‘สิงคโปร์’ ปลูก ‘ปะการัง’ 100,000 กิ่ง ฟื้นฟูท้องทะเลให้สมบูรณ์อีกครั้ง

‘สิงคโปร์’ ปลูก ‘ปะการัง’ 100,000 กิ่ง ฟื้นฟูท้องทะเลให้สมบูรณ์อีกครั้ง

สิงคโปร์เปิดตัวโครงการฟื้นฟูปะการัง 100,000 กิ่ง ในชื่อ “100k Corals Initiative” เพื่อปลูกปะการังในน่านน้ำของสิงคโปร์ตลอด 10 ปีข้างหน้าและในอนาคต ถือเป็นโครงการฟื้นฟูปะการังครั้งใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์

KEY

POINTS

  • สิงคโปร์เปิดตัวโครงการฟื้นฟูปะการัง ด้วยการปลูกปะการัง 100,000 กิ่ง ถือเป็นโครงการฟื้นฟูปะการังครั้งใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์
  • ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สิงคโปร์สูญเสียแนวปะการังไปประมาณ 60% จากการพัฒนาชายฝั่งและการถมทะเล 
  • ปะการังจะถูกเพาะเลี้ยงในสถานที่ปิดก่อน เมื่อปะการังโตขึ้นระดับหนึ่ง พวกมันจะถูกย้ายไปยังแนวปะการังที่เสียหายเพื่อช่วยฟื้นฟู หรือจะย้ายไปยังพื้นที่อื่นเพื่อสร้างชุมชนใหม่

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวยังคงเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ซึ่งในปี 2024 ได้เกิดเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลกครั้งที่ 4 นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศพยายามหาทางฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือ “สิงคโปร์” ที่ตั้งเป้าจะปลูกปะการังให้ได้ 100,000 กิ่ง

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สิงคโปร์สูญเสียแนวปะการังไปประมาณ 60% จากการพัฒนาชายฝั่งและการถมทะเล โดยเหลือแนวปะการังที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ทางตอนใต้ของประเทศเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่น่านน้ำของสิงคโปร์เป็นที่อยู่อาศัยของปะการังแข็งประมาณ 250 สายพันธุ์ คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ปะการังที่มีอยู่ทั่วโลก

อีกทั้ง แนวปะการังของสิงคโปร์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาแนวปะการังมากกว่า 100 สายพันธุ์ ฟองน้ำทะเลประมาณ 200 สายพันธุ์ ม้าน้ำและหอยแครงหายากและใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงสัตว์ทะเลอื่น ๆ อีกทั้งแนวปะการังยังช่วยปกป้องแนวชายฝั่งจากคลื่นและพายุที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย

คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ NParks เปิดตัวโครงการฟื้นฟูปะการัง 100,000 กิ่ง ในชื่อ “100k Corals Initiativeเพื่อปลูกปะการังในน่านน้ำของสิงคโปร์ตลอด 10 ปีข้างหน้าและในอนาคต ถือเป็นโครงการฟื้นฟูปะการังครั้งใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์

แผนดังกล่าวถูกประกาศครั้งแรก โดยเดสมอนด์ ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงบูรณาการบริการสังคม ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวปะการังเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 5 เมื่อปี 2023

นอกจากจะปลูกปะการังเพิ่มแล้ว NParks ระบุว่าโครงการนี้จะรวมถึงการฟื้นฟูปะการังที่มีอยู่ เพื่อปรับปรุงความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชนปะการังและแนวปะการังอย่างมีนัยสำคัญ และจะสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงปะการัง ที่ศูนย์บริการและการศึกษาอุทยานทางทะเล บนเกาะเซนต์จอห์น โดยจะเปิดเต็มรูปแบบและให้สาธารณชนเข้าชมได้ในช่วงกลางปี 2025 โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปะการัง หลังจากนั้นจะย้ายไปปลูกในทะเล เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมหรือสร้างชุมชนใหม่

นายลีกล่าวในการเปิดตัวโครงการที่เกาะเซนต์จอห์นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อแนวปะการังของสิงคโปร์ ที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้ดำเนินการเพื่ออนุรักษ์แนวปะการัง เช่น การตรวจสอบสัญญาณของการฟอกขาวของปะการัง ปรับปรุงแนวปะการังเพื่อให้ปะการังเติบโตได้ดีขึ้น

 

จากห้องทดลองสู่แหล่งน้ำ

ปะการังที่จะถูกนำมาเพาะเลี้ยงในโครงการนี้ จะเป็นกลุ่มปะการังเขากวาง และปะการังเขากวางโต๊ะซึ่งอยู่ในโครงการฟื้นฟูสายพันธุ์ของ NParks อยู่แล้ว โดยโครงการฟื้นฟูนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการอนุรักษ์ธรรมชาติของ NParks เปิดตัวในปี 2558 กำหนดกลยุทธ์ในการปกป้อง ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัยของชายฝั่งและทางทะเลของสิงคโปร์ มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์พืชและสัตว์พื้นเมือง ซึ่งมุ่งเป้าไปที่สายพันธุ์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ 

ปะการังเขากวางชิ้นเดียวสามารถเติบโตได้ 30 ซม. ในเวลาเพียง 6 เดือน และสามารถตัดมาเพาะเลี้ยงได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและนำไปปลูกบนแนวปะการังได้ ส่วนปะการังเขากวางโต๊ะ แม้จะไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น แต่สามารถเติบโตได้ดีในน้ำที่มีกระแสน้ำแรงและมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยพบในสิงคโปร์

สถานเพาะเลี้ยงแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นสถานรับเลี้ยงปะการังนอกแหล่งที่อยู่อาศัย โดยสามารถจะมีบ่อเลี้ยงปะการังถึง 6 บ่อ ซึ่งสามารถปลูกหน่อปะการังได้มากถึง 3,600 ตัวในครั้งเดียว โดยหน่อปะการังจะถูกยึดเข้ากับกรอบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มจำนวนปะการังและอาศัยอยู่ในบ่อและเติบโตได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ เช่น แสงและอุณหภูมิ ตลอดจนคุณภาพน้ำและกระแสน้ำให้เฉพาะเจาะจงกับแต่ละสายพันธุ์

เมื่อปะการังโตขึ้นระดับหนึ่ง พวกมันจะถูกย้ายไปยังแนวปะการังที่เสียหายเพื่อช่วยฟื้นฟู หรือจะย้ายไปยังพื้นที่อื่นเพื่อสร้างชุมชนใหม่ รวมไปถึง “ปะการังแห่งโอกาส” (Corals of Opportunity) ซึ่งเป็นกลุ่มปะการังที่แตกออกจากแนวปะการัง เนื่องจากการกระทำของคลื่นหรือพายุ 

“โครงการนี้จะช่วยในการฟื้นฟูสายพันธุ์ปะการังหายาก เพิ่มจำนวนและความหลากหลายของปะการังในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการการอนุรักษ์ทางทะเลของ NParks เพื่อปกป้องมรดกทางธรรมชาติของเรา” NParks กล่าวเสริม

บ่อเพาะเลี้ยงปะการังทั้งหมดจะได้รับการติดตั้งระบบเพาะเลี้ยงปะการังอัจฉริยะจากบริษท Delta Electronics ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง NParks และ Delta โดยระบบดังกล่าวจะตรวจสอบสภาพน้ำด้วยเครื่องมือต่าง ๆ และส่งข้อมูลไปยังนักวิจัย ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบจากระยะไกลและดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เช่น หากอุณหภูมิของถังสูงเกินไป ระบบอัตโนมัติจะส่งการแจ้งเตือน ทำให้ตอบสนองได้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถลดผลกระทบเชิงลบ อย่างเช่น ปะการังฟอกขาวได้ 

NParks ยังจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาแผนการฟื้นฟูแนวปะการังทั่วประเทศ รวมถึงโปรแกรมติดตามผลทางวิทยาศาสตร์ของพลเมืองสำหรับปะการังที่ย้ายปลูก สำหรับอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยในโครงการนี้ จะได้รับการฝึกอบรมเพื่อช่วยเหลือในการเลี้ยงปะการัง ซึ่งเป็นแนวทางการเลี้ยงปะการังในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม เพื่อช่วยให้ปะการังสามารถสืบพันธุ์และเติบโตได้ รวมถึงข้อกำหนดในการติดตามใต้น้ำ

สำหรับ โครงการ 100k Corals Initiative ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน Garden City Fund องค์กรการกุศลที่จดทะเบียนกับ NParks มากกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์ และจากผู้บริจาครายอื่น เช่น Delta Electronics, GSK-EDB Trust Fund, Deutsche Bank, Takashimaya Singapore และ KPI OceanConnect


ที่มา: CNANParkThe Independent SingaporeThe Straits Times