‘เคนยา-บราซิล’ อ่วม เจอฝนตก-น้ำท่วมครั้งรุนแรง ผลพวงจาก ‘เอลนีโญ’

‘เคนยา-บราซิล’ อ่วม เจอฝนตก-น้ำท่วมครั้งรุนแรง ผลพวงจาก ‘เอลนีโญ’

“เอลนีโญ” ไม่ได้ทำให้แห้งแล้งและร้อนเท่านั้น แต่ทำในอีกซีกโลกหนึ่งเกิด "ฝนตกหนัก" จนเกิดเหตุ "น้ำท่วม" ในหลายประเทศ ทั้ง "บราซิล" ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 83 ปี และ “เคนยา” ที่มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

KEY

POINTS

  • “เอลนีโญ” (El Niño) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันไป ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีภูมิอากาศแบบร้อน ขณะที่ส่วนแอฟริกากลางฝั่งตะวันออกและบางส่วนของฝั่งอเมริกาใต้จะมีฝนตกชุก
  • “บราซิล” เกิดน้ำท่วมในครั้งนี้นับเป็นน้ำท่วมใหญ่ที่สุดของบราซิลในรอบ 83 ปี นับตั้งแต่ปี 1941 โดยในบางเมืองมีระดับน้ำสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกเมื่อเกือบ 150 ปีที่แล้ว
  • เช่นเดียวกับ “เคนยา” ที่มีฝนตกหนักมาตั้งแต่เดือนมีนาคม และเกิดน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมาจากภาครัฐไม่ลงทุนระบบระบายน้ำที่ดี อีกทั้งยังไม่ดูแลท่อระบายน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำ จนทำให้ท่อบางส่วนพังชำรุด เต็มไปด้วยขยะและเศษซากต่าง ๆ

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดจาก “เอลนีโญ” จนเข้าใจกันว่าเอลนีโญทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงอย่างเดียว แต่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ประเทศที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้อย่าง “บราซิล” และ “เคนยา” ที่อยู่ในแอฟริกากลับเจอฝนตกหนักเพราะเอลนีโญ

เอลนีโญ” (El Niño) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ เป็นความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ โดยอุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศสูงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ทำให้กระแสน้ำอุ่นจะไหลเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ตามชายฝั่ง จนเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาชายฝั่ง ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะเกิดผลกระทบที่แตกต่างกันไป 

ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีภูมิอากาศแบบร้อน ขณะที่ส่วนแอฟริกากลางฝั่งตะวันออกและบางส่วนของฝั่งอเมริกาใต้จะมีฝนตกชุก

‘เคนยา-บราซิล’ อ่วม เจอฝนตก-น้ำท่วมครั้งรุนแรง ผลพวงจาก ‘เอลนีโญ’

 

“บราซิล” น้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 83 ปี

ฝนตกหนักในรัฐรีโอกรันดีโดซูล ทางตอนใต้ของบราซิล โดยข้อมูลของสำนักงานป้องกันพลเรือนระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย และยังสูญหายมากกว่า 130 ราย ขณะที่น้ำท่วมทำลายสถิติทำลายเมืองต่างๆ และทำให้หลายพันคนต้องละทิ้งบ้านเรือน อุทกภัยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเกิดน้ำท่วมในเดือนกรกฎาคม กันยายน และพฤศจิกายน 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 75 ราย

ตามรายงานของหน่วยงานธรณีวิทยาของบราซิล น้ำท่วมในครั้งนี้นับเป็นน้ำท่วมใหญ่ที่สุดของบราซิลในรอบ 83 ปี นับตั้งแต่ปี 1941 โดยในบางเมืองมีระดับน้ำสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกเมื่อเกือบ 150 ปีที่แล้ว 

ฝนตกหนักจนทำให้เขื่อนที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเบนโตกอนคาลเวส และ โกตีโปรา ได้พังทลายลงมาบางส่วน ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าเมืองที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด สะพานเชื่อมระหว่างเมืองถูกตัดขาด ชาวบ้านต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และระบบการสื่อสาร ส่งผลให้ ผู้คนมากกว่า 150,000 คนต้องย้ายออกจากบ้าน ขณะที่บางส่วนยังคงรอความช่วยเหลืออยู่บนหลังคาบ้าน ภาครัฐได้ส่งความช่วยเหลือทั้งทางบกและทางอากาศ 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของบราซิลคาดว่าฝนจะยังคงตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงสุดสัปดาห์ และทำให้สถานการณ์ในภูมิภาครุนแรงขึ้นอีก

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ ฟรานซิสโก เอลิซู อากิโน บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า รีโอกรันดีโดซูลเป็นจุดบรรจบกันระหว่างของคลื่นความร้อนที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นและทำให้เกิดฝนตกลงมาทางตอนใต้ของบราซิล แต่  “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้เกิดพายุและน้ำท่วมที่รุนแรงในปีนี้ อีกทั้ง “ภาวะโลกร้อน” ยังทำให้การพยากรณ์อากาศทำได้ยากกว่าเดิม

 

“เคนยา” น้ำท่วมเพราะรัฐจัดการไม่ดี

สำหรับ “เคนยา” เจอฝนตกหนักมาตั้งแต่เดือนมีนาคม จนทำให้น้ำท่วม และต้องมาเจอกับพายุไซโคลนฮิดายะพัดถล่มเข้าอีกระลอก ยิ่งทำให้สถาการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดจากกระทรวงมหาดไทยของเคนยา พบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 228 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 125 ราย มีรายผู้สูญหาย 90 ราย และอีกหลายสิบคนเชื่อว่าสูญหายอยู่ใต้ซากปรักหักพัง อีกทั้งฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมร้ายแรงในประเทศเคนยา ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 200 ราย ประชาชนหลายพันคนสูญเสียอยู่อาศัย และโรงเรียนเกือบ 2,000 แห่งได้รับความเสียหาย ทางการประกาศหยุดเรียนไม่มีกำหนด

ผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดกำลังร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล ชาวบ้านคนหนึ่งในชุมชนแออัดของกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา เปิดเผยกับสำนักข่าว Aljazeera ว่ารัฐบาลกำลังทอดทิ้งพวกเขา

“รัฐบาลบอกว่ากำลังส่งทหารมาช่วยเหลือพวกเรา และกำลังทำภารกิจค้นหาช่วยเหลือพวกเรา แต่ตอนนี้ไม่มีใครเลย พวกเขาอยู่ที่ไหน? ฉันไม่เห็นใครมาเลย” ชาวบ้านกล่าว

ขณะที่ ในเมืองไม มาฮิอู อยู่ทางตะวันตกของเมืองหลวงไนโรบี กลายเป็นเมืองที่สถาการณ์น้ำท่วมย่ำแย่ที่สุด เกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 48 คน และกรมอุตุนิยมวิทยาของเคนยาคาดว่าเมืองนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักมากขึ้น 

“เอลนีโญ” ไม่เพียงแต่จะทำให้หลายประเทศเจอสภาพอากาศร้อนสุดขีดจนทำลายสถิติหลายประเทศ แต่เอลนีโญยังทำให้เกิดฝนตกหนักในบางส่วนของโลก รวมถึงเคนยา แต่น้ำท่วมที่เกิดขึ้นมาจากภาครัฐไม่ลงทุนระบบระบายน้ำที่ดี อีกทั้งยังไม่ดูแลท่อระบายน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำ จนทำให้ท่อบางส่วนพังชำรุด เต็มไปด้วยขยะและเศษซากต่าง ๆ 

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยแพร่ข้อมูลว่า ในย่านที่มีรายได้น้อยและชุมชนแออัดได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีน้อย ระบบระบายน้ำไม่ดี ไม่ผ่านเกณฑ์สุขอนามัย และเต็มไปด้วยความแออัด

ในแถลงการณ์ อูลี เกอิตา ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซแอฟริกา กล่าวว่าน้ำท่วมเป็น เครื่องเตือนใจให้เห็นถึงราคาที่ต้องจ่ายของมนุษย์จากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ พร้อมระบุว่าการพัฒนาที่ไม่มีแบบแผนจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเดิม

ทั้งนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีวิลเลียม รูโตได้สั่งให้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 178 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการเลื่อนการเปิดโรงเรียนจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ารัฐบาลไม่ทำตามคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่กล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ว่าเคนยาจะต้องเจอกับฝนตกหนัก เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญต่อเนื่องไปจนถึงปี 2024

แม้ว่ารัฐบาลจะกันเงินไว้อย่างน้อย 80 ล้านดอลลาร์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเกิดทั่วประเทศ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้วางแผนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยประธานาธิบดีรูโตเคยพูดไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 ว่าเคนยาจะไม่พบเจอกับน้ำท่วมตามที่คาดการณ์ไว้ แต่เขาจะคิดผิดมหันต์ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนจะตกต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน

 

ที่มา: AljazeeraAP NewsBBCReuters