ผู้หญิงแอฟริกาถูกบังคับแต่งงานแลกอาหาร หลัง ‘เอลนีโญ’ ทำแล้งสุดรอบ 100 ปี
รายงานเผย ครอบครัวในทวีป “แอฟริกา” ให้ “ลูกสาว” แต่งงาน เพื่อแลกกับอาหาร เป็นผลมาจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” รุนแรงทำให้เผชิญกับภัยแล้งขั้นรุนแรง
KEY
POINTS
- “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ส่งผลให้ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้เผชิญกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี
- หลายครอบครัวไม่สามารถรับมือได้และจำเป็นต้องหาวิธีเพื่อเอาตัวรอดจากภาวะความอดอยาก หนึ่งในนั้นคือ บังคับให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย
- เมื่อเด็กผู้หญิงเหล่านี้แต่งงานออกไปแล้ว พวกเธอถูกบังคับให้ออกจากระบบการศึกษา ต้องพึ่งพาสามี ทั้งด้านอาหารและความต้องการขั้นพื้นฐานทั้งหมด และอาจเจอความรุนแรงทางเพศ
“ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ยังคงส่งผลให้ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้เผชิญกับภัยแล้งขั้นรุนแรง โดยผลผลิตทางเกษตรในปี 2023-2024 ลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้คนประมาณ 56.8 ล้านคน ต้องดิ้นรนหาอาหาร
รายงานของ ActionAid องค์กรทำงานต่อต้านความยากจนและความอยุติธรรมทั่วโลก พบว่า หลายครอบครัวบังคับ “ลูกสาว” แต่งงานเพื่อแลกกับอาหาร
“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้หญิง จากผลกระทบของภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากเอลนีโญ ในแอฟริกา” องค์กรการกุศลกล่าวในแถลงการณ์ ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ การพัฒนาแห่งแอฟริกาตอนใต้ (SADC)
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ระบุว่า ภัยแล้งในครั้งนี้นับเป็นภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 100 ปี ของภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ หายนะนี้ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2024 เนื่องจากฝนตกน้อยจนทำให้พืชผลเสียหาย
เอเลียส มาโกซี เลขาธิการ SADC กล่าวว่าขณะนี้ประชาชนประมาณ 68 ล้านคน หรือ 17% ของประชากรในภูมิภาค ต้องการความช่วยเหลือจากความอดอยาก ความไม่มั่นคงทางอาหาร ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องเจอความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น จากความรุนแรง การแสวงหาผลประโยชน์ และการกีดกันทางสังคม
“เงินเก็บทั้งหมดของฉันถูกใช้เพื่อซื้ออาหาร บางครั้งเรานอนหิวเพราะขาดอาหาร บ่อน้ำจำนวนมากแห้งเหือดไปหมดแล้ว เราต้องเดินหาน้ำไกลมากกว่าเดิม” โจน หญิงวัย 29 ปีจากแซมเบียกล่าว
แต่งงานเพื่อหาอาหาร
ภัยแล้งได้ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนเกษตรกรรมหลายแห่ง หลายครอบครัวไม่สามารถรับมือได้และจำเป็นต้องหาวิธีเพื่อเอาตัวรอดจากภาวะความอดอยาก หนึ่งในนั้นคือ บังคับให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย
“ภัยแล้งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้หญิงและเด็กหญิง พวกเธอถูกบังคับให้แต่งงานเพื่อหาแหล่งอาหารที่มั่นคง”
เอมิลี เด็กหญิงอายุ 19 ปีจากหมู่บ้านสยามลูวา ในประเทศแซมเบียกล่าว
เมื่อเด็กผู้หญิงเหล่านี้แต่งงานออกไปแล้ว พวกเธอจะต้องทำหน้าที่คอยดูแลบ้าน ถูกบังคับให้ออกจากระบบการศึกษา ถูกพรากความฝันออกไป โดยพวกเธอมักจะต้องพึ่งพาสามี ทั้งด้านอาหารและความต้องการขั้นพื้นฐานทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศด้วย อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงบริการและการสนับสนุนจากภาครัฐได้
“พวกเราไม่สามารถแก้ภัยแล้งได้ด้วยตัวเอง และเราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ผู้หญิงจะอยู่รอดได้อย่างไร” เนียราดโซ หญิงสาววัย 24 ปีจากซิมบับเว กล่าว
ActionAid เรียกร้องให้ผู้นำ SADC ดูแล ปฏิบัติตาม ติดตาม และรายงานเกี่ยวกับหลักการและข้อกำหนดด้านความเท่าเทียมทางเพศที่ ตลอดจนหลักการและบทบัญญัติในการเสริมสร้างศักยภาพของสตรี เพื่อรับประกันการปกป้องหญิงสาวและเด็กผู้หญิงจากวิกฤติต่าง ๆ เช่น ภัยแล้ง ให้รอบด้าน ทั้งจากการย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่น ความรุนแรงบนพื้นฐานเพศสภาพ สุขภาพและโภชนาการ และการหยุดชะงักทางการศึกษาในช่วงวิกฤติ
“สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงและเด็กหญิง เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลจะได้ช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังต้องให้ความสำคัญในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงให้มากขึ้น” จอย มาเบนเก ผู้อำนวยการของ ActionAid ประจำซิมบับเวกล่าว