สส.ปชน.ชี้ 'แอ่วเหนือคนละครึ่ง' กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย แนะโฟกัสท่องเที่ยว
'ณัฐพล' วิจารณ์ 'แอ่วเหนือคนละครึ่ง' โครงการฟื้นฟูเมืองหลังน้ำลด กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยเกินไป แนะใช้มาตรการเที่ยวเมืองน้ำลดแทน จับตาเร่งรัดธนาคารรัฐ ปล่อย 'ซอฟต์โลน' ให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อน
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการฟื้นฟูเมืองหลังน้ำลดในพื้นที่ภาคเหนือ หลังมีรายงานว่ามาตรการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ของรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ตรงจุด แม้ช่วยผู้ประกอบการได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญ โดยมาตรการแอ่วเหนือคนละครึ่งนั้นน้อยเกินไปที่จะฟื้นฟูเมืองหลังน้ำลดเพราะให้เพียง 10,000 สิทธิ สิทธิละ 400 บาท เท่ากับวงเงินรวมเพียง 4 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการหรือค่าทำระบบรองรับอาจจะแพงกว่าสิทธิประโยชน์ด้วยซ้ำ
นายณัฐพล กล่าวว่า จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ผู้แทนพรรคประชาชนและคณะทำงานจังหวัด ร่วมกับกลุ่มประชาชนอาสา เข้าช่วยทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย สิ่งหนึ่งที่เราพบเยอะมากคือใบปลิวนามบัตรเงินกู้นอกระบบ เรียงรายอยู่ในเมืองที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม สะท้อนปัญหาใหญ่เรื้อรังคือประชาชนและผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ข้อเสนอของพรรคประชาชน รัฐบาลควรช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการให้พร้อมกลับมาดำเนินธุรกิจ แล้วจึงกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยอุปสรรคที่สำคัญของผู้ประกอบการในพื้นที่ คือ การขาดสภาพคล่อง ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการกู้มาฟื้นฟูกิจการและรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแม้รัฐบาลมีโครงการ Soft Loan ของธนาคารออมสิน 50,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม แต่ถ้ารัฐบาลไม่เพิ่มการประชาสัมพันธ์และไม่ลงมาจี้ธนาคารรัฐให้ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่เดือดร้อน ผลลัพธ์คือผู้ประกอบการจะเข้าไม่ถึงสินเชื่ออยู่ดี ซึ่งจะไม่ต่างจากโครงการ Soft Loan ของธนาคารออมสิน 100,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติมา 2 เดือน แต่ปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ได้เพียง 5,942 ล้านบาท หรือ 6% เท่านั้น
นายณัฐพล กล่าวด้วยว่า ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวนั้น ข้อเสนอที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน เคยเสนอในกระทู้สดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือมาตรการเที่ยวเมืองหลังน้ำลด ซึ่งใช้หลักการเดียวกับมาตรการเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลได้เลยด้วยซ้ำ ขอเพียงมีมติ ครม. อนุมัติ จูงใจให้คนและบริษัทไปเที่ยวเมืองที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นำไปหักลดหย่อนภาษีบุคคลและนิติบุคคลได้
"ยกตัวอย่างมาตรการเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลนี้ บุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายเที่ยวเมืองรองหักภาษีได้ 15,000 บาท นิติบุคคลหักค่าใช้จ่ายเที่ยวเมืองรองได้ 1.5 - 2.0 เท่า คาดว่าจะเกิดเงินท่องเที่ยวถึง 6,500 ล้านบาท นี่คือโอกาสที่เมืองน้ำลดซึ่งอยู่ระหว่างฟื้นฟูเมืองควรจะได้ในเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะรองรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นเดือนธันวาคม ถ้ารัฐบาลเพิ่มมาตรการเที่ยวเมืองน้ำลดเพิ่มเติมจากมาตรการเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล เห็นว่ารัฐบาลสามารถทำได้ทันที" นายณัฐพล กล่าว