‘ออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืน’ วิธีที่บริษัทเทคใช้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

‘ออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืน’ วิธีที่บริษัทเทคใช้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและธุรกิจขนาดเล็กหันมาใช้ “การออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืน” เพื่อต่อสู้กับผลข้างเคียงจากการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล

KEY

POINTS

  • “การออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืน” เป็นการออกแบบเว็บไซต์แบบเรียบง่าย หลีกเลี่ยงแอนิเมชันและกราฟิกที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้
  • บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่กำลังลงทุนในศูนย์ข้อมูลประหยัดพลังงาน โดยใช้พลังงานหมุนเวียน 
  • ธุรกิจให้บริการเว็บโฮสติงสีเขียวก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งบริการเหล่านี้มักใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียน

ในยุคที่ “อินเทอร์เน็ต” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่บนโลก แต่คงมีไม่กี่คนที่จะคิดว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก” ประมาณ 3.7% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก ซึ่งเท่ากับอุตสาหกรรมการบิน และใช้พลังงานคิดเป็น 1% ของพลังงานโลก มากกว่าอัตราการใช้พลังงานของหลายประเทศ

มาร์เกตา เบนิเซ็ก หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนทางดิจิทัลจาก Wholegrain Digital ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนทางดิจิทัลกล่าวว่า “ทุกกิจกรรมที่เราทำทางออนไลน์ปล่อยคาร์บอนออกมาเล็กน้อย แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและจำนวนสิ่งที่เราทำทางออนไลน์แล้ว ก็กลายเป็นจำนวนมาก

ออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืน

ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่ใช้งานอยู่ประมาณ 200 ล้านเว็บทั่วโลก และยังต้องพึ่งพาการจัดเก็บข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล ที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น ในทุกครั้งเราใช้งานอินเทอร์เน็ตก็เท่ากับเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปด้วยเช่นกัน

บริษัททั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กต่างก็พยายามลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนทางดิจิทัลลง หนึ่งในนั้นคือ “การออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืน” อย่างเช่น Coconut Design บริษัทออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืนและมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับบริษัทขนาดเล็ก โดยซิลลา สเลซซัค ผู้ก็ตั้งบริษัทดังกล่าวระบุว่า ธุรกิจนี้กำลังได้รับความสนใจจากธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งยุโรป 

“ในปีที่ผ่านมามีการติดต่อเข้ามาให้ออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเริ่มตระหนักว่าเว็บไซต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่ดีต่อโลกเท่านั้น แต่ยังดีต่อผลกำไรของพวกเขาด้วย” สเลซซัคกล่าว

Coconut Design สร้างเว็บไซต์ที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่ำมาก ด้วยปริมาณเทียบเท่าน้อยกว่า 0.2 กรัมต่อการดูหนึ่งเพจ ซึ่งต่ำกว่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ 0.9 กรัม ซึ่งทำได้โดยการเขียนโค้ดอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับแต่งรูปภาพอย่างเข้มงวด ด้วยไฟล์ภาพแบบใหม่เช่น WEBP และ AVIF 

“ทุกกิโลไบต์มีค่า เราตรวจสอบทุกองค์ประกอบของเว็บไซต์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เพียงแต่ใช้งานได้จริงเท่านั้น แต่ยังรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” เบนซ์ ซาไลหัวหน้าทีมพัฒนาของ Coconut Design อธิบาย 

ขณะที่ Wholegrain Digital ได้สร้างเว็บไซต์จำลองขึ้นมา 2 เว็บไซต์โดยใช้ชื่อว่า Yuck และ Yum ที่มีลักษณะเหมือนกันโดยพื้นฐาน แต่ใส่รายละเอียดบางอย่างที่ช่วยลดการใช้พลังงานลงในเว็บไซต์ Yum ซึ่งในที่สุดแล้วเว็บไซต์นี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือเพียง 1.4 กก. ส่วน Yuck มีปล่อยก๊าซมากถึง186 กก. (โดยอิงจากผู้เยี่ยมชม 60,000 รายต่อปี)

แนวทางการออกแบบเว็บไซต์ที่ยั่งยืน

เบนิเซ็กได้แบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดมากมายสำหรับการสร้างเว็บไซต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งยังสวยงาม สนุก ใช้งานง่าย และครอบคลุมสำหรับผู้พิการหรือผู้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ดี ด้วยกฎ 3 ข้อคือ 

1.วัดการปล่อยปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเว็บไซต์ เพื่อตรวจวัดว่าในเว็บไซต์มีปริมาณคาร์บอนมากเพียงใด โดยสามารถใช้เครื่องคำนวณคาร์บอนที่มีอยู่มากมายทางออนไลน์ อย่างไรก็ตามแต่ละเครื่องมือมีวิธีการวัดและขั้นตอนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นผลลัพธ์อาจแตกต่างกัน

2.เปลี่ยนไปใช้โฮสต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าเว็บโฮสติ้งที่ใช้งานอยู่นั้นสามารถให้พลังงานสีเขียวหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของ Green Web Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรอิสระที่ติดตามอินเทอร์เน็ตใช้พลังงานสีเขียว

3.ลดการถ่ายโอนข้อมูล ด้วยการเขียนโค้ดที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ ใช้กราฟิก SVG และ CSS แทน JPEG, PNG และ GIF และอัปโหลดรูปภาพในขนาดที่ถูกต้อง ไม่ควรใช้ CSS เพื่อปรับขนาด รวมถึงไม่ควรตั้งค่าวิดีโอให้เล่นอัตโนมัติ ให้ผู้ใช้เลือกดูเฉพาะสิ่งที่สนใจเท่านั้น ตลอดจนลดการใช้แบบอักษรที่กำหนดเอง แนะนำให้ใช้แบบอักษรเว็บสมัยใหม่ เช่น WOFF และ WOFF2 ซึ่งใช้วิธีการบีบอัดข้อมูลสูง อีกทัั้งยังสามารถลดสคริปต์การติดตามและโฆษณาที่ไม่ค่อยให้คุณค่ากับผู้ใช้

นอกจากนี้ ควรตั้งคำถามถึงการรวมทุกแง่มุมของไซต์ หากไม่มีประโยชน์ควรละเว้น และใช้โซลูชันแคชเพื่อลดปริมาณการประมวลผลที่จำเป็นในการโหลดหน้า

สเลซซัคสนับสนุนให้ออกแบบเว็บไซต์แบบเรียบง่าย หลีกเลี่ยงแอนิเมชันที่ไม่จำเป็น วิดีโอที่เล่นอัตโนมัติ หรือกราฟิกมากเกินไป ซึ่งจะใช้เวลาในการโหลดหน้าเว็บนานขึ้นและการใช้พลังงานมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเว็บไซต์ที่สวยงามไม่จำเป็นต้องใช้กราฟิกขนาดใหญ่

อีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยลดมลภาวะทางดิจิทัลได้อย่างที่คาดไม่ถึง นั่นคือการเปิด “โหมดมืด” (Dark Mode) โดยข้อมูลจากเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ (X) ซึ่งทั้งสองแพลตฟอร์มได้เปิดตัวตัวเลือกโหมดมืด พบว่า โหมดมืดสามารถลดการใช้พลังงานได้มากถึง 63% บนจอแสดงผล OLED 

ลงทุนพลังงานหมุนเวียน

นอกจากการเปลี่ยนรูปแบบเว็บไซต์ ซึ่งเป็นส่วนของซอฟต์แวร์แล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับการปรับแต่งฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์ การปรับปรุงประสิทธิภาพของโค้ด และการนำแนวทางการจัดการข้อมูลอัจฉริยะมาใช้ด้วยเช่นกัน

บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่กำลังลงทุนในศูนย์ข้อมูลประหยัดพลังงานที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น Google เพิ่งประกาศว่าศูนย์ข้อมูลทั้งหมดใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ขณะที่ Microsoft ได้ให้คำมั่นว่าภายในปี 2030 จะปล่อยคาร์บอนติดลบ ซึ่งเป็นการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปริมาณที่ปล่อยออกมา ขณะที่ Amazon Web Services ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2025

ขณะที่ ธุรกิจให้บริการเว็บโฮสติงสีเขียวก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งบริการเหล่านี้มักใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ผู้ให้บริการบางรายยังมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนมากกว่านั้น เช่น GreenGeeks ผู้ให้บริการเว็บไซต์ได้นำแบบจำลองคาร์บอนเป็นลบมาใช้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการจำลองเสมือนเซิร์ฟเวอร์ (Server Virtualization) ยังช่วยให้เว็บไซต์หลายแห่งสามารถแบ่งปันทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ฮาร์ดแวร์ได้อย่างเต็มที่และลดการสูญเสียพลังงานให้เหลือน้อยที่สุด

ประโยชน์ของการออกแบบเว็บไซต์อย่างยั่งยืนมีมากกว่าแค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทที่นำแนวทางปฏิบัตินี้มาใช้อาจทำให้อันดับ SEO ที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ที่ดีขึ้น ขณะที่เจ้าของเว็บไซต์ใช้ต้นทุนลดลง ยิ่งไปกว่านั้นเว็บไซต์ยังทำงานได้ดีแม้ในอุปกรณ์รุ่นเก่า ซึ่งอาจช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ จากการยืดอายุการใช้งานของฮาร์ดแวร์


ที่มา: Fast CompanyHappy EconewsWired