ฝนหลวง ลุย บรรเทาฝุ่น PM2.5 พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น

ฝนหลวง ลุย บรรเทาฝุ่น  PM2.5 พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น

อิทธิ สั่ง ฝนหลวงฯขึ้นบิน บรรเทาฝุ่น PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภาคเหนือ หลังปฏิบัติการพบค่าดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาคเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ซึ่งเริ่มปฏิบัติการวันแรกไปแล้ว

โดยได้มอบหมายให้นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ ลงพื้นที่ไปยังหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกำกับการวางแผนการปฏิบัติการตั้งแต่ช่วงเช้า และในช่วงบ่ายหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อ.หัวหิน และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี เริ่มการปฏิบัติภารกิจบรรเทาหมอกควันและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ฝนหลวง ลุย บรรเทาฝุ่น  PM2.5 พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น

โดยเริ่มปฏิบัติการเวลา 13.45 น. ด้วยเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำระบายฝุ่นละออง เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ใช้เครื่องบินคาซ่า จำนวน 2 ลำ ใช้น้ำปรับลดอุณหภูมิหรือน้ำเย็น จำนวน 1,600 ลิตร

บินปฏิบัติการโปรยช่วงเวลา 14.00-14.17 น. และเวลา 14.47-15.02 น. โปรยเป็นวงกลมก้นหอยรัศมี 5-7 ไมล์ บริเวณพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.สมุทรสาคร ซึ่งหลังปฏิบัติการ (เวลา 16.45 น.) พบว่า ภาพรวมพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Aqi) ดีขึ้นจากในช่วงเช้า (เวลา 05.00 น.) จาก 154 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) ลดลงเหลือ 66 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับปานกลาง) 

สำหรับ พื้นที่ภาคเหนือ มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติการด้วยเช่นเดียวกัน มีพื้นที่เป้าหมายบริเวณ จ.เชียงใหม่ โดยเริ่มปฏิบัติการบินเวลา 14.00 น. ใช้เครื่องบินคาซ่า จำนวน 1 ลำ ใช้น้ำปรับลดอุณหภูมิ จำนวน 800 ลิตร บินปฏิบัติการโปรยช่วงเวลา 14.24-14.52 น. โปรยเป็นวงกลมก้นหอยรัศมี 5-7 ไมล์ บริเวณพื้นที่ จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งหลังปฏิบัติการ (เวลา 17.00 น.) พบว่า พื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Aqi) ดีขึ้น (เวลา 15.00 น.) จาก 84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงเหลือ 83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ด้านนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า จากผลปฏิบัติการในวันแรก เป็นแนวโน้มที่ดีในการช่วยบรรเทาปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งในเช้าวันนี้ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงวางแผนปฏิบัติการเชิงรุก และปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยจากการติดตามค่าคุณภาพอากาศ พบว่า

พื้นที่ภาคเหนือบริเวณ อ.แม่แอน จ.เชียงใหม่ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ 155 และ 159 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) จึงได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ วางแผนช่วยบรรเทาในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนบินปฏิบัติการช่วยบรรเทาฝุ่นละอองเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญ คือการบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ผ่านการก่อเมฆ เพื่อดูดซับฝุ่นละอองและการสเปรย์น้ำเย็นในอากาศ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง และการปฏิบัติการฝนหลวงโดยใช้เทคนิค

ฝนหลวง ลุย บรรเทาฝุ่น  PM2.5 พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น

การดัดแปรสภาพอากาศ 3 เทคนิค ได้แก่

1. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย

2. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง

3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือ

การสเปรย์น้ำ เพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion

(ชั้นอุณหภูมิผกผัน) เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน

โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุก ที่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทย พร้อมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นอีก 1 หน่วยงานสำคัญในการช่วยลดผลกระทบของมลพิษอากาศเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องประชาชน