ปตท. เผยกุญแจสำเร็จสู่เป้าหมายยั่งยืน ผนึกกำลังชูนวัตกรรมลดคาร์บอน
“ปตท.” ย้ำเป้าหมายความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือผนึกกำลังคิดโมเดล-เทคโนโลยีลดต้นทุน-ลดคาร์บอนภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งด้านนโยบายและเงินทุน ชูเทคโนโลยี “CCS-ไฮโดรเจน” เคลื่อน ปตท. สู่เป้า Net Zero ปี 2050
"กรุงเทพธุรกิจ" จัดงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ และประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน งานจะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาใน Panel Discussion: PTT Insight Together for Sustainable ว่า กลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่ผ่านมาได้ทำโครงการปลูกป่า 1.2 ล้านไร่เสร็จแล้ว และตั้งเป้าหมายเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ และในกลุ่มปตท. อีก1 ล้านไร่ซึ่งจะช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายด้วย
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มปตท.มีการวัดผลดัชนีด้านความยั่งยืน ดัชนีความยั่งยืน DJSI ซึ่งปตท. ได้รับรางวัลตั้งแต่ ปี 2012 ถือว่าได้รับการยอมรับตลอด 13 ปีที่ผ่านมาเป็นต้น รวมถึงรางวัลความยั่งยืนในประเทศไทยด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ 15 ปี
“ปตท.มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามวิสัยทัศน์ใหม่คือ ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องสร้างการเติบโตยั่งยืน และต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเดินหน้าสร้างการเติบโตต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอน พร้อมกับให้เศรษฐกิจเดินหน้าควบคู่กับสังคมและชุมชน”
อย่างไรก็ตาม การทำเรื่องของความยั่งยืน ได้เข้ามาสร้างโอกาสให้ทั้งกับปตท. และประเทศช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มถือเป็นเป้าหมายสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของนโยบาย ESG ที่ต้องขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมาย จึงได้เดินหน้าธุรกิจใหม่ด้วยหลัก C3 คือ 1. ปรับ Portfolio การลงทุน ดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า Climate-Reilience Business 2. ปรับปรุง Asset ที่มีอยู่ โดยการลดคาร์บอน เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ Carbon Conscious Asset 3. ร่วมมือกันผลักดันการลดคาร์บอน ยกตัวอย่างเช่นการปลูกป่า ซึ่งก็ยังมีข้อจำกัด จึงต้องพึ่งพาสิ่งที่สำคัญอย่างมากกับประเทศในอนาคต ได้แก่ CCS Coalition, Co-creation & collective Efforts for All
“ในกระบวนต่างทั้ง C3 นี้ จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พร้อมกับประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) เทคโนโลยีไฮโดรเจน รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้โอกาสในการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม ปตท. เติบโตร่วมกับประเทศไทย จึงต้องทำธุรกิจร่วมกับการลดคาร์บอน จึงต้องร่วมมือทั้งกลุ่มปตท. และพาร์ทเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ การปรับพอร์ตธุรกิจคาร์บอนต่ำ จะต้องดูว่าใครเก่งตรงไหนก็ทำตรงนั้น เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ทำด้านพลังงานสะอาด ก็อาจจะต้องศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วย
ส่วนบริษัท โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะทำในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ขณะที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จะลงทุนผลิตภัณฑ์น้ำมันไบโอเจ็ตเพื่อส่งให้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ขาย ส่วน OR จะดูด้านอีโคซิสเต็มยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น ดังนั้น ความร่วมมือที่เป็นทีมเวิร์คจะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายได้ดี โดยเฉพาะการลดการใช้พลังงานในโรงงานและในกระบวนการผลิตของทั้งกลุ่ม
นอกจากนี้ ปัจจุบันปตท.อยู่ระหว่างเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ดำเนินการโดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ นับเป็นการดำเนินการแห่งแรกของประเทศไทย คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
รวมถึง เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่มปตท. ในพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปริมาณดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนรองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสม 5% ปี 2030 ในท่อส่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามร่างแผนPDP ฉบับใหม่ เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต
“สิ่งสำคัญคือความร่วมมือเรามอง 2 โครงการใหญ่ในระยะสั้นนี้ คือ เทคโนโลยี CCS และไฮโดรเจน จะทำให้ถึงเป้า Net Zero ได้ แต่ต้องร่วมมือททุกภาคส่วน กุญแจสำคัญคือ หากต้องการพลังงานสะอาด ราคารับได้ สุดท้ายภาครัฐต้องทำงานใกล้ชิด”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์