ปชน.ชงรัฐบาล ปรับมาตรการเปลี่ยนผ่าน Net Zero ดัน กม.เปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ
ปชน.ชงข้อเสนอรัฐบาลไทยในการประชุมโลกร้อน COP29 แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคประชาชน (ปชน.) นายวรภพ วิริยะโรจน์ และ น.ส.ศนิวาร บัวบาน 2 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในการเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) สมัยที่ 29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย. 2567
โดย น.ส.ศนิวาร กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาสภาวะโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านบาท หรือ 0.82% ของจีดีพี โดยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและภาคอีสานที่ผ่านมามีการประเมินมูลค่าความเสียหายไว้กว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือ 0.17% ของจีดีพี แม้ประเทศไทยจะมีการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand's National Adaptation Plan: NAP) ขึ้นในปี 2561 และได้รับการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ประเทศภาคีสมาชิกได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2558 แต่แผนนี้เป็นแค่กรอบกว้างๆ ที่ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกัน ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เพียงพอ และไม่มีกรอบงบประมาณการปรับตัวในแต่ละสาขา
น.ส.ศนิวาร กล่าวอีกว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการจัดทำกรอบการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศระดับโลกขึ้น โดยมีข้อตกลงว่าทุกประเทศต้องพยายามติดตั้งระบบเตือนภัยและการให้บริการข้อมูลภูมิอากาศที่ครอบคลุมภายในปี 2570 ซึ่งตนเข้าใจว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบอยู่ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยมีสถานีเตือนภัยเพียง 2,159 สถานี ครอบคลุม 5,954 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 75,142 หมู่บ้านทั่วประเทศ หรือคิดเป็นเพียง 8% ของพื้นที่ทั่วประเทศเท่านั้น และตอนนี้ตนก็ยังไม่เห็นแผนการขยายพื้นที่ติดตั้งสถานีเตือนภัยในแต่ละปี ซึ่งเหลืออีก 3 ปีก็จะครบกำหนดตามกรอบที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว จึงเป็นเรื่องท้าทายว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้ตามเป้าที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่ เรื่องของระบบเตือนภัยไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่ปี 2559 หน่วยงานต่างๆ หมดงบประมาณไปกว่า 613 ล้านบาททั้งในการติดตั้งระบบเตือนภัยใหม่และซ่อมบำรุงระบบเตือนภัยเดิม แต่ก็ยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากอุปกรณ์ที่จัดซื้อมาไม่เหมาะสม ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีความเข้มงวดในการจัดซื้อจัดจ้างให้มากกว่านี้
น.ส.ศนิวาร กล่าวด้วยว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยประเมินไว้ว่าประเทศไทยต้องใช้เงินสนับสนุนในมาตรการด้านการปรับตัวประมาณ 0.4-0.7% ของจีดีพีต่อปี หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมเงินทุนในการสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) อีกประมาณ 5-7 ล้านล้านบาท ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุนทั้งในและนอกประเทศ ทั้งงบประมาณแผ่นดิน การเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีจากผู้ก่อมลพิษ การกู้ยืม เงินสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ และการลงทุนของภาคเอกชน
พรรคประชาชนจึงขอเสนอว่า รัฐบาลควรใช้เวที COP29 ที่กำลังจะมีขึ้นนี้ เป็นเวทีในการแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยจะมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพในการปรับตัว เสริมสร้างความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปวงชนชาวไทย รวมทั้งกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ดังต่อไปนี้
1. ปรับปรุงแผนการปรับตัวระดับชาติ โดยเพิ่มการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการรับมือสภาวะโลกร้อน พร้อมระบุเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินการ
2. แสดงถึงความจำเป็นในการเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ
3. แสดงเจตจำนงในการทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงกองทุนต่างๆ ได้ เช่น กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย เนื่องจากประเทศไทยปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก หรือคิดเป็นอันดับที่ 18 ของทั้งโลก แต่ประเทศไทยมีความเปราะบางและความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
4. สร้างบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียน ในการกำหนดกลไกติดตามการสนับสนุนการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงต่อสภาวะโลกเดือดสูง ตามเป้าหมาย 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจนถึงปี 2568
5. เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้เงินทุนในรูปแบบเงินให้เปล่า และเงินกู้แบบผ่อนปรนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเป้าหมายทางการเงินทั้งเก่าและใหม่ ตามที่กำลังจะมีการหารือในการประชุมครั้งนี้
6. รัฐบาลอาจพิจารณารูปแบบการลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมที่มีความคุ้มค่า โดยเน้นการแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เช่น ธนาคารต้นไม้ การปรับปรุงดิน พื้นที่สาธารณะสำหรับหน่วงน้ำ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในการดูแลและปกป้องทรัพยากร โดยกำหนดแผนการลงทุนในแผนการปรับตัวให้ชัดเจน
7. การสนับสนุนทางการเงินต้องรวมถึงการให้เงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมด้วย
น.ส.ศนิวาร กล่าวว่า หากรัฐบาลแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังแล้ว เวทีนี้จะเป็นเวทีที่รัฐบาลสามารถแสดงให้นานาอารยะประเทศเห็นถึงบทบาทและความสำคัญของประเทศไทยในการจัดการกับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ขณะที่ นายวรภพ กล่าวว่า ในการประชุม COP26 เมื่อปี 2564 ประเทศไทยได้ประกาศต่อประชาคมโลกไว้ว่าภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 30-40% ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ประเทศไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และในปี 2065 (พ.ศ. 2608) ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) แต่ผ่านมา 3 ปีแล้วยังไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุตามที่ประกาศต่อประชาคมโลกไว้ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าในการผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่เป็นกฎหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมาย Net Zero เพราะถ้าไม่มีกฎหมายบังคับก็จะไม่เกิดสภาพบังคับให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง และยังขาดกลไกกองทุนที่จะมาสนับสนุนเพื่อให้เกิดการปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้มีการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ส่งเข้ามาสภาแต่อย่างใด
นายวรภพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้อดีตพรรคก้าวไกลเองก็ได้ยื่นร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีกลไกในการคุ้มครองสิทธิชุมชนและป้องกันการฟอกเขียวที่ครอบคลุมกว่า เข้าสู่สภาฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 แล้ว แต่ด้วยความที่เป็นร่างการเงินจึงต้องมีการลงนามรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งก็ยังคงรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามจนถึงทุกวันนี้ ที่น่ากังวลคือในอีกไม่เกิน 1 ปี 2 เดือนต่อจากนี้ สหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ในบางสินค้า และจะทยอยบังคับใช้จนถึงปี 2577 ถ้าประเทศไทยยังไม่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา สินค้าไทยที่เข้าข่ายก็จะต้องเสียภาษีคาร์บอนให้กับสหภาพยุโรป แทนที่จะมาเสียให้กับประเทศไทย
โดยสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและการดำเนินการที่ผ่านมาโดยรัฐบาล โดยระบุว่าจากข้อมูลของหน่วยงานราชการ ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งสามารถแบ่งเป็นภาคส่วนต่างๆ ได้ดังนี้
1. ภาคพลังงาน โดยส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 28% แต่ความคืบหน้าล่าสุดของรัฐบาลมีข้อน่ากังวลอย่างยิ่ง จากกรณีร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (PDP) 2024 (พ.ศ. 2567) ที่มีการรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยและยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ
โดยร่าง PDP 2024 กำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไว้เพียง 51% ในปีสุดท้ายของแผน หรือปี 2580 แต่ยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศไทยกำหนดไว้ว่าประเทศไทยต้องมีพลังงานหมุนเวียนถึง 68% ในปี 2583 ที่สัดส่วนไม่สอดคล้องเพราะตามร่างแผน PDP จะยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอซซิลเพิ่ม หรือจะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอีกถึง 8 โรง 6,300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง LNG Termnal ที่ 3 เพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็นด้วย
พรรคประชาชนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ไม่สนับสนุนขบวนการแอบอ้างพลังงานหมุนเวียนมาเป็นการฟอกเขียวและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน อย่างในกรณีขบวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ที่ไม่มีทั้งการเปิดประมูล ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีหลักเกณฑ์การคำนวณคัดเลือก มีการล็อกโควต้า และไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เอกชนต้องการ
2. ภาคการขนส่ง ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 20% สิ่งที่รัฐบาลทำต่อคือแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV30@30) และที่มีการทำใหม่คือรถไฟฟ้า 20 บาทบางสาย แต่ที่ยังไม่เห็นคือนโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่จะทำให้เกิดบริการขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ
3. ภาคอุตสาหกรรม ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนถึง 24% และภาคเกษตรกรรม ที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 15% พบว่ายังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลชุดนี้ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อพิเศษเพื่อการลงทุนในการปรับเปลี่ยน เงินอุดหนุนเพื่อทดลองในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, มาตรการสนับสนุนบริษัทจัดการพลังงานสำหรับหน่วยงานรัฐและเอกชน, มาตรการสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
4. ภาคของเสียและการจัดการขยะ แม้เป็นสัดส่วนเพียง 5% แต่ประเทศไทยยังมีบ่อฝังกลบเทกองที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ถูกต้องถึง 95% และเป็นส่วนสำคัญที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐบาลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการขยะ ที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมรับผิดชอบจากผู้ผลิต การเพิ่มอัตราการรีไซเคิล และการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
5. ภาคป่าไม้ ที่จะทำให้เกิดการดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 25% ยังไม่มีมาตรการใดๆ จากรัฐบาลชุดนี้ในการสนับสนุนให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้หรือเพิ่มพื้นที่การปลูกไม้ยืนต้น การพิสูจน์สิทธิที่ดินที่ยังค้างคาอยู่ถึง 22 ล้านไร่ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่มาเป็นพืชยืนต้นได้ หรือธนาคารต้นไม้ที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรมาปลูกไม้ยืนต้นและร่วมรักษาในช่วงเริ่มต้น หรือกระทั่งมาตรการ Negative Land Tax ที่จะปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถคืนภาษีที่ดินเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือจูงใจให้เกิดการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เมืองได้ หรือกระทั่งเรื่องพื้นฐานอย่างการจัดสรรงบประมาณป้องกันไฟป่า ที่มีการจัดสรรเพียง 100 ล้านบาท จากคำของบประมาณ 1,300 ล้านบาทในแต่ละปีเท่านั้น
นายวรภพ กล่าวอีกว่า เรื่องของสภาวะโลกรวนเป็นทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและโอกาสใหม่ๆ ของประเทศในทางเศรษฐกิจ จากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีพลังงานหมุนเวียน สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่มีจุดขายและจุดแข็งในตลาดโลก ธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจากค่าไฟที่ถูกและสะอาด
ดังนั้น ในการประชุม COP29 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีท่าทีและความมุ่งมั่นที่จะเร่งทำตามแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย แม้รัฐบาลจะมีการแถลงไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถึง 44% ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) แต่ประเด็นสำคัญคือการเริ่มทำ ไม่ใช่การกำหนดเป้าหมายเท่านั้น รัฐบาลควรต้องเร่งออก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เร็วที่สุด แสดงเจตจำนงและกำหนดเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจน ว่าจะผลักดันให้ออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในครึ่งปีแรกของปี 2568 นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรต้องทบทวนร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ที่ไม่ควรต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอซซิลเพิ่มอีกแล้ว และเร่งออกมาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเพื่อให้มีการทยอยปรับเปลี่ยนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่ความยั่งยืนโดยเร็วที่สุด