จากบากูถึงปูซาน: น้ำมันยังเป็นทั้งของขวัญและคำสาป

จากบากูถึงปูซาน: น้ำมันยังเป็นทั้งของขวัญและคำสาป

น้ำมันเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้การพัฒนาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จและการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศครั้งที่ 29 (COP29) ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย. ณ เมืองบากู อาเซอร์ไบจานกับการประชุมว่าด้วยการแสวงหาข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับขยะพลาสติกครั้งที่ 5 (INC-5) ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้ในสัปดาห์ต่อมาประสบความล้มเหลว

น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติซึ่งรวมเรียกว่าฟอสซิล เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของซากพืชและสัตว์ที่ถูกทับถมอยู่ใต้ผิวโลกนับล้านปี การเผาสิ่งเหล่านี้เกิดพลังงานซึ่งกระบวนการพัฒนาและการดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องการสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในการทำงานของโรงงานอุตสาหกรรม ในเกษตรกรรม ในโรงพยาบาลและสำนักงาน ในกิจการขนส่งและสื่อสาร ในเครื่องใช้ในบ้าน หรือในการปรับอากาศให้อุ่นและเย็นตามความจำเป็นของสภาพอากาศ

บทบาทแบบขาดมิได้ของฟอสซิลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทำให้หลายสังคมมองมันว่าเป็นพรจากสวรรค์ หรือของขวัญจากพระเจ้า ณ วันนี้ ทั้งที่มีความพยายามอย่างเร่งด่วนในการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ในหลายภาคของโลก กว่า 80% ของพลังงานที่เราใช้ยังมาจากการเผาน้ำมัน ตามด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะการเผาฟอสซิลก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งดูดซับความร้อนจากผิวโลกแล้วกระจายออกไปทุกทิศทางรวมทั้งย้อนกลับมายังผิวโลกด้วย กระบวนการนี้ทำให้ผิวโลกร้อนขึ้นและเกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศซึ่งมีผลเสียหายร้ายแรงมากจากการละลายของน้ำแข็งบนผิวโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ลมพายุที่เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น และความแห้งแล้งที่นานขึ้นและครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น

ความเสียหายมหาศาลจากกระบวนการเผาเอาพลังงานดังกล่าวมองได้ว่าเป็นคำสาปที่แฝงมากับฟอสซิล นอกจากจะเป็นปัจจัยพื้นฐานของพลังงานส่วนใหญ่ที่เราใช้อยู่แล้ว ฟอสซิลยังเป็นวัตถุดิบราว 99% ของพลาสติกที่เราใช้อีกด้วย พลาสติกมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา แต่ละปี เราจึงผลิตมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในขณะนี้เราผลิตราวปีละ 400 ล้านตันซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นขยะ ทั้งนี้เพราะราวครึ่งหนึ่งใช้ทำผลิตภัณฑ์จำพวกใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งและต่ำกว่า 10% ถูกนำกลับมาทำสิ่งใหม่ หรือใช้ซ้ำ

ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันรายวันจนดูจะขาดไม่ได้คงเป็นถุงพลาสติก ซึ่งกลายเป็นขยะที่เราเห็นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในแหล่งน้ำและลำคลอง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า แต่ละปีกว่า 10 ล้านตันของขยะนี้ถูกพัดพาไปลงทะเลซึ่งมีขยะสะสมอยู่มากจนยากแก่การประเมิน มันอาจสูงถึง 200 ล้านตัน ขยะเหล่านี้มีผลร้ายต่อสัตว์ทะเลและห่วงโซ่อาหาร

นอกจากขยะที่เรามองเห็นซึ่งเป็นอันตรายแล้ว ยังมีขยะที่เรามองไม่เห็นซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งคนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทั้งนี้เพราะมันปล่อยสารเคมีและก๊าซเรือนกระจกออกมาพร้อมกับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม อันตรายหลายด้านรวมกันจากพลาสติกจึงเสริมคำสาปอันเกิดจากการเผาเอาพลังงานของฟอสซิลให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น

เป้าหมายของ COP29 และ INC-5 ได้แก่การลดอันตรายดังกล่าว COP ทำกันมา 29 ครั้งเพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนผิวโลก ดังคอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อตกลงที่ได้ใน COP29 จะไม่ทำให้การยับยั้งนั้นได้ผลตามความประสงค์ ประเทศที่มีฟอสซิลมหาศาลมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความล้มเหลว

INC เป็นกระบวนการใหม่ซึ่งทำมาได้ 5 ครั้ง เป้าหมายได้แก่การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้เช่นกฎหมาย ต่างกับ COP ซึ่งแสวงหาคำมั่นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับใช้ ประเทศต่าง ๆ จึงมักไม่ทำตาม INC-5 ล้มเหลวเพราะตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายที่จบลงด้วยการได้สนธิสัญญา แต่ไม่ได้เพราะในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ต้องการให้จำกัดการผลิตพลาสติก ผู้มีฟอสซิลมหาศาลไม่กี่ประเทศคัดค้านและเสนอให้แก้ปัญหาโดยการจัดการกับขณะพลาสติก

เรื่องราวดังกล่าวนี้ชี้ชัดว่า แทนที่ผู้รับพรจากสวรรค์ หรือของขวัญจากพระเจ้าจำนวนมหาศาลจะใช้มันให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป กลับพอใจในการทำให้บาปที่แฝงมากับมันเพิ่มปัญหาให้แก่โลก