พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘สมอง’ ส่งผลให้เป็นอัลไซเมอร์-สมองเสื่อม
งานวิจัยล่าสุดพบ “ไมโครพลาสติก” สะสมอยู่ใน “สมอง” นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนมากขึ้นเพื่อควบคุมมลพิษจากพลาสติก
KEY
POINTS
- วิจัยพบ สมองมีพลาสติกปนอยู่ประมาณ 0.5% ของน้ำหนักสมอง ทำให้สมองเป็นหนึ่งในอวัยวะที่พบไมโครพลาสติกมากที่สุด
- สมองของคนที่เสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มีพลาสติกมากกว่าสมองของคนทั่วไปถึง 10 เท่า ซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงที่น่ากังวลระหว่างโรคทางสมองและปริมาณพลาสติก
- แม้สมองจะมี “ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง” หรือ BBB คอยคัดกรองไม่ให้สารต่าง ๆ ผ่านเข้าไปทำอันตรายต่อสมอง แต่ไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็ยังสามารถเข้าสู่สมองได้
ช่วงปีที่ผ่านมา มีงานการศึกษาตรวจพบเศษพลาสติกเล็ก ๆ หรือ “ไมโครพลาสติก” ในหลายส่วนของร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ปอด รก อวัยวะสืบพันธุ์ ตับ ไต หลอดเลือด และไขกระดูก ล่าสุดนักวิจัยพบว่า “สมอง” ของพวกเราก็มีไมโครพลาสติกสะสมอยู่เช่นกัน
มนุษย์ต้องเผชิญกับไมโครพลาสติก ชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มม. และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทุกที่ทั่วโลกทั้งในอากาศ น้ำ ดิน และแม้กระทั่งอาหาร
จากงานวิจัยของ แมทธิว แคมเปน นักพิษวิทยาและศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก พบว่ามีพลาสติกอยู่ในสมองจาก 24 ตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างในต้นปี 2567 โดยเฉลี่ยแล้วสมองมีพลาสติกปนอยู่ประมาณ 0.5% ของน้ำหนักสมอง อีกทั้งไมโครพลาสติกในสมองยังมีมากกว่าในตัวอย่างตับและไตที่เก็บจากร่างกายเดียวกันถึง 10-20 เท่า
การศึกษาของแคมเปนยังพบว่า ตัวอย่างสมองที่ตัดเก็บในปี 2567 มีปริมาณไมโครพลาสติกสูงขึ้นประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปริมาณรวมในกลุ่มตัวอย่างในปี 2559 ซึ่งบ่งชี้ว่าความเข้มข้นของไมโครพลาสติกที่พบในสมองของมนุษย์เพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับที่พบในสิ่งแวดล้อม
ทีมวิจัยพบว่า สมองของคนที่เสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อม รวมถึงโรคอัลไซเมอร์มีพลาสติกมากกว่าสมองของคนทั่วไปถึง 10 เท่า ซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงที่น่ากังวลระหว่างโรคทางสมองและปริมาณพลาสติก
สำหรับสมองที่นำมาทดลองได้มาจากสำนักงานนักวิจัยทางการแพทย์ในเมืองอัลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก โดยเป็นสมองของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือได้รับความรุนแรง
“มันค่อนข้างน่าตกใจ สมองมีพลาสติกมากกว่าที่ผมจินตนาการเอาไว้ หรือจะรู้สึกสบายใจได้ ทำให้เห็นว่าสมองมีพลาสติกมากที่สุดอวัยวะหนึ่งที่เคยทำการศึกษามา ตอนนี้ยังผมไม่รู้ว่าต้องมีพลาสติกปริมาณเท่าไหร่ถึงจะจะทำลายสมอง”
-แคมเปนกล่าว
แม้ในตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าไมโครพลาสติกที่สะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร แต่ในการศึกษาของแคมเปญดูชี้ให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสภาวะต่าง ๆ ได้ เช่น ความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันอาจทำให้เซลล์อักเสบหรือเสียหายได้ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ขณะที่ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ไมโครพลาสติกเชื่อมโยงกับการเกิดปัญหาการเจริญพันธุ์ มะเร็งหลายชนิด รวมถึงมีส่วนทำให้ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบภูมิคุ้มกัน การเรียนรู้และความจำบกพร่องอีกด้วย
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกยังไม่มีมาตรฐานสำหรับการกำหนดควบคุมปริมาณอนุภาคพลาสติกในอาหารหรือน้ำ แต่ประเทศต่าง ๆ กำลังหาทางตรวจจับและวัดปริมาณของไมโครพลาสติกให้รวดเร็วและเห็นผลยิ่งขึ้น
เบธานี คาร์นีย์ แอลมรอธ นักพิษวิทยาทางนิเวศน์จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก กล่าวว่า “การค้นพบไมโครพลาสติกในอวัยวะของมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก เรารู้ว่าพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพในสัตว์อย่างไร ฉันคิดว่ามันน่ากลัวมาก”
“คุณสามารถเชื่อมโยงมันได้ เมื่อเวลาผ่านไปจำนวรพลาสติกในสมองก็ยิ่งมากขึ้น พอ ๆ กับพลาสติกในสิ่งแวดล้อม” แคมเปนกล่าว
การศึกษาจำนวนมากพบไมโครพลาสติกในสมองของสัตว์หลายสายพันธุ์ จึงมีโอกาสที่ไมโครพลาสติกจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ด้วย แต่ที่น่าแปลกใจคือ แม้สมองจะมี “ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง” หรือ BBB (Blood-brain barrier) ทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้สารต่าง ๆ ผ่านเข้าไปทำอันตรายต่อสมอง แต่ไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็ยังสามารถเข้าสู่สมองของเราได้
เซดัต กุนโดก์ดู ผู้ศึกษาไมโครพลาสติกที่มหาวิทยาลัยคูคูโรวา ในตุรกี กล่าวว่า “ปัญหาขยะพลาสติกจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลก เพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติก”
ในตอนนี้ไม่มีที่ใดที่ไม่มีพลาสติกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลอย่างขั้วโลก ใต้ทะเลลึก บนก้อนเมฆ หรือแม้แต่ในสมองของเราเองก็มีพลาสติกด้วยเช่นกัน
ที่มา: Futurism, The Guardian, VICE