‘ภาวะโลกร้อน’ ทำพิษ ‘ยุโรป’ กลายเป็นทวีปที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก

‘ภาวะโลกร้อน’ ทำพิษ ‘ยุโรป’ กลายเป็นทวีปที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก

การศึกษาใหม่ระบุ “ยุโรป” กลายเป็นทวีปที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก โดยมีอุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 2.3 องศาเซลเซียส ขณะที่ทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยเพียง 1.3 องศาเซลเซียสเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ธารน้ำแข็งละลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ร่วมกับสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S ออกรายงานเกี่ยวกับสภาพอากาศในยุโรป พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิในยุโรปสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2.3 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่า ข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีสปี 2015 ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่  1.3 องศาเซลเซียส

แม้ว่าทวีปยุโรปจะเป็นทวีปที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าพลังน้ำ มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้วก็ตาม โดยในปี 2023 ยุโรปสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ 43% เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปีก่อนหน้า 

 

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำ “ยุโรป” ร้อนกว่าเดิม

สาเหตุหลักที่ทำให้ยุโรปร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะว่าอยู่ใกล้กับอาร์กติก และขั้วโลกเหนือมาก เมื่อขั้วโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงมายังยุโรป 

นอกจากนี้กระแสน้ำในมหาสมุทรของยุโรปอบอุ่นกว่ากระแสน้ำที่ละติจูดใกล้เคียงกันในส่วนอื่นๆ ของโลก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมฤดูหนาวในลอนดอนถึงมีอุณหภูมิอบอุ่นกว่าชิคาโกมาก แม้ว่าลอนดอนจะอยู่ใกล้ขั้วโลกมากกว่าก็ตาม และยิ่งน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นเท่าใด อากาศในยุโรปก็ยิ่งร้อนอบอ้าวมากขึ้นเท่านั้น

รายงานดังกล่าวเตือนว่าโลกของเรากำลัง “เข้าขั้นวิกฤติ” และเราไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะทำให้โลกดีขึ้น โดยเดือนมีนาคม 2567 กลายเป็นเดือนที่อุณหภูมิรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วยุโรปแตะระดับสูงสุด 

“การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอาจจะมีต้นทุนสูง แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจะเกิดความสูญเสียมากกว่านั้นมาก” เซเลสเต เซาโล เลขาธิการ WMO กล่าว

 

“สภาพอากาศสุดขั้ว” ถล่ม “ยุโรป”

ในปี 2023 อุณหภูมิทั่วยุโรปสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 11 เดือน และมีเดือนกันยายน ที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึก อีกทั้งต้องเผชิญกับ “สภาพอากาศสุดขั้ว” หลากหลายรูปแบบ 

ประเทศทางตอนใต้ของยุโรป เช่น โปรตุเกส สเปน และอิตาลี เผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง ทำให้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในพื้นที่อยู่อาศัย และควันไฟพัดพาปกคลุมเมืองต่างๆ อีกทั้งยังเกิด “ไฟป่า” รุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะกรีซที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพยุโรป สร้างความเสียหายไปแล้วกว่า 600,000 ไร่

ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งของยุโรปกลับมีฝนตกหนักจนทำให้เกิด “น้ำท่วม” ในปี 2023 มีความชื้นเพิ่มขึ้นประมาณ 7% มากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ธารน้ำแข็งหายไปในทวีปนี้ รวมถึงหิมะ และน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาแอลป์ด้วย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยุโรปสูญเสียธารน้ำแข็งไปแล้ว 10% จากที่มีอยู่

“ในปี 2023 ยุโรปเผชิญกับไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ ขณะเดียวกันก็เกิดฝนตกชุกที่สุด และน้ำท่วมร้ายแรงที่ลุกลามเป็นวงกว้าง” คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส กล่าว

 

 

 

“คลื่นความร้อน” คร่าชีวิตชาวยุโรป

ชาวยุโรปได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น 30% ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อน พายุ น้ำท่วม และไฟป่า อีกทั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 14,300 ล้านดอลลาร์

“ผู้คนหลายแสนคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปี 2023 ก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ในระดับทวีป คิดเป็นมูลค่าความเสียหายอย่างน้อยหลายหมื่นล้านยูโร” คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S กล่าว

คลื่นความร้อนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด ในเดือนกรกฎาคม 2023 เกิด “คลื่นความร้อน” ในทวีปยุโรปจนทำให้มีอุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศา โดยเฉพาะในยุโรปทางตอนใต้ ผู้คนบางส่วนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ อีกทั้งไม่มีเครื่องปรับอากาศช่วยคลายร้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนนับหมื่นคน 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2024 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปตัดสินคดีที่กลุ่มผู้หญิงสูงวัยชนะคดี ที่ฟ้องรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเธอ เนื่องจากรัฐไม่มีนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่เด็ดขาด จนทำให้กลุ่มผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน

คำตัดสินดังกล่าวทำให้รัฐบาลยุโรปทุกประเทศเสี่ยงต่อการดำเนินคดีในศาล หากไม่มีนโยบายที่จะป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้น ตามข้อตกลงปารีส ดังนั้นในปีนี้หลายเมืองในยุโรปกำลังหามาตรการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงเครื่องปรับอากาศ เพื่อรับมือกับคลื่นความร้อนให้ได้มากที่สุด

เฟรเดอริก อ็อตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน กล่าวกับสำนักข่าว The Guardian ว่า “หากมนุษย์ยังคงเผาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินต่อไป คลื่นความร้อนก็จะรุนแรงกว่าเดิม และผู้คนที่อ่อนแอจะเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ”


ที่มา: AP NewsNPRThe Guardian

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์