ปี 2100 มหาอุทกภัย ‘กรุงเทพฯ’ จมน้ำ ‘ลพบุรี-สระบุรี-อุทัยธานี’ ติดทะเล

ปี 2100 มหาอุทกภัย ‘กรุงเทพฯ’ จมน้ำ ‘ลพบุรี-สระบุรี-อุทัยธานี’ ติดทะเล

ปี 2100 น้ำท่วมจะกินบริเวณภาคกลางจะภาคตะวันออก โดย กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี เกือบทั้งหมดของพระนครศรีอยุธยา นครนายก บางส่วนของปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และเพชรบุรีจะเกิดน้ำท่วม

กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทย เป็นเมืองที่ราบลุ่มตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาในที่ราบภาคกลาง มีระดับความสูงเฉลี่ย 1.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ดังนั้นหากในอนาคตระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1-2 เมตร จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เมืองส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2100 ซึ่งการเกิดอุทกภัยนี้ จะเป็นเหตุการณ์หายนะครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนและโครงสร้างพื้นฐาน และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการปรับตัว

Earth.org เว็บไซต์ข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ทำแผนที่อุทกภัยร้ายแรงในกรุงเทพมหานครภายในปี 2100 เพื่อแสดงให้เห็นถึงอันตรายที่ใกล้จะเกิดขึ้น

กรุงเทพมหานครประกอบด้วยชั้นดินเหนียวอ่อนที่เรียกว่า “ดินเหนียวกรุงเทพ” (Bangkok clay) หนาประมาณ 15 เมตร และใต้ชั้นดินนั้นมีแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งการขุดเอาหน้าดินออกมากเกินไปทำให้เกิดการทรุดตัวอัตราสูงถึงปีละ 120 มิลลิเมตร มาตั้งแต่ปี 1981

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการทรุดตัวของดินเริ่มชะลอตัวลง แต่จากการปัญหาดินทรุดที่สะสมมานาน ทำให้บางส่วนของเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1 เมตร ซึ่งหากเกิดฝนตกหนัก เกิดพายุโซนร้อน หรือมีน้ำทะเลหนุนสูง จนไม่สามารถระบายน้ำได้ทันท่วงที ก็จะทำให้กรุงเทพฯจมอยู่ใต้บาดาล แม้จะมีความพยายามในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ทำมากพอ

Earth.org ได้จำลองแผนที่น้ำท่วมรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจากระดับน้ำทะเลภายในปี 2100 โดยใช้เครื่องมือจาก Climate Central – Coastal Risk Screening Tool พบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑลจะถูกน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2030 และ ในปี 2100 น้ำท่วมจะกินบริเวณภาคกลางจะภาคตะวันออก โดย กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี เกือบทั้งหมดของพระนครศรีอยุธยา นครนายก บางส่วนของปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และเพชรบุรีจะเกิดน้ำท่วม

เมื่อรวมกับการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกในระดับสูงสุด น้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้นถึง 5-6 เมตร ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่บริเวณอ่าวไทยกินพื้นที่การท่วมในพื้นที่ลุ่มมากถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลให้ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี กลายเป็นจังหวัดติดชายฝั่งทะเลทันที

นอกจากนี้ Earth.org ยังกล่าวแนะนำว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งการดำเนินการป้องกันไม่ให้กรุงเทพฯจมบาดาลในทันที เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รับรู้ว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วน

ปี 2100 มหาอุทกภัย ‘กรุงเทพฯ’ จมน้ำ ‘ลพบุรี-สระบุรี-อุทัยธานี’ ติดทะเล

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นานแล้ว เพราะพรรคเพื่อไทยเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้และเป็นนโยบายที่พรรคศึกษามาตั้งแตสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในช่วงที่ผ่านมามี 2 แนวทาง ประกอบด้วย

1.แนวคิดการสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสายใหญ่ 4 สาย ที่ไหลลงทะเลที่อ่าวไทย เพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุนท่วมขึ้นมาตามแม่น้ำแต่ละสาย แต่แนวคิดนี้ถือว่าเป็นไปได้ยาก เพราะในการออกแบบประตูน้ำที่จะใช้ในการปิดแม่น้ำมีข้อจำกัดในการก่อสร้าง และการใช้งานจริง 

2.แนวคิดการสร้างฟลัดเวย์โดยการยกระดับถนนเส้นหลักเพื่อเป็นทางกั้น และระบายน้ำที่จะเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจก็ทำได้ยากมากอีกเช่นกัน เพราะหากจะมีการปิดจราจรในถนนแต่ละเส้นทางที่เป็นเส้นหลักนั้นก็จะเกิดความโกลาหลอย่างมากในการสัญจรของประเทศ

ดังนั้น ทางออกอยู่ที่การสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลในลักษณะของเกาะ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีเกาะจำนวน 9 เกาะ และให้แต่ละเกาะมีเขื่อนเป็นแนวกั้นน้ำ และมีประตูเปิด-ปิดได้ซึ่งเกาะแรกจะสร้างในพื้นที่ของชายทะเลบางขุนเทียน จากนั้นจะสร้างเกาะอื่นไปจนถึงชลบุรี รวมระยะทางตลอดอ่าวตัว ก. ประมาณ 100 กิโลเมตร 

ทั้งนี้พื้นที่เกาะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดเชื่อมของเขื่อนกั้นน้ำแต่ละเกาะจะมีขนาดประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และสร้างห่างจากชายฝั่งไป 1 กิโลเมตร มีถนนเชื่อมกับพื้นที่ชายฝั่งเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปยังพื้นที่เกาะต่าง ๆ ได้ 

สำหรับแนวทางการลงทุนจะเป็นหน้าที่ของภาคเอกชน โดยผู้ที่เข้ามาลงทุนจะได้สัมปทานการใช้ที่ดินอาจจะเป็น 99 ปี ซึ่งสามารถพัฒนาเกาะนี้ใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบต่างๆ อาทิ การพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ หรือเป็นเมืองใหม่ที่เป็นสมาร์ตซิตี้ใช้พลังงานสะอาด โดยจะมีการติดตั้งกังหันลมหรือโซลาร์เซลล์ก็สามารถที่จะออกแบบได้ โดยเมื่อหมดระยะเวลาสัมปทานแล้วพื้นที่นี้ก็จะเป็นของภาครัฐ 

สำหรับแนวความคิดนี้ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของภาครัฐที่ได้โครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ลุ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ลุ่มในภาคกลางที่จะถูกน้ำทะเลท่วมถึงได้ในอนาคต

ปี 2100 มหาอุทกภัย ‘กรุงเทพฯ’ จมน้ำ ‘ลพบุรี-สระบุรี-อุทัยธานี’ ติดทะเล

“โครงการนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าโครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ซึ่งถือว่าโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ใหม่มาก และหากมีการลงทุนจริงจะใช้เงินมากที่สุดเท่าที่เคยมีการลงทุน แต่โครงการนี้ก็มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มเดินหน้าได้หรือไม่ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะทั้งโครงการจะต้องใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี” นายปลอดประสพกล่าว

รวมทั้งจะเป็นโครงการที่ใช้เงินในการก่อสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่ประเทศไทยเคยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมา โดยหากสามารถเดินหน้าในพื้นที่แรกคือ เกาะในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน หากสามารถเริ่มทำได้ก่อนในสมัยรัฐบาลนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่อื่นต่อไป


ที่มา: Earth.org