‘คนทะเล’ โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม สร้างรายได้ยั่งยืนฟื้นทรัพยากรทะเล
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ร่วมกับสถาบัน ChangeFusion ประกาศความสำเร็จของโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C)
KEY
POINTS
- โมเดล “คนทะเล” กับแนวคิดการพัฒนา “แพ็คเกจท่องเที่ยววิถีประมงพื้นบ้าน” เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างบ้านปลาออร์แกนิกช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในชุมชนได้กว่า 3 เท่า
- การสร้างรายได้จากการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ 20-50 กิโลกรัมต่อวัน และการตั้งเป้าหมายการพัฒนาสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาทต่อปี
- บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์วิถีชีวิตชุมชน และการมีส่วนร่วมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์นำ้
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ร่วมกับสถาบัน ChangeFusion ประกาศความสำเร็จของโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C) ปีที่ 13 โดยกิจการเพื่อสังคม “คนทะเล” จากชุมชนบ้านทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสามโมเดลที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยแนวคิดการพัฒนา “แพ็คเกจท่องเที่ยววิถีประมงพื้นบ้าน” เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนรุ่นใหม่ เปิดประสบการณ์นักท่องเที่ยว พร้อมสร้างบ้านปลาออร์แกนิกแห่งแรกของไทย ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในชุมชนได้กว่า 3 เท่า
ตามข้อมูลสถิติของกรมประมง ระบุว่าในช่วงระหว่างปี 2553-2562 ผลผลิตทางการประมงของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อ เนื่อง โดยมีอัตราการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.20 ต่อปี ตัวอย่างที่ชัดเจนคือปลาทู ซึ่งในปี 2554 มีปริมาณการจับสูงสุดที่ 147,852 ตัน แต่ในปี 2561 ปริมาณการจับลดลงเหลือเพียง 20,461 ตัน ซึ่งคิดเป็นการลดลงกว่า 7 เท่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'บ้านปู' ชูกลยุทธ์ 'เอเนอร์จี ซิมโฟนิกส์' เคลื่อนธุรกิจสู่เป้า Net Zero ปี 2050
เช็กสถิติผลผลิตจากการทำการประมง
ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ( 2553–2562) ผลผลิตทางการประมงเฉลี่ยอยู่ที่ 2,666,263 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 158,057 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี ขณะที่มูลค่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.45 ต่อปี
หากพิจารณาแหล่งที่มาของผลผลิต พบว่า ผลผลิตจากการทำการประมงเฉลี่ยอยู่ที่ 1,646,611 ตันต่อปี (ร้อยละ 61.76 ของผลผลิตรวม) คิดเป็นมูลค่า 65,251 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 41.28 ของมูลค่ารวม) ส่วนผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ที่ 1,019,652 ตันต่อปี (ร้อยละ 38.24 ของผลผลิตรวม) คิดเป็นมูลค่า 92,805 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 58.72 ของมูลค่ารวม)
สำหรับปี 2563 คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตประมงจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3.68 จากปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 2,604,503 ตัน ขณะที่มูลค่ารวมอาจลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.27 อยู่ที่ประมาณ 170,083 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลผลิตจากการทำการประมงคาดว่าจะอยู่ที่ 1,659,467 ตัน (ร้อยละ 63.72 ของผลผลิตรวม) คิดเป็นมูลค่า 76,012 ล้านบาท (ร้อยละ 44.69 ของมูลค่ารวม) และผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะอยู่ที่ 945,036 ตัน (ร้อยละ 36.28 ของผลผลิตรวม) คิดเป็นมูลค่า 94,071 ล้านบาท (ร้อยละ 55.31 ของมูลค่ารวม)
เป้าหมายและผลลัพธ์ “คนทะเล”
กิจการ “คนทะเล” มีเป้าหมายในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลที่ลดลงอย่างมากในอดีต โดยการสร้างบ้านปลาออร์แกนิกสามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ได้ถึง 20-50 กิโลกรัมต่อวัน ธุรกิจดำเนินงานใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การจำหน่ายอาหารทะเลปลอดสารฟอร์มาลีน ที่ผลิตจากการประมงอย่างรับผิดชอบของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน
บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์วิถีชีวิตชุมชน มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำผ่านกิจกรรมต่าง ๆ กิจการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านทุ่งน้อยไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาทต่อปี พร้อมสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชาวประมงในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
BC4C พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
โครงการ BC4C ปีที่ 13 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง” โดยมุ่งเน้นการพัฒนากิจการเพื่อสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจฐานราก กิจการ “คนทะเล” เป็นตัวอย่างสำคัญของการนำทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้ไม่เพียงสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน แต่ยังช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนและมีผลกระทบในระดับประเทศ
ในยุคที่การพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องเดินไปด้วยกัน การส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต
ตัวอย่างที่โดดเด่นของการผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่น คือ กิจการ “คนทะเล” จากชุมชนบ้านทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ปีที่ 13 โครงการนี้เป็นการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กิจการ ‘คนทะเล’ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำทรัพยากรท้องถิ่น วิถีชีวิต และภูมิปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของบ้านปูในการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้พัฒนากิจการที่แข็งแกร่งและสร้างผลกระทบเชิงบวก โดยทีม ‘คนทะเล’ สามารถนำความรู้จากโครงการ BC4C ไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน การศึกษาคู่แข่ง และการวางแผนการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน”
โครงการ BC4C ปีที่ 13 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง” โดยมุ่งเน้นพัฒนากิจการเพื่อสังคมในระดับท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เช่นเดียวกับโมเดลของ “คนทะเล” ที่ตั้งเป้าฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนบ้านทุ่งน้อย โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านบาทต่อปี
กิตติเดช เทศแย้ม ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม “คนทะเล” กล่าวว่าสัตว์น้ำในทะเลหน้าชุมชนลดลงกว่า 80% ระหว่างปี 2554-2563 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของชาวประมง โครงการ BC4C ทำให้เรามีองค์ความรู้และทุนสนับสนุนในการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อชดเชยรายได้จากประมงเชิงพาณิชย์ เราได้สร้างบ้านปลาออร์แกนิกแห่งแรกของไทย ช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ได้ถึง 20-50 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชาวประมง
สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า กิจการเพื่อสังคมในท้องถิ่นอย่าง ‘คนทะเล’ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
การดำเนินโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (BC4C) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของกิจการเพื่อสังคมที่ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น แต่ยังช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการขับเคลื่อนการเติบโตที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจในระดับประเทศ