เปิดฉาก COP29 เวทีหารือแหล่งทุนก้อนใหญ่ หนุนประเทศกำลังพัฒนาลดโลกร้อน

เปิดฉาก COP29  เวทีหารือแหล่งทุนก้อนใหญ่ หนุนประเทศกำลังพัฒนาลดโลกร้อน

ประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรพลาดเข้าร่วม COP29 เนื่องจากมีแหล่งการเงินใหม่เพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (NCQG) สืบทอดจากคำมั่นสัญญาเดิมที่มีมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จับตามองท่าทีชาติมหาอำนาจในการลงขัน ขณะที่ไทยเสนอจุดยืนเข้าถึงความช่วยเหลือการเงิน

การประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 29 (COP29) ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยงานสำคัญครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้ธีมหลัก “In Solidarity for a Green World” ที่ประกอบด้วยเสาหลัก 3 ประการ คือ

การจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 1.5˚C, เสริมสร้างความทะเยอทะยาน และสนับสนุนการดำเนินการ (Enhancing Ambition and Enabling Action) และการรับรองกระบวนการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มความมุ่งมั่นดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นโดดเด่นของการประชุม COP29 คือ การจัดหาเงินทุนสีเขียว (Green Funding) เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะกับประเทศที่ยากจน ที่หลายประเทศมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุดแต่กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากเรียกการประชุม COP29 ว่า "การประชุม COP ด้านการเงิน"

เปิดฉาก COP29  เวทีหารือแหล่งทุนก้อนใหญ่ หนุนประเทศกำลังพัฒนาลดโลกร้อน

เจาะลึกวาระสำคัญในการประชุม COP29

สำหรับสาระสำคัญของการประชุม COP29 ครั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจได้สรุปประเด็น ดังนี้

1. การเงินด้านสภาพภูมิอากาศ : การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การกำหนดเป้าหมายการเงินใหม่เพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ซึ่งสืบทอดสัญญาที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เป้าหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวรับมือผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามีความหวังที่จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่ชัดเจนทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Highly Concessional Loan)

2. การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก : NDC (Nationally Determined Contribution) เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ จะปฏิบัติตามเป้าภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยแผนงานรอบต่อไปเรียกว่า NDCs 3.0 (ฉบับที่ 2) หรือแผนปฏิบัติการแห่งชาติปี 2035 จะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 จนถึงปี 2035 ซึ่งช่วยปรับแนวทางการดำเนินการในระยะสั้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาว

เช่น เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ (ปี 2050) นอกจากนั้น NDCs 3.0 คำนึงถึงกระบวนการทบทวนครั้งใหญ่ The First Global Stocktake (GST-1) หมายเพื่อประเมินความก้าวหน้าร่วมกันของประเทศต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ที่นับว่ามีความท้าทายมากยิ่งขึ้นที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

3. การชดเชยและความเสียหาย (Loss and Damage) : การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่ประสบผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกินกว่าความสามารถในการปรับตัว รวมถึงการสนับสนุนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เช่น พายุหมุน และน้ำท่วม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการรุกลํ้าของน้ำเค็ม ซึ่งกองทุนนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นใน COP28 โดย COP29 จะเจรจาถึงการเข้าถึงกองทุนนี้ที่มีความชัดเจนในด้านข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และแนวทางการขอรับการสนับสนุน

4. Paris Agreement ข้อ 6 : มุ่งเน้นไปที่การดำเนินการร่วมกัน ซึ่งอนุญาตให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันอย่างสมัครใจเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดไว้ใน Nationally Determined Contributions (NDCs) ความร่วมมือนี้สามารถอยู่ในรูปแบบของการซื้อขายเครดิตคาร์บอน การแบ่งปันเทคโนโลยี หรือการให้การสนับสนุนทางการเงิน

5. กลยุทธ์การปรับตัว : เนื่องจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การประชุม COP29 จะสำรวจวิธีการที่ประเทศต่างๆ สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นต่อเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว และความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอื่นๆ รวมถึงความชัดเจนของตัวชี้วัด (Indicators) ตามเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก และตัวชี้วัดในระดับพื้นที่ ตามบริบทของประเทศภาคี

เร่งประเทศพัฒนาแล้วช่วยการเงิน

สำหรับท่าทีของประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในการประชุม COP29 ได้เตรียมกรอบท่าทีการเจรจา และช่วยให้มีส่วนร่วม และได้ประโยชน์จากความพยายามร่วมกัน ดังนี้

1. สหรัฐอเมริกา สนับสนุนความสามารถในการฟื้นตัวของมหาสมุทร และชายฝั่ง รวมทั้งสร้างระบบการคาดการณ์สภาพอากาศ และระบบเตือนภัยล่วงหน้า และส่งเสริมแนวทางแก้ปัญหาสภาพอากาศที่ใช้มหาสมุทรเป็นฐาน ซึ่งประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่มีศักยภาพ

2. จีน พร้อมมีส่วนร่วมสำคัญในการสนับสนุนทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ โดยมีส่วนร่วมเจรจากำหนดเป้าหมายการเงินใหม่เพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (NCQG) ซึ่งจะทดแทนเป้าหมายการระดมเงินเดิม 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ที่ช่วยประเทศกำลังพัฒนา และขอให้เจรจาภาษีคาร์บอนชายแดน และมาตรการจำกัดการค้าอื่นที่กำลังกระทบประเทศกำลังพัฒนา

3. อินเดีย มีจุดยืนผลักดันกลไกการให้ทุนแบบให้เปล่า และเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสนับสนุนให้ทุกประเทศปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส โดยเน้นความสำคัญการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว และอินเดียกำลังทำงานเกี่ยวกับกลยุทธ์เพื่อปรับตัวต่อผลกระทบของสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. ประเทศในยุโรป สนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างทะเยอทะยาน และการเพิ่มเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นความสำคัญของการจัดการกับความสูญเสีย และความเสียหาย ประเทศในยุโรปยังมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมสร้างมาตรการการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ

COP แยกภูมิรัฐศาสตร์จากการเจรจา

COP29 มีผู้นำจากเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงประเทศไทย เพื่อเสนอแนวทางเชิงรุกและรายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ก่อนการประชุม COP29 ไม่นาน ทีมถ่ายโอนอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐเตรียมคำสั่งฝ่ายบริหาร และคำประกาศถอนตัวจากข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีส

เปิดฉาก COP29  เวทีหารือแหล่งทุนก้อนใหญ่ หนุนประเทศกำลังพัฒนาลดโลกร้อน

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช” อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ที่ผ่านมา COP พยายามที่จะแยกความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ออกจากการเจรจาของ COP ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถเจรจาอะไรได้ โดยเห็นได้ว่ารัสเซีย และยูเครนเป็นคู่ขัดแย้งสงครามแต่ยังเข้าร่วมการประชุม COP

ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งสมัยแรกของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ยื่นลาออกจากข้อตกลงปารีส แต่ "โจ ไบเดน ยืนยันท่าทียังคงอยู่ในตกลงต่อ โดยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหวังว่าการเจรจาจะเดินหน้าต่อไปได้เพราะทุกคนไม่ได้หมุนรอบสหรัฐ

“ไทย” เดินหน้าเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

กรอบการเจรจาของไทยที่ COP29 ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ครอบคลุมดังนี้

1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุ NDC 2030 ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30-40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผน และยุทธศาสตร์ในรายสาขา และในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศ และข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ

3. การเร่งผลักดัน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. ตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)

5. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา

ความช่วยเหลือการเงินต้องเข้าถึงได้

“ดร.พิรุณ” กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มอบหมายให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมุ่งมั่นทำงานอย่างก้าวหน้า

และอยากเห็นอะไรจากการประชุม COP29 ครั้งนี้ นอกจากนี้ จะมีการประชุมทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีไทยกับรัฐมนตรีของประเทศอื่น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคีมากขึ้นให้กับประเทศไทยด้วย

“สำหรับความคาดหวังจาก COP29 ในเรื่องเงินจากกองทุน เราหวังว่าจะมีการจัดสรรเงินทุนที่ไทยเข้าถึงได้ และสำหรับ NDC 3.0 เราจะเสนอเรื่องการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สูงขึ้นถึง 60% แต่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ไทยต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วมันอาจส่งผลให้ปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกของเรา จะเปลี่ยนจากวิธีการเดิมที่ลดจากค่าการคาดการณ์ในอนาคต (Business As Usual - BAU) ซึ่งเป็นวิธีที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ใช้เป็นส่วนใหญ่ ไปสู่รูปแบบการลดก๊าซเรือนกระจก โดยลดจากปริมาณการปล่อยจริงเทียบกับปี 2019 และไม่ใช้วิธีการเทียบกับ BAU อีกต่อไป

และเราจะแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมจากรัฐบาลต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศในการดึงการสนับสนุนเข้ามาในไทย ส่วนเรื่องการเจรจาเพื่อให้มั่นใจว่าเงื่อนไขของกองทุนความสูญเสีย และความเสียหายนั้น ไทยต้องสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินได้"

ไทยชูบทบาท ผู้นำ “คาร์บอนเครดิต”

ขณะที่เรื่องคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ “ดร.พิรุณ” กล่าวว่า เราเจรจาเพื่อแสดงว่าเราเป็นผู้นำ เพราะไทยเป็นเจ้าแรกของโลกที่ทำดีลแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์สำเร็จ ซึ่งในที่ประชุม COP29 เราจะหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการทำรายงานให้ราบรื่นตามข้อกำหนดแต่ต้องไม่ซับซ้อนเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการทำงาน

และเรื่องการปรับตัวตัวชี้วัด ไทยมีการทำงานที่สอดคล้องอยู่แล้วคือ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand's National Adaptation Plan : NAP) ดังนั้นในที่ประชุม COP29 เราจะเปรียบเทียบเพื่อให้แน่ใจว่าตัวชี้วัดระดับโลกที่กำลังพัฒนาสอดคล้องกับตัวชี้วัดของประเทศไทย

ซึ่งเรื่องของ NAP รับผิดชอบโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบ ร่วมกับอีก 7 กระทรวง เนื่องจากการปรับตัวครอบคลุมหลายสาขา คือ 1. การจัดการน้ำ 2. การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3. การท่องเที่ยว 4. สาธารณสุข 5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 6. การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์”

บราซิลรับไม้ต่อ เจ้าภาพ COP30

“ดร.พิรุณ” กล้าวทิ้งท้ายว่า เมื่อถึงวันสุดท้ายของ COP29 จะมีการรับรองข้อตัดสินใจจากการประชุม ซึ่งประเทศไทยและทุกประเทศสมาชิกจะต้องนำมาปรับใช้ต่อไป เพราะการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มุ่งเน้นให้เป้าหมายนี้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสที่ระบุว่าอุณหภูมิโลกไม่ควรเกิน 1.5°C

"การประกาศเป้าหมายเป็นขั้นตอนหนึ่ง แต่การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ประเทศไทยมีแผนที่ชัดเจน และกำลังทำงานตามแผนนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเป็นรูปธรรมไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันที ไม่มีอะไรที่เป็น Quick Win บางเรื่องต้องอดทนเพื่อสร้างระบบที่ยั่งยืน

ที่สำคัญเราต้องสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ประกอบด้วยนโยบายภาครัฐ เครื่องมือใหม่ๆ และการสร้างความตระหนักรู้ในประชาชนกว่า 66 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

หลังจาก COP29 เสร็จสิ้น บราซิลก็รับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน COP30 ที่เมืองเบเลง ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2025 เน้นย้ำถึงความสำคัญของเขตแอมะซอน และบทบาทสำคัญของภูมิภาคนี้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์