5 อุตสาหกรรมเตรียมปรับแผน หลัง ครม. เคาะนโยบายลดคาร์บอน 222.3 ล้านตัน
ประเทศไทยมุ่งมั่นต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส การบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมหลักจะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมของประเทศ และของโลก
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งจำเป็นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจกมีคาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์, และไอน้ำ ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เนื่องจากความหนาแน่นและความสามารถในการดูดซับความร้อนจากการกระทำของมนุษย์
แต่ละประเทศที่ลงนามและให้สัตยาบันเพื่อร่วมกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกตาม ข้อผูกพันของความตกลงปารีส ต้องมี NDCs (Nationally Determined Contributions) ที่แสดงความมุ่งมั่นสูงสุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบต่อ แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 -2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021 – 2030) ตามที่เสนอโดนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแผนปฏิบัติการนี้ มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 222.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ใน 5 สาขา เร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1) การดำเนินการในประเทศ จำนวน 184.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) หรือร้อยละ 33.3 ประกอบด้วย
- สาขาพลังงาน จำนวน 124.6 MtCO2eq
- สาขาคมนาคมขนส่ง 45.6 MtCO2eq
- สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม 9.1 MtCO2eq
- สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 1.4 MtCO2eq
- และสาขาเกษตร 4.1 MtCO2eq
2) กรณีได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ จำนวน 37.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 6.7
และ 3) กรณีการใช้กลไกบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ สูงสุดไม่เกินร้อยละ 3 โดยไม่ให้เกิดภาระต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการฉบับนี้
5 แนวทางการพัฒนา
สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ประกอบด้วย 5 แนวทางการพัฒนา 17 แผนงาน 140 มาตรการ ได้แก่
- แนวทางการพัฒนาที่ 1 ขับเคลื่อนและติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รายสาขา (4 แผนงาน 76 มาตรการ)
- แนวทางการพัฒนาที่ 2 พัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือและกลไกในการสนับสนุน การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (4 แผนงาน 25 มาตรการ)
- แนวทางการพัฒนาที่ 3 เสริมสร้างศักยภาพ การมีส่วนร่วม และเครือข่ายความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (4 แผนงาน 16 มาตรการ)
- แนวทางการพัฒนาที่ 4 เตรียมความพร้อมการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศ (3 แผนงาน 17 มาตรการ)
- แนวทางการพัฒนาที่ 5 ส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือด้านการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่าง ประเทศ (2 แผนงาน 6 มาตรการ)
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในแต่ละสาขา ได้แก่
- สาขาพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
- สาขาคมนาคมขนส่ง โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
- สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยกรมควบคุมมลพิษ
- สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม
- สาขาเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกฯ จะช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีองค์ความรู้ และงบประมาณจากต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามที่ได้ประกาศไว้ต่อประชาคมโลก