‘ยูเอ็น’ เตือน โลกร้อนขึ้น 3.1°C ภายในปี 2100 หากไม่ลดก๊าซเรือนกระจกจริงจัง

‘ยูเอ็น’ เตือน โลกร้อนขึ้น 3.1°C ภายในปี 2100 หากไม่ลดก๊าซเรือนกระจกจริงจัง

“ยูเอ็น” เตือนภายในปี 2100 โลกจะร้อนขึ้น 3.1 องศาเซลเซียส หากรัฐบาลทั่วโลกยังคงทำตามนโยบายในปัจจุบัน และไม่คิดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง

KEY

POINTS

  • ยูเอ็น” เตือนโลกจะร้อนขึ้น 3.1 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 หากรัฐบาลทั่วโลกยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง
  • UNEP คำนวณว่าประเทศต่าง ๆ จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีลง 42% ภายในปี 2030 และขยับเป็น 57% ภายในปี 2035 ถึงจะยังรักษาเป้าหมายคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
  • การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยการระดมกำลังระดับนานาชาติที่ไม่เคยมีมาก่อน

ยูเอ็น” เตือนภายในปี 2100 โลกจะร้อนขึ้น 3.1 องศาเซลเซียส หากรัฐบาลทั่วโลกยังคงทำตามนโยบายในปัจจุบัน และไม่คิดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง

หากอุณหภูมิเพิ่มถึง 3.1 องศาเซลเซียส จะทำให้โลกอยู่ในหายนะรุนแรง เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อนและน้ำท่วม เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการทำงานกลางแจ้งภายใต้อุณหภูมิที่สูงขนาดนี้แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

รายงาน Emissions Gap ฉบับล่าสุดของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP พบว่าประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุคำมั่นสัญญาที่จะลดควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 ได้ โดยการดำเนินนโยบายปัจจุบันต่อไปคาดว่าจะจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 3.1 องศาเซลเซียส (ช่วง 1.9-3.8 องศาเซลเซียส) ตลอดศตวรรษนี้

แม้ว่าจะทำตามคำมั่นสัญญาอุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นได้ถึง 2.6-2.8 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ยังคงอยู่ในระดับหายนะอยู่ดี จนถึงขณะนี้ โลกของเราร้อนขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรม 1.1 องศาเซลเซียส และเรารู้สึกถึงผลกระทบในหลายระดับ ทั้งจากสภาพอากาศเลวร้ายที่เพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

“ช่วงเวลาวิกฤติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาถึงแล้ว เราต้องระดมพลทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และเริ่มทันที ก่อนที่จะมีคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรอบต่อไป ไม่เช่นนั้นเป้าหมายคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะล้มเหลวในไม่ช้า”
อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหารของ UNEP กล่าว

แอนเดอร์เซนกล่าวเสริมว่า “ฉันขอร้องให้ทุกประเทศเลิกพูดโอ้อวดกันเสียที ใช้เวที COP29 ที่กำลังจะมีขึ้นในอาเซอร์ไบจาน สำหรับเพิ่มการดำเนินการให้มากขึ้น เตรียมการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดที่เข้มแข็งขึ้น แล้วทุ่มเทสุดกำลังเพื่อไปคุมให้อยู่ใน 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้”

การจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C ยังคงเป็นไปได้ ?

ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงปารีส ประเทศต่าง ๆ จะต้องส่งแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือ NDC ใหม่ทุก 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศจะลดการปล่อยก๊าซภายในประเทศอย่างไร เพื่อให้โลกไม่ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม

NDC รอบต่อไปจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรจะประกาศ  NDC ใหม่ภายใน COP29 หรือไม่นานหลังจากนั้น

UNEP คำนวณว่าประเทศต่าง ๆ จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีลง 42% ภายในปี 2030 และขยับเป็น 57% ภายในปี 2035 มิฉะนั้นก็จะ โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสก็จะหายไปภายในพริบตา

เป้าหมายของข้อตกลงปารีส คือการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และดำเนินความพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

เพื่อให้รักษาระดับอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์สูงสุดที่ 2 องศาเซลเซียส UNEP ระบุว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลง 28% ภายในปี 2030 และ 37% จากระดับการปล่อยก๊าซปี 2019 ภายในปี 2035 ซึ่งเป็นปีเป้าหมายสำคัญใหม่ที่จะรวมอยู่ใน NDC รอบต่อไป

“ต่อให้โลกจะมีอุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งโอกาสที่เป็นไปได้สูง แต่เราก็ต้องพยายามต่อไป เพื่อให้โลกเป็นโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีความยั่งยืน และเจริญรุ่งเรือง” แอนเดอร์เซนกล่าวเสริม

“การหลีกเลี่ยงได้ในทุก ๆ ส่วนขององศามีความสำคัญในแง่ของการช่วยชีวิต เศรษฐกิจปลอดภัยจากความเสียหายที่หลีกเลี่ยงได้ ความหลากหลายทางชีวภาพยังคงอยู่ และความสามารถในการลดอุณหภูมิที่เกินอย่างรวดเร็ว”

พลังงานหมุนเวียนทางออกลดก๊าซเรือนกระจก

หากลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 31 กิกะตันในปี 2030 ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปี 2023 และลดลงได้ 41 กิกะตันในปี 2035 ก็สามารถบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสได้ในทางเทคนิค

พลังงานหมุนเวียน” จะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในรายงานของ UNEP พบว่าการนำเทคโนโลยี “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังงานลม” มาใช้เพิ่มขึ้น อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 27% ของศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในปี 2030 และ 38% ในปี 2035

ในขณะเดียวกัน การปกป้องรักษาป่าไม้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 20% ของศักยภาพทั้งหมด นอกจากนี้ UNEP ยังเน้นย้ำถึงโอกาสสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียน และเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าภายในอาคาร การขนส่ง และอุตสาหกรรม

แต่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยการระดมกำลังระดับนานาชาติที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งประเทศต่าง ๆ ต้องมุ่งให้แต่ละหน่วยงานตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนและของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือที่เรียกว่า Whole-of-the Government Approach ในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของตน โดยเฉพาะประเทศสมาชิก G20 ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 80% ของทั้งหมด จะต้องมีส่วนรับผิดชอบหน้าที่นี้เป็นสำคัญ

อันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “เรากำลังเล่นกับไฟ แต่ไม่สามารถเล่นกับเวลาได้อีกต่อไป ซึ่งการปิดช่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นการปิดช่องว่างแห่งความทะเยอทะยาน ช่องว่างในการดำเนินการ และช่องว่างทางการเงิน โดยเริ่มต้นที่การประชุม COP29”

 

ที่มา: BBCEuro NewsReuters