช่วยลดความกังวลของเยาวชนได้” วอลช์กล่าวเพิ่มเติม

รายงานยังระบุอีกว่า นักเรียนยังมองไม่ออกว่าการเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความยั่งยืนจะช่วยให้หางานได้อย่างไร โดยมีเพียง 31% เท่านั้นที่รู้สึกว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความยั่งยืนอาจนำไปสู่โอกาสในการทำงานในอนาคตได้

มีนักเรียนเพียง 17% เท่านั้น ที่ปรารถนาจะประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะที่ 14% ของนักเรียนด้อยโอกาสมองว่าตนกำลังเดินตามเส้นทางอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปรับปรุงการศึกษาเกี่ยวกับสภาพอากาศ

นักวิจัยยังได้ตรวจสอบการศึกษาด้านความยั่งยืนทั้งในและนอกหลักสูตรของโรงเรียน พร้อมเสนอคำแนะนำสำคัญ 5 ประการสำหรับผู้กำหนดนโยบาย โรงเรียน และครู โดยเรียกร้องให้โรงเรียนแนะนำอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการมีส่วนร่วมและการลงมือปฏิบัติของนักเรียนภายในโรงเรียน รวมถึงเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้กับธรรมชาตินอกห้องเรียน 

ผู้เขียนผลการศึกษายังแนะนำให้สอดแทรกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการศึกษาด้านความยั่งยืนไว้ในวิชาต่าง ๆ ของโรงเรียน รวมถึงวิธีการรับมือต่อความวิตกกังวล ความสิ้นหวัง และความโกรธของนักเรียนที่ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดการอารมณ์เหล่านี้ได้อย่างถูกวิธี

ผลการสำรวจนี้จะเป็นฐานข้อมูลอันล้ำค่าที่นักการศึกษาและผู้กำหนดนโยบายสามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังจะนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับโครงการพัฒนาวิชาชีพครูของศูนย์ ซึ่งมีชื่อว่า การสอนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Teaching for Sustainable Futures) อีกด้วย


ที่มา: Euro NewsPhysUCL