ไทยชูเยียวยาผลกระทบโลกร้อนเวทีCOP29 ผ่านกองทุนLoss &Damageปีละแสนล้าน
ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ กำลังเป็นผลสะท้อนจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อนที่เข้าสู่ภาวะโลกเดือนในขณะนี้
การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติประจำปี 2024 หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ COP29 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย.2567 นี้ ซึ่งไทยได้ร่วมการประชุมพร้อมใช้เวทีนี้พร้อมกำหนดท่าทีที่จะร่วมกันดูแลปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า โดยเมื่อ7 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมีเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 พร้อมคณะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่างแถลงการณ์ท่าทีประเทศไทยในที่ประชุม COP29 ที่มีสาระสำคัญ ว่าด้วย
ร่างกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาฯ ประจำปี พ.ศ. 2567 – 2568 ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศ พร้อมทั้งคำนึงถึงบริบทและขีดความสามารถของประเทศไทยในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส
โดยเน้นย้ำการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม การตั้งเป้าหมายใหม่ทางการเงินของประเทศพัฒนาแล้วเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาอย่างพอเพียงและเหมาะสม รวมถึงกลไกและขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนสำหรับความสูญเสียและความเสียหาย เป็นต้น
ท่าทีของไทยสอดคล้องกับ ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน ที่ว่าด้วยการดําเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียน ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการ AWGCC Action Plan อาทิ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change: ACCC) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationally Determined Contributions : NDC) และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้อาเซียนยังต้องการให้การดําเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสําคัญ อาทิ การสนับสนุนทางการเงิน การเสริมสร้างศักยภาพ และเทคโนโลยีเพื่อการดําเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลก ครั้งที่ 1 (the First Global Stocktake) การเร่งระดมเงินสนับสนุนให้กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี การเข้าถึงกองทุน เพื่อการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage)
รวมถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) การมีส่วนร่วมของสตรี เยาวชนและชุมชนท้องถิ่น และความเท่าเทียม รวมถึงการผลักดันแนวปฏิบัติ และกฎการดําเนินงานสําหรับข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article 6 of the Paris Agreement)
ในส่วนหลักการต่อการรับรองปฏิญญาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ เพื่อสร้างความพร้อมของระบบสาธารณสุข ชุมชน และประชาชน ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการดำเนินงานด้านสาธารณสุขรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
“โดยหลักการเข้าร่วมการประชุมCOP29` คร้้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน”
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่การประชุม COP 29 กำหนดประเด็นเจรจาที่สำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance หรือ NCQG) ภายหลังปี ค.ศ. 2025 ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทางการเงิน แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบท่าทีเจรจา ที่จะมีส่วนร่วมผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้ว ใส่เงินเข้ามาในกองทุนตามเป้าหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก สูงที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐ อินเดีย สหภาพยุโรป และรัสเซีย ส่วนไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก คิดเป็น 0.76% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก