'กฟผ.' ชู 3 ภารกิจสร้างศักยภาพการแข่งขันประเทศ ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด
"กฟผ." ชู 3 ภารกิจหลัก สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันประเทศ เคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อยอดจากกลยุทธ์ CSR ด้วยการสร้างคุณค่าร่วม CSV ระหว่างกฟผ.และสังคมอย่างยั่งยืน
"กรุงเทพธุรกิจ" จัดงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน งานจะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสาต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในหัวข้อ "Green Energy for Sustainable Business Growth" ว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 60%และถ่านหินราว 20% ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานสีเขียว
ดังนั้น ในอนาคตของประเทศไทยหากดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จะพบว่า แผนPDP ฉบับปัจจุบันสัดส่วนพลังงานสะอาดวางไว้ที่ 36% ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาพนโยบายอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนฉบับใหม่ เช่น ต่อไปสัดส่วนพลังงานสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 51% ในปี 2580
ทั้งนี้ กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ผลิตและส่งไฟฟ้า จึงมองว่าหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางด้านธุรกิจของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศผ่าน 3 บทบาท คือ 1. การเพิ่มสัดส่วนทางงานไฟฟ้าสีเขียวของกฟผ. เช่น พัฒนาพลังงานสีเขียวเอง เช่น โรงไฟฟ้าทุ่นลอยน้ำตามเขื่อนต่างๆ ของกฟผ.
นอกจากนี้ ยังมองหาพลังงานทางเลือก คือ เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ซึ่งไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการยังรับซื้อไฟจากพลังงานสีเขียวทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของสายส่งให้รองรับของการเข้ามาของพลังงานสีเขียว และออกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวเช่น ไฮโดรเจนหรือแอมโมเนีย เป็นต้น
"ในช่วงเวลากลางวัน การผลิตไฟจากโซลาร์จะเกินกำลังการใช้ไฟ เราสามารถบริหารจัดการพลังงานในส่วนนี้เพื่อย้ายพลังงานจุดนี้ไปใช้ไปผลิตหรือจ่ายไปให้กับผู้ใช้ไฟในช่วงเวลากลางคืนได้ ถือเป็นความท้าทาย เพราะพลังงานแสงอาทิตย์เราไม่สามารถควบคุมการผลิตได้"
2. การพัฒนาระบบไฟฟ้าให้และให้ยืดหยุ่นทันสมัยเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน กฟผ.มีแผนพัฒนาระบบ Grid Modernization ถือเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการพลังงานสีเขียวสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟปัจจุบันมีระบบแบตเตอรีด้วยเทคโนโลยี “Battery Energy Storage System (BESS) มาใช้ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทยแล้วที่ จ.ชัยภูมิ และลพบุรี รองรับการใช้พลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน
รวมถึงพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับถือเป็นระบบกักเก็บพลังงานอีกประเภทหนึ่งสามาถเก็บส่วนเกินช่วงกลางวันมาจ่ายไฟในช่วงตอนค่ำ สิ่งสำคัญคือ ลดต้นทุนในการขยายสายส่งเป็นการเก็บพลังงานไว้และปล่อยในช่วงที่ระบบไฟฟ้าต้องการ โดยปัจจุบันกฟผ.มีศูนย์ควบคุมระบบกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ, ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด เพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าไทย
3. สร้างความสมดุลสู่ความยั่งยืน กฟผ.เป็นผู้ผู้ดูแล สร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้าทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เมื่อรวม 3 ส่วนไว้ด้วยกัน โดยเป้าหมายทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไฟฟ้าสีเขียวจะเป็นปัจจัยพื้นฐานช่วยให้ธุรกิจของประเทศไทยตอบโจทย์ความต้องการผลิตภัณฑ์สินค้าบริการทั้งโลก
"กฟผ.ขับเคลื่อนผ่านโครงการเพื่อสังคม 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สังคม และชุมชน แต่ก็จะเป็นแนวทางใหม่ที่พัฒนาต่อยอดจากกลยุทธ์ CSR ด้วยการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value หรือ CSV) ระหว่าง กฟผ. สังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน"