สนค. แนะผู้ประกอบการ PCB ปรับกระบวนการผลิตรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

สนค. แนะผู้ประกอบการ PCB ปรับกระบวนการผลิตรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

สนค. ติดตามแนวโน้มตลาดแผงวงจรพิมพ์ (PCB) พบการบังคับใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมแนะผู้ประกอบการศึกษาข้อกำหนดและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับกิจการให้พร้อมรับยุคเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า "แผงวงจรพิมพ์"(PCB)  ถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้า มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของอุปกรณ์ไฟฟ้า

จากข้อมูลของ Precedence Research ผู้ให้บริการชั้นนำด้านข้อมูลตลาดเชิงลึก ระบุว่า ในปี 2023 อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ทั่วโลกมีมูลค่า 86.8 พันล้านดอลลาร์  และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง  5.8%  ต่อปี จนมีมูลค่า 152.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2033 จากอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผงวงจรพิมพ์ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ในยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับส่วนแบ่งตลาดแผงวงจรพิมพ์โลกแบ่งตามภูมิภาค พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก มีสัดส่วน 47.14 % รองลงมา อเมริกาเหนือ สัดส่วน 27.14 %  และ ยุโรป สัดส่วน  18.2%

ขณะที่ด้านการผลิตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นแหล่งผลิตหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า  90 %  ของจำนวนแผงวงจรพิมพ์ทั้งหมดในโลก โดยมีผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์รายใหญ่ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ไต้หวัน ถือเป็นผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์อันดับหนึ่งของโลกมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและกำลังการผลิตมากที่สุด

ในปี 2023 มูลค่าการส่งออกแผงวงจรพิมพ์ของไทย อยู่ที่ 9.7 พันล้านดอลลาร์  ขยายตัว 4.3 % จากปี 2022 (9.3 พันล้านดอลลาร์ ) โดยส่งออกไปที่ ฮ่องกง มากที่สุด เป็นมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทยนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในประเทศจาก ไต้หวัน มากที่สุด เป็นมูลค่า 7.3 พันล้านดอลลาร์

สนค. แนะผู้ประกอบการ PCB ปรับกระบวนการผลิตรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า  จากข้อมูลของสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (TPCA) พบว่า ในปี 2023 ประเทศไทยมีการผลิตแผงวงจรพิมพ์ คิดเป็นสัดส่วน  3.8 % ของกำลังการผลิตรวมของโลก และคาดการณ์ว่า สัดส่วนจะเติบโตขึ้นเป็น 4.7 % ในปี 2025 จากการลงทุนของผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์ระดับโลก

โดยไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความพร้อมในหลายด้าน อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ต้นทุนการผลิตที่ต่ำและค่าแรงที่ไม่สูงมาก แรงงานในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมทั้งการคมนาคมและโทรคมนาคม

ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำมากกว่า 20 บริษัท ได้ประกาศแผนการลงทุนการผลิตในเมืองไทย โดยสาเหตุหลักของการย้ายฐานการผลิตมาจากประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของโลก ทำให้กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและมีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ต่ำ

อย่างไรก็ตาม กระแสการย้ายฐานการผลิตแผงวงจรพิมพ์มาที่อาเซียน ไม่ได้นำพาแค่โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ในการเข้าเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทผู้ผลิตระดับโลก

แต่ยังมาพร้อมกับการบังคับใช้ข้อกำหนดและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นความท้าทายใหม่ของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย เนื่องจากกระแสสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝั่งผู้บริโภค เช่น การแยกขยะและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสีเขียวต่าง ๆ แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่ภาคการเงินและภาคธุรกิจ เห็นได้จากมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักของ ESG  ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก

สนค. แนะผู้ประกอบการ PCB ปรับกระบวนการผลิตรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

โดย Bloomberg สำนักข่าวด้านการเงินชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่ามูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท ESG ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จะพุ่งสูงถึง 25 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

นอกจากนี้ การบังคับใช้มาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่อยู่ในนโยบาย European Green Deal  ของสหภาพยุโรป เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)  ในปี 2050 อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศออกมาตรการบังคับให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องจัดทำรายงานการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (ESG Report)  เป็นประจำทุกปี

รวมถึงประเทศไทยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องนำส่ง แบบ 56-1 One Report  ต่อ ก.ล.ต. ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายด้านความยั่งยืน กำลังกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายทางธุรกิจที่บริษัทจะต้องทำให้สำเร็จผลควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรสูงสุด ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก เช่น Apple, Microsoftและ NVIDIA ได้ออกข้อบังคับสำหรับการตรวจสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดการใช้พลังงานในการผลิต ที่จะบังคับใช้กับทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องในทุกจุดของขั้นตอนการผลิต

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2025 – 2030 บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถทำตามหลักของ ESG และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะโดนตัดออกจากเครือข่ายซัพพลายเออร์ของบริษัทไต้หวันซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญของอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ไทยอีกทั้งยังเป็นซัพพลายเออร์แผงวงจรพิมพ์รายใหญ่ให้กับบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ เช่น Apple และ NVIDIA มีความตื่นตัวในการตอบสนองต่อมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างมาก

โดยภาครัฐได้ออกมาตรการในช่วงต้นปี 2024 ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องส่งรายงาน ESG Report ภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี ในขณะที่ภาคเอกชน อาทิ บริษัท APEX ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์สัญชาติไต้หวัน ที่ตั้งฐานผลิตในไทยมากว่า 3 ทศวรรษ ได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจตามแนวทาง ESG ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อตอบสนองต่อข้อบังคับทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทคู่ค้า อาทิ การใช้พลังงานยั่งยืน (Renewable Energy) และการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ

โดยในปี 2023 APEXประสบความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนขึ้นเป็นมากกว่า  2 % ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด จากการพัฒนาและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิต 5.1 เมกะวัตต์ (MWp) ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่อปีไปได้มากกว่า 3,700 ตัน อีกทั้งยังสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตได้  11 % ส่งผลให้ประหยัดปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ไปได้ถึง 14,904 MWp ต่อปี

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมสีเขียวนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยความเข้มข้นของวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นำไปสู่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะบังคับใช้ครอบคลุมไปทุกจุดของห่วงโซ่อุปทาน

"ผู้ประกอบการแผงวงจรพิมพ์ไทยควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด และมาตรการเหล่านี้ เพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักของ ESG ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของโลกในยุคนี้ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัท และสร้างโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายซัพพลายเออร์ของบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก"นายพูนพงษ์ กล่าว

 ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลและการให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการเป็นฐานการผลิตแผงวงจรพิมพ์ในภูมิภาคอาเซียน