‘สหรัฐ’ แล้งเกือบทั้งประเทศ ฝนไม่ตกทั้งเดือน ‘ลานีญา’ จ่อซ้ำแห้งกว่าเดิม

‘สหรัฐ’ แล้งเกือบทั้งประเทศ ฝนไม่ตกทั้งเดือน ‘ลานีญา’ จ่อซ้ำแห้งกว่าเดิม

ตามรายงานของ หน่วยติดตามภัยแล้งของสหรัฐ (U.S. Drought Monitor) พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐกำลังประสบกับ “ภัยแล้ง” อย่างเห็นได้ชัด พื้นที่เกือบ 80% ของประเทศประสบเริ่มประสบภัยแล้ว และมีมากกว่า 45% อยู่ในภาวะแห้งแล้งฉับพลัน

KEY

POINTS

  • ตุลาคม 2024 กลายเป็นเดือนตุลาคมที่แห้งแล้งที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการบันทึกไว้ มีแนวโน้มว่าเดือนนี้จะเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์
  • ภัยแล้งในแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 12% ในเดือนมิถุนายน 2024 เป็น 45% ในเดือนตุลาคม 2024 โดยภัยแล้งเริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนสิงหาคม
  • บริเวณความกดอากาศสูงที่ทอดตัวอยู่บริเวณตอนเหนือ-ตอนกลางของสหรัฐ ทำให้ครึ่งตะวันออกของประเทศมีลมแล้งพัดตลอดเวลา

ตามรายงานของ หน่วยติดตามภัยแล้งของสหรัฐ (U.S. Drought Monitor) พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐกำลังประสบกับ “ภัยแล้ง” อย่างเห็นได้ชัด พื้นที่เกือบ 80% ของประเทศประสบเริ่มประสบภัยแล้ว และมีมากกว่า 45% อยู่ในภาวะแห้งแล้งฉับพลัน

ตุลาคม 2024 กลายเป็นเดือนตุลาคมที่แห้งแล้งที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการบันทึกไว้ ตั้งแต่รัฐเท็กซัสขึ้นไปทางเหนือจนถึงมิดเวสต์ รวมถึงทางตอนใต้ของประเทศ ไปจนถึงฝั่งมิดแอตแลนติกแห้งแล้งอย่างไม่เคยมาก่อน โดยฟิลาเดลเฟีย แอตแลนตา แนชวิลล์ เซนต์หลุยส์ มินนีแอโพลิส แคนซัสซิตี และแดลลัส ไม่มีฝนตกมาเลยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน ที่เกิดพายุเฮอริเคนเฮเลนพัดถล่ม 

นอกจากนี้ นี่ยังเป็นครั้งแรกที่นครนิวยอร์กไม่มีฝนเลย นับตั้งแต่ที่มีการบันทึกข้อมูลในปี 1869 และมีความเป็นไปได้ที่ตุลาคม 2024 จะกลายเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดของนิวยอร์ก แซงหน้ามิถุนายน 1949 ที่มีฝนตกเพียง 0.02 นิ้ว 

 

แล้งเกือบทั้งประเทศ

ภัยแล้งฉับพลัน” กำลังเกิดขึ้นทั่วสหรัฐและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว เกิดจากสภาพอากาศแห้งแล้งและอบอุ่นในระยะสั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ 

การเปลี่ยนแปลงของกระแสลมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภัยแล้งในสหรัฐ บริเวณความกดอากาศสูงที่ทอดตัวอยู่บริเวณตอนเหนือ-ตอนกลางของสหรัฐ ที่ส่วนใหญ่มาจากแคนาดา ทำให้ครึ่งตะวันออกของประเทศมีลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดอยู่ตลอดเวลา โดยลมชนิดนี้ถือว่าเป็น “ลมแล้ง” ทำให้เกิดอากาศแห้ง เห็นได้จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ตอนนี้มีลมจากทิศเหนือ-ตะวันตกเฉียงเหนือพัด ทั้ง ๆ ที่ปรกติแล้วในเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีลมพัดมาจากทิศใต้

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งเรื้อรังทั้งเดือนคือ “ความกดอากาศสูงส่งผลให้ 28 รัฐตั้งแต่มิชิแกนไปจนถึงลุยเซียนาและเดลาแวร์ไม่มีเมฆในเวลาเดียวกัน

ไบรอัน เบรตต์ชไนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศจากอะแลสกา เปิดเผยว่า มีแนวโน้มว่าเดือนนี้จะเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ เพราะ 48 รัฐในแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐมีฝนตกเฉลี่ย 0.57 นิ้ว ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำมากเป็นรองเพียงเดือนตุลาคม 1952 ที่ทั้งประเทศมีฝนตกเฉลี่ยเพียง 0.52 นิ้วเท่านั้น

สภาพภัยแล้งในแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 12% ในเดือนมิถุนายน 2024 เป็น 45% ในเดือนตุลาคม 2024 โดยภัยแล้งเริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนสิงหาคม

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า กระแสลมกรดจะทำให้บางส่วนของภาคกลางของสหรัฐไปจนถึงฝั่งมิดเวสต์มีโอกาสเกิดฝนตกมากกว่าปรกติในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะที่พื้นที่แห้งแล้งอื่น ๆ จะยังคงไม่มีฝนตกต่อไป 

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ หรือ NOAA ที่ระบุว่า ภาวะแห้งแล้งจะไม่ดีขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ ที่ราบ และบางส่วนของมิดเวสต์ตอนบน เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่กำลังจะกลับขึ้นจะยิ่งทำให้ภาวะแห้งแล้งรุนแรงขึ้น 

อุตสาหกรรมอาหารยังไม่ได้รับผลกระทบ

โจเซฟ กลอเบอร์ นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศและอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐกล่าวกับ ABC News ว่าอาจเป็นเรื่องดีที่พืชผลจำนวนมากในภูมิภาคที่เกิดภัยแล้งถูกเก็บเกี่ยวไปแล้ว ซึ่งหมายความว่าผลผลิตโดยรวมไม่น่าจะได้รับผลกระทบหนัก โดยคาดว่าพืชผลฤดูร้อนบางส่วนจะมีผลผลิตในระดับสูงสุด ผลผลิตทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองจะอยู่ที่ 183.8 และ 53.1 บุชเชลต่อเอเคอร์ตามลำดับ ตามรายงานล่าสุดของสำนักงานสถิติการเกษตรแห่งชาติของกระทรวงเกษตรสหรัฐ 

ทั้งนี้ความแห้งแล้งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของพืชผลที่เก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วงได้ เช่น น้ำหนักของผลผลิต การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของสภาพอากาศที่แห้งแล้งส่งผลให้พืชผลในฤดูร้อนสุกและเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น 

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ถั่วเหลืองของสหรัฐ มากกว่า 81% และข้าวโพด 65% ได้รับการเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเก็บเกี่ยวในรอบ 5 ปีที่ 67% และ 52% ตามลำดับ

ภัยแล้งในฤดูใบไม้ร่วงยังส่งเกิดผลกระทบเป็นระลอกในฤดูกาลต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย โดยเฉพาะในด้านราคาอาหาร สำนักงานบริการงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งสหรัฐ (USDA Economic Research Services) คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2% แต่ถ้าหากมีการนำพืชผลเหล่านี้ไปเลี้ยงปศุสัตว์ ก็อาจเกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อราคาผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ ปศุสัตว์ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาพื้นที่เลี้ยงสัตว์และทุ่งหญ้าเสื่อมโทรม อีกทั้งความชื้นในดินที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกพืชในฤดูใบไม้ร่วง และปลูกข้าวสาลีฤดูหนาว ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ พบว่าในเดือนตุลาคม 2024 พื้นที่เลี้ยงสัตว์และทุ่งหญ้าในสหรัฐ เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ถูกประเมินว่าอยู่ในสภาพแย่ถึงแย่มาก

แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่คาดว่าราคาอาหารจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยปกติแล้ว ราคาจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์จากตลาดโลก เช่น สงครามในยูเครนซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวสาลี มักทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

“ถ้าจำแนกราคาสินค้าและอาหารที่จำหน่ายตามร้านออกมา จะมีสัดส่วนเพียง 25% เท่านั้นที่เป็นค่าใช้จ่ายจากฟาร์ม อีก 75% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดหลังจากออกจากฟาร์มไปแล้ว เช่น ต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการจัดจำหน่าย รวมไปถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราค่าจ้าง ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19”

แต่เมื่อภาวะโลกร้อนเลวร้ายลง สภาพอากาศเลวร้ายส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและอาหาร สุดท้ายแล้วก็ส่งผลต่อราคาอาหารในวงกว้าง


ที่มา: ABC NewsWashington PostDrought