กางแผนกันน้ำท่วม กทม. - ปริมณฑล ผุด 9 เกาะอ่าวไทย เอกชนลงทุน แลกสัมปทาน 99 ปี

กางแผนกันน้ำท่วม กทม. - ปริมณฑล  ผุด 9 เกาะอ่าวไทย เอกชนลงทุน แลกสัมปทาน 99 ปี

“รัฐบาลเพื่อไทย” ดันเมกะโปรเจกต์ใหม่ ป้องกันน้ำท่วม กทม.- ปริมณฑล สร้างพื้นที่เศรษฐกิจ 9 เกาะ รอบอ่าวรูปตัว ก.ตั้งชื่อ "สร้อยไข่มุกอ่าวไทย" เริ่มถมเกาะแรกที่ทะเลบางขุนเทียน สร้างประตูน้ำ และเขื่อนเชื่อม รวมระยะทาง 100 กิโลเมตรให้สัมปทานที่ดิน 99 ปี

KEY

POINTS

  • สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนทำให้หลายพื้นที่ในโลกเสี่ยงที่จะจมน้ำทะล รวมถึง กทม.และปริมณฑลที่มีความเสี่ยงจะถูกน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปีท่วมจนทำให้เกิดความเสียหายกับชีวิต และทรัพย์สินประชาชน
  • “รัฐบาลเพื่อไทย” ดันเมกะโปรเจกต์ใหม่ ป้องกันน้ำท่วม กทม.- ปริมณฑล สร้างพื้นที่เศรษฐกิจ 9 เกาะ รอบอ่าวรูปตัว ก.
  • โครงการนี้เป็นโครงการ 20 ปี โดยรัฐบาลตั้งใจผลักดันให้เริ่มถมเกาะแรกที่ทะเลบางขุนเทียน โดยระหว่างเกาะจะสร้างประตูน้ำ และเขื่อนเชื่อม รวมระยะทาง 100 กิโลเมตร
  • เอกชนที่ลงทุนจะได้สัมปทานที่ดิน 99 ปี และวางรูปแบบใช้ประโยชน์พื้นที่ในเกาะได้ 
  • “ภูมิธรรม” ระบุต้องหารือหลายฝ่าย แต่มั่นใจไม่มีปัญหางบประมาณ และการระดมงบลงทุน

จากปัญหาโลกร้อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศที่แปรปรวนมากที่สุดตามการจัดอันดับเรื่อง Global Climate Risk Index 2021 ของ Germanwatch โดยความเสี่ยงอย่างหนึ่งก็คือ การที่เกิดน้ำทะเลหนุนสูงจนท่วมพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจนอาจเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากในอนาคตหากไม่มีการวางแผนป้องกัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องวางแผนป้องกันเช่นเดียวกับที่หลายประเทศเดินหน้าไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในการแสดงวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็พูดเรื่องการถมทะเลป้องกันน้ำท่วมควบคู่การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจโดยเริ่มจากบริเวณชายทะเลบางขุนเทียน

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นานแล้ว เพราะพรรคเพื่อไทยเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้และเป็นนโยบายที่พรรคศึกษามาตั้งแตสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษ์ ชินวัตร 

แต่ขณะนั้นเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง โครงการบริหารจัดการน้ำในขณะนั้นจึงต้องเน้นไปที่พื้นที่นี้ก่อน แต่โครงการป้องกันน้ำทะเลหนุนท่วมพื้นที่ลุ่มภาคกลางใน กทม.และปริมณฑลก็ถือว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจเพราะใช้เวลาก่อนสร้างนาน

   ทั้งนี้จากผลการศึกษาในภาวะที่โลกร้อนมีความรุนแรงน้ำแข็งขั้วโลกละลายสูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันในองค์การสหประชาชาติ (UN) มาหลายปีแล้วเกี่ยวกับเรื่องที่น้ำทะเลสูงขึ้น และจะมีพื้นที่จำนวนมากที่จมน้ำ เช่นเดียวกับในอ่าวไทยที่น้ำในมหาสมุทร และทะเลจะสูงขึ้น

 

น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 1.6 หมื่นไร่ 

สำหรับโมเดลที่มีการศึกษาพบว่ากรณีที่มีภาวะโลกร้อนสูงสุด น้ำแข็งละลายสูงสุดน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้นมากขึ้นถึง 5-6 เมตร ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ด้านอ่าวตัว ก.บริเวณอ่าวไทยกินพื้นที่การท่วมในพื้นที่ลุ่มมากถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร

รวมทั้งหากปริมาณน้ำสูงขึ้นมากขนาดนั้นแปลว่าอ่าวไทยฝั่งจะขึ้นไปที่ จ.ลพบุรี จ.สระบุรี (ตอนเหนือ) จ.อุทัยธานี โดยจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมแน่นอน คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และชลบุรี บางส่วน โดยเป็นพื้นที่ ที่ต้องป้องกัน และรัฐบาลต้องมีหน้าที่ป้องกันในส่วนนี้เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียกับเศรษฐกิจ และประชาชนมาก

นอกจากนี้ แม้ว่าในระยะเวลาสั้นช่วง 2-5 ปี ข้างหน้า การป้องกันสามารถทำเหมือนที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ได้คือ การเสริมพนังกั้น หรืออุดรอยรั่วของพนัง และเขื่อนกั้นน้ำที่มีการสร้างมาก่อนหน้านี้ โดยขณะนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการในช่วงที่มีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น 

แต่ในระยะถัดไปเมื่อปริมาณน้ำทะเลหนุนสูงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อนการสร้างกำแพงหรือพนังกั้นน้ำไม่สามารถใช้ได้ต้องพิจารณาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการป้องกันน้ำทะเลท่วมพื้นที่ซึ่งมีความแข็งแรง และใช้งานต่อไปได้ในระยะยาว

แนวคิดที่มีการพิจารณาในช่วงที่ผ่านมามี 2 แนวทาง ประกอบด้วย

1.แนวคิดการสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสายใหญ่ 4 สาย ที่ไหลลงทะเลที่อ่าวไทย เพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุนท่วมขึ้นมาตามแม่น้ำแต่ละสาย แต่แนวคิดนี้ถือว่าเป็นไปได้ยาก เพราะในการออกแบบประตูน้ำที่จะใช้ในการปิดแม่น้ำมีข้อจำกัดในการก่อสร้าง และการใช้งานจริง 

2.แนวคิดการสร้างฟลัดเวย์โดยการยกระดับถนนเส้นหลักเพื่อเป็นทางกั้น และระบายน้ำที่จะเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจก็ทำได้ยากมากอีกเช่นกัน เพราะหากจะมีการปิดจราจรในถนนแต่ละเส้นทางที่เป็นเส้นหลักนั้นก็จะเกิดความโกลาหลอย่างมากในการสัญจรของประเทศ

ถมทะเลสร้าง 9 เกาะติดตั้งเขื่อน-ประตูน้ำ 100 กิโลเมตร

ดังนั้น ทางออกอยู่ที่การสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลในลักษณะของเกาะ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีเกาะจำนวน 9 เกาะ และให้แต่ละเกาะมีเขื่อนเป็นแนวกั้นน้ำ และมีประตูเปิด-ปิดได้ซึ่งเกาะแรกจะสร้างในพื้นที่ของชายทะเลบางขุนเทียน จากนั้นจะสร้างเกาะอื่นไปจนถึงชลบุรี รวมระยะทางตลอดอ่าวตัว ก.ประมาณ 100 กิโลเมตร 

ทั้งนี้พื้นที่เกาะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดเชื่อมของเขื่อนกั้นน้ำแต่ละเกาะจะมีขนาดประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และสร้างห่างจากชายฝั่งไป 1 กิโลเมตร มีถนนเชื่อมกับพื้นที่ชายฝั่งเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปยังพื้นที่เกาะต่างๆ ได้ 

สำหรับแนวทางการลงทุนจะเป็นหน้าที่ของภาคเอกชน โดยผู้ที่เข้ามาลงทุนจะได้สัมปทานการใช้ที่ดินอาจจะเป็น 99 ปี ซึ่งสามารถพัฒนาเกาะนี้ใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบต่างๆ อาทิ

การพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ หรือเป็นเมืองใหม่ที่เป็นสมาร์ตซิตี้ใช้พลังงานสะอาด โดยจะมีการติดตั้งกังหันลมหรือโซลาร์เซลล์ก็สามารถที่จะออกแบบได้ โดยเมื่อหมดระยะเวลาสัมปทานแล้วพื้นที่นี้ก็จะเป็นของภาครัฐ 

สำหรับแนวความคิดนี้ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของภาครัฐที่ได้โครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ลุ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ลุ่มในภาคกลางที่จะถูกน้ำทะเลท่วมถึงได้ในอนาคต

กางแผนกันน้ำท่วม กทม. - ปริมณฑล  ผุด 9 เกาะอ่าวไทย เอกชนลงทุน แลกสัมปทาน 99 ปี

“โครงการนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าโครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ซึ่งถือว่าโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ใหม่มาก และหากมีการลงทุนจริงจะใช้เงินมากที่สุดเท่าที่เคยมีการลงทุน แต่โครงการนี้ก็มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มเดินหน้าได้หรือไม่ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะทั้งโครงการจะต้องใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี" 

รวมทั้งจะเป็นโครงการที่ใช้เงินในการก่อสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่ประเทศไทยเคยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมา โดยหากสามารถเดินหน้าในพื้นที่แรกคือ เกาะในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน หากสามารถเริ่มทำได้ก่อนในสมัยรัฐบาลนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่อื่นต่อไป

เผยต้นแบบ “ดูไบ-เนเธอร์แลนด์”

นายปลอดประสพ กล่าวว่า โครงการในลักษณะนี้มีองค์ความรู้อยู่ในหลายประเทศที่มีการสร้างโครงการในลักษณะนี้ เช่น เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เนเธอร์แลนด์ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง และสิงคโปร์ก็มีการสร้างเกาะเทียม ซึ่งหากประเทศไทยประกาศว่าจะทำโครงการในลักษณะนี้ก็สามารถที่จะเปิดให้มีการออกแบบดีไซน์เพื่อประกวดคอนเซปต์การพัฒนาโครงการ

“โครงการในลักษณะที่เปิดกว้าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้สถาบันศึกษาในประเทศไทยออกแบบการใช้ประโยชน์บนพื้นที่เกาะต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการใช้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมทางทะเล วิศวกรรมสมุทรศาสตร์ (Oceanic Engineering) มาพัฒนาโครงการนี้ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” นายปลอดประสบ กล่าว

“ภูมิธรรม” ชี้รัฐบาลไม่ห่วงเรื่องงบ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ที่จะมีการสร้างเกาะ และเขื่อนกั้นระดับน้ำทะที่มีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร นั้นถือว่าเป็นแนวคิดใหม่ ซึ่งต้องมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการผลักดันเรื่องนี้ 

“การสร้างเกาะเพื่อเป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนั้นทางรัฐบาลคงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งเรื่องบประมาณนั้นไม่น่าห่วงรัฐบาลสามารถจัดหางบประมาณได้มีวิธีการจัดสรรเงินลงทุนอยู่” นายภูมิธรรม กล่าว 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์