The EU Green Deal: โอกาสหรือความเสี่ยงของธุรกิจไทย? – (2)

The EU Green Deal: โอกาสหรือความเสี่ยงของธุรกิจไทย? – (2)

ตอนที่แล้ว (1) ได้อธิบายภาพรวมของ The EU Green Deal และตัวอย่างกฎหมาย/กฎระเบียบที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่าง EUDR ไปแล้ว สำหรับตอนที่ 2 นี้มีความสำคัญมากเช่นกัน

เป็นการอธิบายในเรื่องการเปิดเผยและรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Information Disclosure and Reporting) เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีข้อมูลในการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มุ่งสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืน

EU ได้ออกกฎระเบียบเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการรายงานข้อมูลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านความยั่งยืน ในชื่อ “Corporate Sustainability Reporting Directive” หรือ CSRD ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 โดยประเทศสมาชิกใน EU ต้องดำเนินการออกกฎหมายเฉพาะของแต่ละประเทศ (National Law) อีกขั้นหนึ่ง และกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายต้องรายงานข้อมูลเป็นกลุ่มแรก เริ่มรายงานข้อมูลของปี 2024 ตามมาตรฐานที่กำหนด ภายใต้ “European Sustainability Reporting Standards” หรือ ESRS ซึ่งมีหัวข้อการรายงานข้อมูลด้าน ESG ที่มีนัยสำคัญ อาทิ

· E – ด้านสิ่งแวดล้อม: ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมขององค์กร นโยบายและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ แผนการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศ (climate transition plan) รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) มลพิษ (pollution) เป็นต้น

· S – ด้านสังคม: ข้อมูลการจัดจ้างบุคลากรของทั้งองค์กรซึ่งรวมถึงบริษัทอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (value chains) แนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (human rights due diligence) สิทธิของชุมชน สังคมและผู้บริโภค เป็นต้น

· G – ด้านธรรมาภิบาล: ข้อมูลแนวปฏิบัติของธุรกิจ (business conduct) บทบาทของผู้บริหารในการกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการและการกำกับดูแลธุรกิจ การป้องกันและการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายฯ ไม่ว่าอยู่ในหรือนอกเขต EU มีหน้าที่ต้องรายงานตามกรอบแนวทางภายใต้ CSRD ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลของกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด (global value chain) โดยหลักเกณฑ์ที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าข่ายต้องรายงาน เช่น รายได้ ขนาดสินทรัพย์ จำนวนพนักงาน เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการไทยที่พบว่าตนเองเข้าข่ายต้องรายงานข้อมูล ควรตรวจสอบกฎหมายเฉพาะของประเทศสมาชิก EU ที่ตนเองมีกิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวข้องด้วย และดำเนินการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนตามที่มาตรฐานกำหนด

การรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนตามกฎระเบียบ CSRD และมาตรฐาน ESRS ของ EU เป็นการเปิดเผยและแสดงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวองค์กรเอง ในการใช้เพื่อวิเคราะห์ทั้งความเสี่ยงและโอกาส ตลอดจนนำไปสู่การกำหนดนโยบาย วางแผนกลยุทธ์ และบริหารจัดการธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ เช่น ผู้ลงทุน สถาบันการเงิน คู่ค้า ผู้บริโภค ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประเมินความยั่งยืนของผู้ประกอบการได้ด้วย ทั้งนี้ข้อมูลความยั่งยืนต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ครบถ้วน และตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (reputation risk) ซึ่งส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการนั้นอย่างแน่นอน