จุดฟืนทำอาหาร ทำคนตายปีละ 3.7 ล้าน จากควัน และมลพิษ
ควัน และมลพิษอันตรายจากการใช้ฟืนก่อไฟทำอาหาร ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 3.7 ล้านคนต่อปี โดยเด็ก และผู้หญิงในทวีปแอฟริกาเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด
KEY
POINTS
- จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA พบว่า ปัจจุบันผู้คนกว่า 2,300 ล้านคนใน 128 ประเทศทั่วโลก หายใจเอาควันที่เป็นอันตรายจากการปรุงอาหารบนเตาแบบเปิด หรือก่อไฟทำอาหาร
- การทำอาหารด้วยการก่อไฟส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 3.7 ล้านคนทุกปี เป็นสาเหตุอันดับ 3 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของโลก โดย 60% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในแอฟริกา รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหอบหืดในเด็ก
- ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงสูญเสียไปในการหาไม้และฟืนเพื่อมาทำอาหารอยู่ที่ประมาณ 800,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ผู้แทนจาก 50 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านพลังงาน ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา
ประเด็นหลักที่จะหารือกันในการประชุมครั้งนี้คือ หาวิธีที่จะช่วยให้ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปรุงอาหารที่ทำให้เกิดมลพิษร้ายแรง และกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อน จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตปีละ 3.7 ล้านคน
พร้อมตั้งเป้าระดมเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นทุนสำหรับการสร้างครัว และให้ความรู้ประชาชนรู้จักวิธีการปรุงอาหารที่สะอาด และได้คุณภาพ
ควัน และมลพิษจากการทำอาหารคร่าชีวิตคนกว่า 3.7 ล้านคน
จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA โต้โผหลักในการประชุมดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันผู้คนกว่า 2,300 ล้านคนใน 128 ประเทศทั่วโลก หายใจเอาควันที่เป็นอันตรายจากการปรุงอาหารบนเตาแบบเปิด หรือก่อไฟทำอาหาร
ในรายงานล่าสุดที่ IEA จัดทำร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา หรือ ADB กล่าวว่า การทำอาหารด้วยการก่อไฟส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 3.7 ล้านคนทุกปี โดยเด็ก และผู้หญิงในทวีปแอฟริกาเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด
“ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งสุขภาพ เพศ พลังงาน ป่าไม้ พลังงาน สุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ลอรา คอสซี ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและเทคโนโลยีของ IEA กล่าว
หนึ่งในสามของประชากรโลกปรุงอาหารด้วยเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดควันอันตรายเมื่อเผา ไม่ว่าจะเป็นไม้ ถ่าน ถ่านหิน มูลสัตว์ และขยะทางการเกษตร ซึ่งมลพิษที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กละเอียดสามารถทะลุเข้าไปในปอด ทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือด และหัวใจหลายชนิด รวมถึงมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง
ควันพิษจากการทำอาหารเป็นสาเหตุอันดับ 3 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของโลก โดย 60% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในแอฟริกา ทำให้การสูดดมควัน และมลพิษทางอากาศภายในอาคารกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนในแอฟริกา รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหอบหืดในเด็ก
ตามข้อมูลของ IEA พบว่า การเปลี่ยนมาใช้วิธีปรุงอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น การปรุงอาหารด้วยแก๊สหรือไฟฟ้า จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,500 ล้านตันต่อปี ซึ่งเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเรือ และเครื่องบินในปีที่แล้ว แต่การจะเปลี่ยนให้คนทั้งโลกหันมาทำครัวด้วยเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊ส อาจมีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์
ระดมทุนช่วยให้ “แอฟริกา” เข้าถึงการปรุงอาหารที่ไม่ก่อมลพิษ
ขณะนี้ ADB กำลังระดมทุนจำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ชาวแอฟริกัน 250 ล้านคน สามารถเข้าถึงการปรุงอาหารที่สะอาดปลอดภัย ภายในปี 2573 ทั้งนี้ ADB ระบุในแถลงการณ์ที่ออกก่อนการประชุมสุดยอดในปารีสว่า เม็ดเงินที่ ADB ต้องการถือเป็นเพียง “เศษเสี้ยวเล็กๆ” ของเงินลงทุนด้านพลังงานทั่วโลกมูลค่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี แต่ด้วยจำนวนเงินเพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยชีวิตคนได้จำนวนมากในระยะยาว
มาตรการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการทำอาหารที่ไม่ปล่อยมลพิษเคยถูกนำมาใช้ในจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ด้วยการแจกเตาแก๊สฟรี และสนับสนุนค่าก๊าซหุงต้ม ส่งผลให้จำนวนของคนที่ใช้ฟืนทำอาหารลดลงอย่างมาก ระหว่างปี 2553-2565 แต่ในแอฟริกายังไม่เคยทำนโยบายเหล่านี้มาก่อน
ครัวเรือนราว 80% ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกายังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารที่มีมลพิษสูง และสถานการณ์ก็เลวร้ายลง
“เราเห็นความพยายามขับเคลื่อนประเด็นนี้ในเคนยา กานา และแทนซาเนีย แต่ดูเหมือนว่าความพยายามเหล่านี้จะเติบโตไม่ทันจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” แดน เวตเซล ผู้เชี่ยวชาญของ IEA กล่าว
ตามข้อมูลของ ADB พบว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิง และเด็กผู้หญิงสูญเสียไปในการหาไม้ และฟืนเพื่อมาทำอาหารอยู่ที่ประมาณ 800,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
“หากเทียบเป็นเม็ดเงินแล้ว การสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้เตาแก๊สปรุงอาหาร อาจจะทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียเงินในการรักษาโรคต่าง ๆ ในระยะยาว และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย” เวตเซลกล่าว
การสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหลายครัวเรือนในแอฟริกา ไม่สามารถซื้อหม้อหุงข้าวหรือเชื้อเพลิงที่เหมาะสมได้ โดย IEA กล่าวว่า ความเข้มแข็งของผู้นำ และความพยายามของประชาชนจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมได้
ทั้งนี้ผู้หญิงจำนวนมากทั่วโลก และในแอฟริกากำลังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการเพื่อการเข้าถึงการปรุงอาหารที่สะอาด เช่น โครงการริเริ่ม Vash Green Schools ที่มอบเตาปรุงอาหาร และแผงโซลาร์เซลล์ให้แก่โรงเรียนในชุมชนชนบทในยูกันดา ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ สามารถอ่านหนังสือในตอนกลางคืน และมีอาหารปรุงสุก สะอาด และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ
แอฟริกาเป็นหนึ่งในทวีปที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เมื่อเดือนพ.ค. เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 200 ราย และบ้านเรือนเสียหายหลายพันหลัง ขณะที่ในเดือนเม.ย.คลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส เข้าปกคลุมซูดานใต้ ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิด กระทบต่อการศึกษาของเด็กๆ อย่างรุนแรง
ที่มา: Africa Arguments, Aljazeera, Phys
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์