‘สเปน’ อ่วม เจอ ‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ พร้อมกัน ผลกระทบ ‘โลกร้อน’ ที่หนีไม่พ้น

‘สเปน’ อ่วม เจอ ‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ พร้อมกัน ผลกระทบ ‘โลกร้อน’ ที่หนีไม่พ้น

สเปนเจอทั้ง “ภัยแล้ง” และ “ฝนตกหนัก” ในเวลาเดียวกัน มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีส่วนทำให้วงจรน้ำบิดเบี้ยวไปจากเดิม

KEY

POINTS

  • สเปนเจอทั้ง “ภัยแล้ง” และ “ฝนตกหนัก” ในเวลาเดียวกัน เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น
  • น้ำท่วมครั้งนี้คร่าชีวิตคนไปร่วม 100 ราย กลายเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสเปน
  • ภัยแล้งทำให้ดินแห้งเหือดและแผ่นดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้เมื่อฝนตกหนัก หลายเมืองมีน้ำอยู่อย่างจำกัด

สเปน” เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ของสเปน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย และพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าน้ำฝนเฉลี่ยรายปีเสียอีก กลายเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสเปน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศพบว่า “ภาวะโลกร้อน” ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และฝนตกหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝนที่ตกหนักเหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดร.ฟรีเดอริเก ออตโต หัวหน้าโครงการ World Weather Attribution (WWA) ที่ศูนย์นโยบายสิ่งแวดล้อมของอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนกล่าว

อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนเกือบจะแตะ 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลต่าง ๆ ตกลงกันที่จะพยายามหยุดยั้งภาวะโลกร้อนในข้อตกลงปารีสปี 2015 

“ทุกวินาทีที่เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น ชั้นบรรยากาศจะกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนักขึ้น อุทกภัยร้ายแรงเหล่านี้เป็นอีกสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นอันตรายมากเพียงใด” ออตโตกล่าว

ในช่วงเวลาเดียวกัน มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีส่วนทำให้วงจรน้ำบิดเบี้ยวไปจากเดิม ความร้อนทำให้น้ำระเหย ทำให้ผู้คนและพืชแห้งแล้ง ทั้งนี้ลมร้อนสามารถกักเก็บความชื้นไว้ได้มากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดฝนตกหนักได้ กลายเป็นว่าสเปนเจอทั้ง “ภัยแล้ง” และ “ฝนตกหนัก” ในเวลาเดียวกัน

‘สเปน’ อ่วม เจอ ‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ พร้อมกัน ผลกระทบ ‘โลกร้อน’ ที่หนีไม่พ้น บ้านเมืองได้รับความเสียหายหลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในสเปน
เครดิตภาพ: REUTERS/Eva Manez

ภูมิภาค “ยุโรปใต้” ทั้งสเปน โปรตุเกส อิตาลี และกรีซกำลังเผชิญกับอันตรายที่ทวีคูณและผลกระทบแบบลูกโซ่ คลื่นความร้อนกำลังเปลี่ยนป่าให้กลายเป็นกล่องไม้ขีดไฟ เกิดไฟป่าร้ายแรงทำให้ทั้งเมืองเต็มไปด้วยควัน นอกจากนี้ภัยแล้งทำให้ดินแห้งเหือดและแผ่นดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้เมื่อฝนตกหนักเป็นพิเศษ ทำให้เหลือน้ำอยู่อย่างจำกัด เมืองต่าง ๆ เช่น บาร์เซโลนา ต้องบังคับใช้ข้อจำกัดฉุกเฉินในการใช้น้ำ

สเตฟาโน มาเตเรีย นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศชาวอิตาลีจากศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์บาร์เซโลนา กล่าวว่า ภัยแล้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศผ่านการเปลี่ยนแปลงการหมุนเวียนของบรรยากาศ ในเวลาเดียวกับที่อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้ภูมิภาคนี้ร้อนขึ้นอย่างรุนแรง

“ภัยแล้งและอุทกภัยเป็นสองด้านของเหรียญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นั่นหมายถึงพลังงานที่มากขึ้น ไอระเหยของน้ำที่มากขึ้น เกิดความไม่เสถียรที่มากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดพายุที่น่ากลัวเมื่อสภาพบรรยากาศเอื้ออำนวย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเปรียบเสมือนระเบิดเวลาในปัจจุบัน” 

ขณะที่ “ยูเอ็น” ได้ออกมาเตือนว่าภายในปี 2100 โลกจะร้อนขึ้น 3.1 องศาเซลเซียส หากรัฐบาลทั่วโลกยังคงทำตาม นโยบายในปัจจุบัน โดยไม่คิดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง หากอุณหภูมิเพิ่มถึง 3.1 องศาเซลเซียส จะทำให้โลกอยู่ในหายนะรุนแรง เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน และน้ำท่วม เพิ่มขึ้นอย่างมาก และไม่สามารถทำงานกลางแจ้งได้

‘สเปน’ อ่วม เจอ ‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ พร้อมกัน ผลกระทบ ‘โลกร้อน’ ที่หนีไม่พ้น ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดต่ำลง จนทำให้เห็นซากโรงสียุคโบราณผุดขึ้นมา
เครดิตภาพ: JOSEP LAGO / AFP

ทีม WWA ของพัฒนาโปรโตคอลสำหรับประเมินอย่างรวดเร็วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก่อให้เกิดหรือทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายรุนแรงขึ้นในระดับใด โดยได้รับความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ โดยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากมนุษย์สร้างมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายที่ร้ายแรงที่สุด 10 ครั้งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

สำหรับตัวอย่างภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด 10 ครั้งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ เหตุการณ์ความอดอยากในช่วงวิกฤติอาหารในโซมาเลียในปี 2010-2012 ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 258,000 โดยครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก และ พายุไซโคลนนาร์กีสคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 138,000 รายในเมียนมาร์ในปี 2008 

“ความเปราะบางและความเสี่ยงของประชากรทำให้ภัยทางอุตุนิยมวิทยากลายเป็นภัยพิบัติทางมนุษยธรรม” รายงานดังกล่าวระบุ

แม้ว่าพลเมืองของประเทศที่ร่ำรวยอาจมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะปลอดภัยจากอันตรายของสภาพอากาศที่เลวร้ายมาก เหตุการณ์ที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดสองเหตุการณ์เมื่อไม่นานนี้คือ คลื่นความร้อนในยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกในปี 2022 และ 2023 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 90,000 ราย

นักวิจัยเตือนว่าในหลายกรณี จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่รายงานมาอาจต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศยากจน

“มีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากสภาพอากาศที่เลวร้ายอยู่บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.3 หรือ 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียสอย่างดี” รูพ สิงห์ ที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านสภาพอากาศจากศูนย์ภูมิอากาศของสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศกล่าว 

สิงห์กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกประเทศจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกประเทศจำเป็นต้องลดการปล่อยมลพิษ และนั่นคือสาระสำคัญสำหรับผู้นำระดับโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่จะจัดขึ้นที่อาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย. 2567

ประเด็นหลักของวาระการประชุมครั้งนี้ คือ การตั้งกองทุนใหม่สำหรับช่วยประเทศกำลังพัฒนาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะทำให้ภาวะโลกร้อนแย่ลงไปอีก

“COP29 ต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีเงินทุนจำนวนมากที่มอบให้กับกองทุนเพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหาย เพราะเงิน 700 ล้านดอลลาร์ที่มอบให้กับ COP28 นั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเมื่อเทียบกับความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์ที่ประเทศยากจนประสบในแต่ละปี” จอยซ์ คิมูไท นักวิจัยจากศูนย์นโยบายสิ่งแวดล้อมของอิมพีเรียลกล่าว

ปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีมา โดยทำลายสถิติที่ทำได้ในปี 2023 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ซยอกเจ ฟิลิป นักวิจัยจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาเนเธอร์แลนด์ เตือนว่า ต่อไปนี้จะมีหลักฐานที่แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกับสภาพอากาศสุดขั้วอย่างไรเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่


ที่มา: BBCEuro NewsThe Guardian