‘โลกร้อน’ เกินไป เล่นกีฬากลางแจ้งไม่ได้ นักกีฬาสมรรถภาพลดลง จัดงานยากขึ้น

‘โลกร้อน’ เกินไป เล่นกีฬากลางแจ้งไม่ได้  นักกีฬาสมรรถภาพลดลง จัดงานยากขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้ไม่สามารถจัดการแข่งขัน “กีฬา” หลายประเภทได้ตามปรกติ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซง

KEY

POINTS

  • “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้ไม่สามารถจัดการแข่งขัน “กีฬา” หลายประเภทได้ตามปรกติ
  • อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อร่างกายของนักกีฬา และส่งผลให้ทำผลงานได้แย่กว่าเดิม
  • ผู้จัดการแข่งขันพยายามใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อสู้กับธรรมชาติ เพื่อให้สามารถจัดการแข่งขันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแย่ลง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สร้างผลกระทบไปทุกวงการ รวมไปถึง “วงการกีฬา” เพราะกีฬาหลายประเภทมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม และกีฬาบางประเภทต้องการเงื่อนไขเฉพาะ เช่น หิมะสำหรับการเล่นสกี และลมสำหรับการแล่นเรือ เมื่อรูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถจัดการแข่งขันประเภทดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซง

แต่ขณะเดียวกัน ผู้คนกลับให้คุณค่าของการแข่งขันกีฬาเพิ่มขึ้น เกิดการจัดการแข่งขันในสถานที่ที่หลากหลายมากขึ้น จัดทัวร์นาเมนต์พิเศษเพิ่มขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับความยากลำบากและอันตรายที่เพิ่มขึ้น เจ้าภาพต้องแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อุณหภูมิฤดูร้อนโดยเฉลี่ยของนิวยอร์กเพิ่มขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส โดยการแข่งขันเทนนิสรายการ “ยูเอส โอเพ่น” ในปี 2024 มีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 34 องศาเซลเซียส เมื่อรวมกับความชื้นที่สูงขึ้น ทำให้สภาพอากาศเลวร้ายยิ่งขึ้น นักกีฬาหลายคนร้อน เหงื่อแตก และอาเจียนในช่วงพักการแข่งขัน พวกเขาเอาถุงน้ำแข็งห่อคอและศีรษะ หรือไม่ก็เอาสายยางเป่าลมเย็นลงตามเสื้อเพื่อพยายามคลายความร้อน

ขณะที่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสช่วงกลางปี 2024 ซึ่งฝรั่งเศสกลับมาเป็นเจ้าภาพในรอบ 100 ปี อุณหภูมิในปี 2024 สูงกว่าปี 1924 ถึง 2.7 องศาเซลเซียส ส่วนโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในปี 2022 นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นบนหิมะเทียมทั้งหมด และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายด้วย 

การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2022 พบว่าแม้ว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่ภายในปี 2050 จะมีเพียง 13 เมืองจาก 21 เมืองที่ที่เคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวเท่านั้นที่จะสามารถจัดการแข่งขันนี้ได้อีกครั้ง

อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ประสิทธิภาพของนักกีฬาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่ออากาศร้อนอบอ้าว นักต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมก่อนการแข่งขัน แต่ก็ทำได้ไม่มาก อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเร่งให้ร่างกายขาดน้ำ ทำให้กลูโคสถูกย่อยสลายเร็วขึ้น และปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปยังกล้ามเนื้อก็ลดลง (ร่างกายต้องส่งเลือดไปที่ผิวหนังก่อนเพื่อให้ร่างกายเย็นลง)

ผลกระทบสะสมจากความร้อนมากเกินไปจะเห็นได้ชัดที่สุดในการแข่งขันที่ต้องใช้ความทนทานของร่างกาย และใช้เวลาแข่งนาน จากการศึกษานักกีฬามากกว่า 100 คนที่แข่งขันวิ่งระยะไกลในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกปี 2019 ที่จัดขึ้นในกาตาร์ ซึ่งมีอากาศร้อนอบอ้าว พบว่านักกีฬาเกือบทั้งหมดทำผลงานได้แย่กว่าผลงานที่ดีที่สุดของตนเอง 3-20% แม้ว่าผู้จัดงานจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดขึ้นในสนามกีฬาปรับอากาศขนาดใหญ่ โดยแข่งในตอนกลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเย็นกว่า

อากาศที่ร้อนขึ้นอาจส่งผลเสียต่อการตัดสินใจและทักษะการเคลื่อนไหวได้ หลักฐานที่เพิ่มมากขึ้นบ่งชี้ว่า ความเครียดจากความร้อนอาจทำให้ผู้เล่นกีฬาหลาย ๆ ประเภทงกเงิ่นกว่าปรกติ และเกิดการทะเลาะวิวาทมากขึ้น

นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่รับรู้ถึงผลกระทบดังกล่าว โดยผู้ตอบแบบสำรวจที่เผยแพร่โดยสมาคมกรีฑาโลกจำนวน 3 ใน 4 คนระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพและประสิทธิภาพของพวกเขา ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายจากการแข่งขันในสภาพอากาศร้อนจัด มีตั้งแต่ตะคริว เวียนหัว และอาจรุนแรงไปถึงขั้นเสียชีวิตกะทันหัน

โรคลมแดดจากการออกกำลังกาย หรือ EHS (Exertional heat stroke) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายร้อนเกินไป ขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากจนเกิดอาการชักและอวัยวะล้มเหลว อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรค EHS อยู่ที่ประมาณ 15% แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 80% โรคนี้ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตกะทันหันอันดับ 3 ของนักกีฬาอเมริกันรุ่นเยาว์

 

มาตรการช่วยเหลือนักกีฬา

ภาวะโลกร้อน” ทำให้ผู้จัดงานแข่งขันต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้นักกีฬาปลอดภัย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหพันธ์นานาชาติได้เริ่มกำหนดมาตรการต่าง ๆ เมื่อเจอกับคลื่นความร้อน เช่น การพักเพิ่มเติม หรือการเลื่อนการแข่งขันออกไป แต่ก็ยังไม่ได้คำนึงถึงความเครียดทางร่างกายที่นักกีฬาต้องเผชิญเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น สมาคมเทนนิสแห่งสหรัฐจะยกเลิกการแข่งขันหรือปิดหลังคา การแข่งขันยูเอสโอเพ่น เมื่ออุณหภูมิโลกร้อนถึง 32.5 องศาเซลเซียส ทั้งที่ วิทยาลัยการแพทย์กีฬาแห่งอเมริกาจะแนะนำให้ยกเลิกงานกลางแจ้งเมื่ออุณหภูมิเกิน 28 องศาเซลเซียส ก็ตาม

การวางแผนฉุกเฉินอย่างรอบคอบก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนเวลาและสถานที่ได้หากจำเป็น ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส กรมอุตุนิยมวิทยาของฝรั่งเศสสร้างแบบจำลองสภาพอากาศที่รายละเอียดมาก จนสามารถรับรู้ได้ว่าอุณหภูมิจะเปลี่ยนไปเท่าใด หากมุมที่ดวงอาทิตย์ตกกระทบเปลี่ยนไป โดยแบบจำลองนี้ถูกนำไปใช้ในการแข่งขันฟอร์มูล่าวันทั่วยุโรป รวมถึงเทนนิสวิมเบิลดัน

ขณะเดียวกัน จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชมการแข่งขันด้วย ซึ่งมาตรการป้องกันความร้อนบางอย่างสามารถจัดตั้งไว้ล่วงหน้าได้ เช่น ที่นั่งให้ร่มเงา และจุดบริการน้ำดื่ม ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส ฝรั่งเศสปลูกต้นไม้ประมาณ 300,000 ต้นทั่วเมือง เพิ่มจุดบริการน้ำดื่มหลายร้อนแห่ง ซึ่งอนุญาตให้ผู้เข้าชมสามารถนำขวดน้ำใช้ซ้ำเข้ามาเติมน้ำได้

แม้การจัดงานกีฬาระดับโลกส่วนใหญ่มักขาดทุน แต่ก็มีประเทศใหม่ ๆ เสนอตัวมาเป็นผู้จัดการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงสภาพอากาศอาจไม่เหมาะสมก็ตาม ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์ ผู้จัดงานยอมเปลี่ยนเวลาการแข่งขันจากฤดูร้อนเป็นฤดูหนาว และติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั่วทั้งสนามกีฬากลางแจ้ง

ขณะที่ ซาอุดีอาระเบียที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาวปี 2029 สัญญาว่าจะสร้างลานสกีเทียมยาว 36 กม. กลางทะเลทราย ใน “นีออม” เมืองแห่งอนาคตที่กำลังก่อสร้าง

แต่ขณะเดียวกันมาตรการสุดโต่งที่นำมาใช้ เพื่อจัดการแข่งกีฬาในประเทศที่ร้อนเกินไป ก็เป็นการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงอยู่แล้วให้รุนแรงกว่าเดิม ผู้จัดงานฟุตบอลโลกปี 2022 อ้างว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.6 ล้านตัน หรือเท่ากับปริมาณที่ปล่อยออกมาในโอลิมปิกปี 2016 ที่เมืองริโอเดอจาเนโร (ตัวเลขนี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริง)

การจัดงานกีฬาขนาดใหญ่ให้มิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังพอมีความเป็นไปได้ แม้จะเป็นเรื่องยาก ผู้จัดงานโอลิมปิกที่ปารีสสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการแข่งขันโอลิมปิกลอนดอน เมื่อปี 2012 และดูเหมือนว่าพวกเขาจะทำได้สำเร็จ แม้ว่านักกีฬาอาจจะไม่ได้สะดวกสบายเท่าที่ควร

ตามที่จอร์จินา เกรนอน ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกล่าว ผู้จัดงานต้องคิดทบทวนทุกอย่างใหม่ ตั้งแต่เครื่องปั่นไฟสำรองที่ถ่ายทอดสดใช้ ไปจนถึงวัตถุดิบประกอบอาหารที่มาจากท้องถิ่น เพื่อลดปริมาณการขนส่งทางอากาศ รวมไปถึงพยายามลดขยะให้ได้มากที่สุด เช่น การเช่าเฟอร์นิเจอร์แทนการซื้อ และการรีโนเวทอาคารเก่า

แต่คำถามคือ ถ้าอีกหน่อยอุณหภูมิสูงขึ้นไปกว่านี้เราจะยังสามารถจัดการแข่งขันกีฬากลางแจ้งได้ โดยที่ไม่ทำให้กลายเป็น “สงคราม” และทำลายสุขภาพนักกีฬามากจนเกินไป


ที่มา: AP NewsCNNThe Economist