IMF เตือนโลกกำลังเดินละเมอตกหน้าผา ตั้งกองทุน RST ให้กู้ปรับตัวสู้โลกร้อน
IMF ชี้ปัญหา Climate Change เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบชัดเจนระดับมหภาคจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังอยู่แล้ว เมื่อถูกซ้ำเติมก็ยิ่งถอยหลัง และส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ IMF ในที่สุด
จากเวที COP29 ที่หาข้อตกลงทางด้านการเงินร่วมกันไม่ได้ จนต้องขยายเวลาคุยกันต่อหลังจบงานในการเพิ่ม Climate Finance เป็น 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สอดคล้องกับความกังวลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้นำเสนอผลการวิจัยล่าสุดในการประชุม COP29 เตือนว่าโลกกำลังเผชิญกับ "จุดวิกฤตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" (emissions cliff edge) ซึ่งหมายถึงการพลาดเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ในรายงานวิจัยฉบับใหม่ "Sleepwalking to the Cliff Edge?: A Wake-up Call for Global Climate Action" ระบุชัดเจนว่า เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันยังห่างไกลจากที่ควรจะเป็น ในต้นปีหน้า ทุกประเทศจะต้องทบทวนเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกหมายปี 2030 และกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับปี 2035
ซึ่งการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% จากระดับปี 2019 ภายในปี 2030 และสำหรับเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียส จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 50% แต่เป้าหมายในปัจจุบันสามารถลดได้เพียง 12% เท่านั้น เท่ากับว่าต้องเพิ่มความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 2-4 เท่าของเป้าปัจจุบัน
รายงานฉบับนี้ยังได้นำเสนอแนวทางการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นธรรมสำหรับแต่ละกลุ่มประเทศ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองที่จำเป็น ในการกำหนดเป้าหมายและประเมินผลกระทบของนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจก
รศ. ดร.วรประภา นาควัชระ นักวิชาการไทยที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ IMF Academic Fellowship Program ในปีนี้ ณ กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของเพจคาร์บอนน้อย และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ IMF อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศมากนัก
เพราะเป็นองค์กรที่เน้นการจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในระยะหลังมานี้ IMF ยอมรับว่าปัญหา Climate Change เป็นปัญหาที่ “Macro Critical” เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบชัดเจนระดับมหภาคจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังอยู่แล้ว เมื่อถูกซ้ำเติมก็ยิ่งถอยหลัง และส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ IMF ในที่สุด
ทั้งนี้ IMF ได้มีการตั้งกองทุนเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืน หรือ The Resilience and Sustainability Trust (RST) ขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2022
โดยปัจจุบันได้อนุมัติวงเงินสนับสนุนไปแล้ว 20 ประเทศ มูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จุดเด่นของกองทุนนี้คือการให้กู้ยืมระยะยาวถึง 20 ปี โดยมีเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีความเปราะบาง มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้แล้ว
ได้แก่ คอสตาริกา บาร์เบโดส รวันดา บังกลาเทศ จาเมกา โคโซโว เซเนกัล ไนเจอร์ เคนยา โมร็อกโก มอลโดวา เป็นต้น
"ในการประชุมครั้งนี้ IMF ได้เน้นย้ำกลไกของกองทุน RST ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถรับมือกับความท้าทายระยะยาว โดยเฉพาะวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้" รศ. ดร.วรประภา กล่าว
การจัดตั้งกองทุนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ IMF ในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน
ผู้เขียน ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์