‘ระบบนิเวศ’ พังเพราะ ‘ถุงขนม’ ที่ถูกทิ้งไว้ใน ‘ถ้ำ’ ของสหรัฐ

‘ระบบนิเวศ’ พังเพราะ ‘ถุงขนม’ ที่ถูกทิ้งไว้ใน ‘ถ้ำ’ ของสหรัฐ

หลังจากนักท่องเที่ยวทิ้งถุงขนมหล่นไว้ในถ้ำ ก็กระตุ้นให้เกิดเชื้อราและจุลินทรีย์เจริญเติบโต จนทำให้ระบบนิเวศเกือบพังทลาย

KEY

POINTS

  • นักท่องเที่ยวทิ้งซองขนมไว้ในถ้ำภายในอุทยานแห่งชาติคาร์ลสแบดเคฟเวิร์น จนเกิดเชื้อราแพร่กระจายไปทั่ว ทำให้ระบบนิเวศในถ้ำซึ่งมีความละเอียดอ่อนต้องเสียสมดุล
  • กรมอุทยานออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยว ไม่ให้ทิ้งขยะทิ้งไว้ในถ้ำ แต่ยังคงพบขยะอยู่ในทุกย่างก้าวที่นักท่องเที่ยวเดินผ่าน
  • มีถ้ำอย่างน้อย 60,000 แห่ง ถูกทำลาย หลายถ้ำอาจถูกทำลายโดยนักท่องเที่ยวเพื่อนำกลับบ้านเป็นของที่ระลึก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

นักท่องเที่ยวเผลอทำซองขนมชีโตสหล่นไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งภายในอุทยานแห่งชาติคาร์ลสแบดเคฟเวิร์น ในรัฐนิวเม็กซิโก และไม่ได้นำไปทิ้ง แม้มันจะดูเหมือนเป็นแค่ขยะเพียงชิ้นเดียว แต่สำหรับจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในถ้ำแห่งนี้ เศษขนมที่อยู่ในถุงนี้สามารถเปลี่ยนทำให้ระบบนิเวศในถ้ำเกือบล่มสลายไปเลย

โถงใหญ่ในอุทยานแห่งชาติถ้ำคาร์ลสแบดเป็นถ้ำโถงเดียวที่มีปริมาตรมากที่สุดในอเมริกาเหนือ สามารถเข้าถึงเดินเข้าไปได้ถึง 2 กม. โดยเกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน ในตอนที่กรดซัลฟิวริกละลายหินปูนจนเกิดเป็นทางเดินในถ้ำ ตามรายงานล่าสุดในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมถ้ำแห่งนี้เกือบ 400,000 คน สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเกือบ 32 ล้านดอลลาร์

เมื่อขนมข้าวโพดเริ่มนิ่มลงจากความชื้นในถ้ำ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์และเชื้อรา

“จิ้งหรีดถ้ำ ไร แมงมุม และแมลงวันรวมตัวกันสร้างสายใยอาหารชั่วคราว เพียงไม่นานชีโตสแพร่กระจายไปทั่วถ้ำและชั้นหินโดยรอบ ส่วนเชื้อรายังคงแพร่กระจายไปบนพื้นผิวบริเวณใกล้เคียง ผลไม้ บางส่วนตาย ส่งกลิ่นเหม็น และวัฏจักรนี้ยังคงดำเนินต่อไป” เจ้าหน้าที่กล่าว

ระบบนิเวศที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มาจากการรวมตัวของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในถ้ำและสิ่งมีชีวิตที่มาจากที่อื่น ทำให้ระบบนิเวศในถ้ำซึ่งมีความละเอียดอ่อนต้องเสียสมดุล เจ้าหน้าที่กล่าวว่า “ในมุมมองของมนุษย์ ถุงขนมที่หกอาจดูไม่สำคัญ แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตในถ้ำแล้ว ถุงขนมซองเดียวอาจเปลี่ยนโลกของพวกเขาได้”

‘ระบบนิเวศ’ พังเพราะ ‘ถุงขนม’ ที่ถูกทิ้งไว้ใน ‘ถ้ำ’ ของสหรัฐ ห่อขนมชีโตสที่เต็มไปด้วยรา ถูกทิ้งอยู่ในถ้ำภายในอุทยานแห่งชาติ
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก Carlsbad Caverns National Park

อุทยานแห่งชาติยังระบุอีกว่า อาหารที่มนุษย์ทิ้งไว้จะดึงดูดสัตว์ต่าง ๆ ให้เข้ามาในถ้ำ ซที่เป็นอยู่ของค้างคาว 17 สายพันธุ์ ที่มีจำนวนระหว่าง 400,000-800,000 ตัว รวมถึงค้างคาวหางอิสระบราซิล ที่ยังไม่ติด “โรคจมูกขาว” ภัยร้ายที่คร่าชีวิตค้างคาวทั่วอเมริกาเหนือ

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าใช้เวลา 20 นาที ในการกำจัดเชื้อราและเศษขยะจากพื้นผิวภายในถ้ำ โดย ระบุว่าถุงชีโตสที่ถูกทิ้งนั้นได้นำจุลินทรีย์และเชื้อราที่ไม่ได้อยู่ในระบบนิเวศธรรมชาติเข้ามา ซึ่งหากกำจัดไม่ทันการระบบนิเวศในถ้ำอาจจะล่มสลายได้ เพราะต้องพึ่งพาแหล่งอาหารที่มีจำกัดและไวต่อการทำลายจากกิจกรรมของมนุษย์

กรมอุทยานออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยว ไม่ให้ทิ้งขยะทิ้งไว้ในถ้ำ เพราะ “ถ้ำไม่ใช่ถังขยะขนาดใหญ่อย่างที่คิดกันไปเอง” แต่ถึงจะประกาศเตือนแล้ว ทุกย่างก้าวที่นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปในถ้ำจะทิ้งขยะไว้เป็นทาง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายังคงพบกระดาษห่อหมากฝรั่งหรือกระดาษทิชชู ของเสียจากมนุษย์ น้ำลาย หรือยาสูบแบบเคี้ยว

ที่จริงแล้วทางอุทยานอนุญาตให้นักท่องเที่ยวดื่มได้เพียงน้ำเปล่าเท่านั้น เมื่ออยู่ในถ้ำ อีกทั้งนักท่องเที่ยวจะต้องแน่ใจว่าไม่ได้ทิ้งขยะไว้ในถ้ำ หากอยากเข้าห้องน้ำก็ต้องเข้าห้องน้ำที่กำหนดไว้เท่านั้น และที่สำคัญอย่ากินซีโตสในถ้ำ!

‘ระบบนิเวศ’ พังเพราะ ‘ถุงขนม’ ที่ถูกทิ้งไว้ใน ‘ถ้ำ’ ของสหรัฐ เชื้อรากระจายไปรอบ ๆ บริเวณถ้ำ

แต่ก็ไม่ได้ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวที่หิวโหยหยุดกินขนม เพราะอุทยานแห่งนี้ก็เคยประสบปัญหานักท่องเที่ยวฝ่าฝืนกฎมาก่อน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังกล่าวอีกว่า มีถ้ำอย่างน้อย 60,000 แห่ง ถูกทำลาย หลายถ้ำอาจถูกทำลายโดยนักท่องเที่ยวเพื่อนำกลับบ้านเป็นของที่ระลึก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

“ทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนมากทำเหมือนอุทยานแห่งชาติเป็นสวนสนุก เจ้าหน้าที่อุทยานใช้ชีโตสเป็นเครื่องเน้นย้ำในลักษณะที่สนุกสนานและเข้าถึงได้ ว่าการกระทำของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงโลกธรรมชาติอย่างไร พฤติกรรมที่ไม่ใส่ใจในความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของมนุษย์ สร้างผลที่ตามมา” จัต วินน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นแอริโซนากล่าว 

นอกจากนี้วินน์ยังแนะนำว่า หากมีการค้นพบสัตว์หายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ในถ้ำที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ก็ควรปิดถ้ำนั้น ไม่ให้สาธารณชนเข้าชม แต่หากไม่สามารถปิดได้ เจ้าหน้าที่ควรกำหนดเส้นทางที่กำหนดไว้ ห้ามนำอาหารเข้าไปในถ้ำ ต้องสวมรองเท้าพิเศษหรือรองเท้าบู๊ตที่ทนทาน และมีฤดูปิดถ้ำเพื่อให้ฟื้นฟูระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติยังคงรณรงค์ให้นักท่องเที่ยว “ไม่ทิ้งร่องรอย” เอาไว้ในถ้ำ แม้ว่าในบางกรณีอย่างเช่น เส้นผมมนุษย์หรือผ้าที่หลุดร่วงจากเสื้อผ้าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่แคมเปญนี้เน้นไปที่การใส่ใจเกี่ยวกับ “ขยะ” ที่นักท่องเที่ยวนำเข้ามา พร้อมเน้นย้ำว่าเมื่อไปสถานที่ท่องเที่ยวควรถ่ายรูปเก็บไว้และทิ้งรอยเท้าไว้เท่านั้น

“มนุษย์ล้วนทิ้งผลกระทบไว้ทุกที่ที่ไป ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ขอให้เราทุกคนทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่ดีกว่าที่เราพบเห็น” อุทยานโพสต์ทิ้งท้าย


ที่มา: CNNForbesThe GuardianThe Washington Post

‘ระบบนิเวศ’ พังเพราะ ‘ถุงขนม’ ที่ถูกทิ้งไว้ใน ‘ถ้ำ’ ของสหรัฐ