วัฒนธรรม 'ดื่มชา' ของชาวอังกฤษ ช่วยชีวิตคนหลายทศวรรษโดยบังเอิญ

วัฒนธรรม 'ดื่มชา' ของชาวอังกฤษ ช่วยชีวิตคนหลายทศวรรษโดยบังเอิญ

การดื่มชาเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรมของชาวอังกฤษ เช่น Afternoon Tea ซึ่งเป็นเวลาสำหรับการสนทนาและการพักผ่อน และความนิยมการดื่มชาก็แพร่กระจายไปทั่วโลก การชงชาต้องต้มน้ำ ซึ่งช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคในน้ำที่อาจทำให้เกิดโรค

"ชา" มีต้นกำเนิดในประเทศจีน และบริโภคกันมาเป็นเวลาหลายพันปี นอกจากนี้ ชายังเกี่ยวข้องกับชาวอังกฤษ ที่ดื่มชามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1600 เมื่อพ่อค้าชาวดัตช์นำชาเข้าประเทศเป็นครั้งแรก แต่ “การดื่มชาของชาวอังกฤษ” ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18 (ราวปี 1784) เมื่อภาษีชาลดลง จากเดิม 119% เหลือเพียง 12.5% ส่งผลให้ผู้คนสามารถซื้อชาได้มากขึ้น แม้กระทั่งชาวนาที่มีฐานะยากจนก็ยังสามารถดื่มชาได้วันละสองครั้ง

ปัจจุบันชาเป็นเครื่องดื่มที่บริโภคมากเป็น “อันดับ 2” ของโลก รองจากน้ำ และมีหลากหลายประเภท เช่น ชาดำ ชาเขียว และชาสมุนไพร

นอกจากเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม การดื่มชายังเป็นสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจ การเข้าสังคม หรือแม้แต่การกดขี่ข่มเหง เช่น ในปี 1773 ชาวอาณานิคมอเมริกันได้จัดการประท้วงที่รู้จักกันในชื่อ Boston Tea Party ด้วยการการโยนชาลงทะเลเพื่อประท้วงภาษีชาและการควบคุมของอังกฤษ

แต่หนึ่งในบทบาทที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงคือ ในอดีต “ชาช่วยให้มนุษย์รอดจากการเสียชีวิต” ทำให้หลายคนไม่ต้องตายก่อนวัยอันควร จากการต้มน้ำเพื่อชงชาแบบง่ายๆ เพราะในยุคนั้นคนยังไม่เข้าใจว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากเชื้อโรคที่แพร่ทางน้ำ จึงดื่มน้ำจากบ่อน้ำธรรชาติ และจากแม่น้ำลำธาร

จากการศึกษาของ “ฟรานซิสก้า แอนท์แมน” นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ For Want of a Cup: The Rise of Tea in England and the Impact of Water Quality on Mortality ปี 2023 เผยให้เห็นข้อมูลว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1761 ถึง 1834 ในประเทศอังกฤษ อัตราการเสียชีวิตต่อปีลดลงอย่างมาก จาก 28 เหลือ 25 ต่อประชากร 1,000 คน โดยคาดการณ์ว่า เป็นผลของคุณภาพน้ำดื่มที่ดีขึ้น เพราะการบริโภคชาในอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายคนบริโภคน้ำต้มเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

Tea picture from Sincerely Media/unsplash

ข้อดีของชา

"แอนท์แมน" กล่าวว่า ข้อดีของชาคือ มันเกิดขึ้นก่อนที่เราจะรู้ถึงความสำคัญของน้ำสะอาด หลักฐานชี้ให้เห็นว่าชากลายเป็นสินค้าที่คนส่วนใหญ่ในอังกฤษสามารถเข้าถึงได้ในปลายทศวรรษ 1780 ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม

"ในยุคนั้นความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้น เมืองขยายตัว และคนก็หนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งควรจะเป็นช่วงที่เราเห็นอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก แต่เราเห็นการลดลงของอัตราการเสียชีวิตอย่างน่าประหลาดใจ ที่สามารถอธิบายได้ด้วยการเข้ามาของชา และที่สำคัญคือการต้มน้ำเพื่อดื่มชา"

วิเคราะห์ข้อมูล

แอนท์แมนพัฒนาวิธีการทดสอบอย่างละเอียด โดยใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ในกว่า 400 เขตของอังกฤษ โดยสมมติฐานที่สำคัญของการศึกษาคือ การระบุระดับคุณภาพน้ำ โดยพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำแย่กว่ามีการลดลงของอัตราการตายมากกว่าพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำดีหรือไม่?

"ฉันวิเคราะห์เปรียบเทียบพื้นที่ต่างๆ ตามคุณภาพน้ำ ซึ่งต้องมีการอนุมาน คุณภาพน้ำ โดยวัดจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น จำนวนแหล่งน้ำที่ไหล หรือความสูงของพื้นที่ ผ่านวิธีการสองแบบเพื่อทดสอบสมมติฐาน

ซึ่งก็คือการเปรียบเทียบพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำที่ไม่ดี (น้ำปนเปื้อน) กับการลดลงของอัตราการเสียชีวิตหลังจากที่ชาเริ่มแพร่หลายมากขึ้น และเมื่อมีการนำเข้าชามากขึ้นในช่วงเวลานั้น ผลการศึกษาพบว่า เมื่อรวมปัจจัยอื่น ๆ เช่น รายได้และการเข้าถึงการค้า ก็ยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมากในพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำไม่ดีในตอนเริ่มต้น

นอกจากนี้ สมมติฐานนี้ยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมด้วยหลักฐานจากสาเหตุการเสียชีวิตที่เฉพาะเจาะจงและการเสียชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งหมายความว่าการดื่มชาที่ต้องต้มน้ำทำให้แบคทีเรียและเชื้อโรคในน้ำถูกกำจัดออกไป ช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากเชื้อโรคในน้ำได้

สรุปก็คือ การศึกษาใช้วิธีการทดสอบสองแบบเพื่อแสดงให้เห็นว่าการดื่มชาที่ต้องต้มน้ำช่วยลดการเสียชีวิตในพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำไม่ดี และผลลัพธ์นี้ได้รับการยืนยันโดยหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตที่เฉพาะเจาะจงและการเสียชีวิตในวัยเด็ก

"งานวิจัยของฉันจะไม่สำเร็จหาก Anthony Wrigley และ Roger Schofield ไม่ได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่และประชากรศาตร์ของอังกฤษไว้ มีเพียงไม่กี่ที่ในโลกที่มีข้อมูลเช่นนี้ และมันจะไม่เป็นไปได้หากไม่มีความพยายามที่ยิ่งใหญ่ของนักประชากรศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ที่ผ่านบันทึกของวัดในอังกฤษและสร้างชุดข้อมูลเหล่านี้ที่ฉันสามารถวิเคราะห์ได้"

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน

"แอนท์แมน" บอกว่า ตนเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาและแรงงานรู้ว่าน้ำมีความสำคัญ ไม่เพียงแต่เพื่อสุขภาพ แต่ยังรวมถึงชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คน

"ยังมีหลายประเทศกำลังพัฒนาที่การเข้าถึงน้ำสะอาด โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ยังคงเป็นปัญหา มันอาจจะยากที่จะระบุผลกระทบที่แท้จริงของน้ำสะอาดต่อชีวิตของผู้คน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันสำคัญมาก แต่การคำนวณนั้นยาก"

การวิจัยนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน ไม่ใช่เพราะอิทธิพลจากภายนอกหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสุขภาพที่ดีหรือน้ำสะอาด แต่เพียงเพราะพวกเขาต้องการดื่มชา มันเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการที่ประชากรยอมรับพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพโดยไม่มีใครพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหรือประเพณีจากภายนอก

ล้านคนเสียชีวิตจากน้ำไม่สะอาด

การเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัย “Clean Water” ปี 2019 ระบุว่า ประชากรโลก 1 ใน 4 คนไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพที่สำคัญ

น้ำที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากจน น้ำที่ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าล้านรายต่อปี

การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่ปลอดภัยเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น อหิวาตกโรค โรคท้องร่วง โรคบิด โรคตับอักเสบเอ โรคไทฟอยด์ และโรคโปลิโอ

นอกจากนี้ยังทำให้ภาวะทุพโภชนาการแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะแคระแกร็นในเด็ก จากแผนภูมิแสดงให้เห็นว่าภาวะนี้จัดอยู่ในอันดับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเสียชีวิตทั่วโลก

การต้มน้ำเป็นวิธีง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพในการทำให้น้ำปลอดภัยสำหรับการดื่ม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความยั่งยืน เพราะประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดโรคที่เกิดจากน้ำ การต้มน้ำช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ซึ่งสำคัญมากสำหรับชุมชนที่ไม่มีการเข้าถึงน้ำสะอาด

สถิติการเข้าถึงน้ำ

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนด้านบริการน้ำดื่มส่งผลให้การเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้คนทั่วโลกกว่า 2.2 พันล้านคนสามารถเข้าถึงบริการน้ำดื่มที่ได้รับการจัดการอย่างปลอดภัยได้ในปี 2020 ประชากรโลก 74% ใช้น้ำดื่มที่ได้รับการจัดการอย่างปลอดภัย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 62% ในปี 2000

แม้จะมีความก้าวหน้านี้ แต่ก็ยังมีผู้คนกว่า 2.2 พันล้านคนยังคงไม่ได้ใช้น้ำดื่มที่ได้รับการจัดการอย่างปลอดภัย ทั้ง การเข้าถึงน้ำสะอาดขึ้นอยู่กับความแตกต่างทางภูมิศาสตร์อย่างกว้างขวาง

ทำให้โลกยังห่างไกลกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030 ความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของเป้าหมาย SDG 6.1 และการเร่งดำเนินการเพิ่มเติมที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุการเข้าถึงอย่างทั่วถึงนั้นถูกคุกคามจากผลกระทบและความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมาย SDG 6.1 ก้าวหน้าช้า

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) เป้าหมาย 6.1 คือ "บรรลุการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน" ภายในปี 2030

โลกมีความก้าวหน้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่โชคไม่ดีที่ความก้าวหน้านี้ช้ามาก ในปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ประมาณ 70% ของประชากรโลกมีน้ำดื่มที่ปลอดภัย แต่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หากความก้าวหน้ายังคงดำเนินต่อไปในอัตราที่ช้าเช่นนี้ เราจะไม่บรรลุเป้าหมายในการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันภายในปี 2030

 

 

อ้างอิง : MIT Press DirectUniversity of Colorado BoulderUnicefOur World in Data