ปี 2024 ใช้ ‘ถ่านหิน’ สูงสุดทำลายสถิติ ตามความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น
การใช้ถ่านหินทั่วโลกจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2024 ซึ่งถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้อย่างแน่นอน
KEY
POINTS
- ปี 2024 จะมีการใช้ถ่านหินมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ด้วยจำนวน 8,770 ล้านตันในปี 2024 และจะสูงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3
- หลังจากนี้ความต้องการถ่านหินจะยังคงที่ไปจนถึงปี 2027 และหลังจากนั้นการใช้ถ่านหินและความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเริ่มลดลง เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้น จนสามารถเข้ามาทดแทนการผลิตพลังงานจากถ่านหินได้
- “จีน” ใช้ถ่านหินมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกรวมกันถึง 30% ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของจีนอย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีการเรียกร้องให้มนุษย์หยุดการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุดซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่า ความต้องการถ่านหินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2024 จะมีการใช้ถ่านหินมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา และจะสูงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3
เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S ระบุว่า ข้อมูลจากเดือนมกราคม-พฤศจิกายนได้ยืนยันแล้วว่าปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ด้วยอุณหภูมิ 1.62 องศาเซลเซียส หากต้องการการรักษาอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสช่วงก่อนอุตสาหกรรม จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลง 45% ภายในปี 2030
ดูเหมือนว่า เป้าหมายลดการักษาอุณหภูมิในต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตาม “ความตกลงปารีส” จะเลือนรางเต็มที หลังจาก IEA เผยแพร่รายงานตลาดถ่านหินประจำ “Coal 2024” ที่คาดการณ์ว่าโลกจะใช้เชื้อเพลิงถ่านหินถึงจุดสูงสุดในปี 2027 หลังจากแตะระดับ 8,770 ล้านตันในปี 2024
ตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา “จีน” ใช้ถ่านหินมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกรวมกันถึง 30% ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยถ่านหินมากกว่า 33% ของโลก ถูกเผาในโรงไฟฟ้าของจีน แม้ว่าจีนจะหันมาใช้ “พลังงานหมุนเวียน” มากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอย่างมหาศาล แต่ IEA ระบุว่าความต้องการถ่านหินของจีนในปี 2024 จะเพิ่มขึ้น 1% สูงถึง 4,900 ล้านตัน ทำลายสถิติใหม่อีกครั้ง
นอกจากจีนแล้ว ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรม
สวนทางกับสหภาพยุโรปและสหรัฐ ที่มีใช้ถ่านหินมีแนวโน้มลดลง 12% และ 5% ตามลำดับ โดย IEA คาดว่าความต้องการถ่านหินของประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วและจะยังคงลดลงจนถึงปี 2027 เพราะหลังจากนี้หลายประเทศจะเริ่มทยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างเช่นสหราชอาณาจักรที่ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเปิดทำการอยู่อีกแล้ว โดยอัตราการลดลงจะยังคงขึ้นอยู่กับการบังคับใช้แนวนโยบายที่เข้มแข็ง ทั้งนโยบายที่ดำเนินการและแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น ก๊าซธรรมชาติราคาถูกในสหรัฐและแคนาดา
อีกทั้ง การสร้างศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานมาก เพื่อรองรับความต้องการเอไอที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้ความต้องการไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกัน รูปแบบสภาพอากาศอาจส่งผลต่อความผันผวนของการบริโภคถ่านหินในระยะสั้น ตามรายงาน ความต้องการถ่านหินในจีนภายในปี 2027 อาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 140 ล้านตัน เนื่องจากความแปรปรวนที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในการผลิตพลังงานหมุนเวียน
เอเชียยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าถ่านหินระหว่างประเทศ โดยประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ในขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซียและออสเตรเลีย คาดว่าปริมาณการค้าถ่านหินระหว่างประเทศตามจะแตะระดับสูงสุดในปี 2024 ที่ 1,550 ล้านตัน โดยราคาถ่านหินในปัจจุบันยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2017 และ 2019 ถึง 50%
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนกลัวว่า การแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศอาจจะถูกลดความสำคัญลง หลังจากที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ
รายงานประจำปี 2024 ของ IEA ไม่ตรงกับการคาดการณ์ในปี 2023 ที่ระบุว่าการใช้ถ่านหินจะเริ่มลดลงหลังจากแตะจุดสูงสุดในปี 2023 ซึ่งคาดจากผลการประชุม COP28 ที่ดูไบ ที่ประเทศต่าง ๆ ประกาศว่าจะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคพลังงานสีเขียว
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าความล้มเหลวในการทำตามคำมั่นสัญญาสำคัญดังกล่าวในการประชุม COP29 ที่อาเซอร์ไบจานอาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ล้มเลิกความตั้งใจและความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
IEA คาดว่า หลังจากนี้ความต้องการถ่านหินจะยังคงที่ไปจนถึงปี 2027 และหลังจากนั้นการใช้ถ่านหินและความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเริ่มลดลง เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้น จนสามารถเข้ามาทดแทนการผลิตพลังงานจากถ่านหินได้ แม้ว่าความต้องการไฟฟ้าในประเทศกำลังพัฒนาจะพุ่งสูงขึ้นก็ตาม
เคอิสุเกะ ซาดาโมริ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดพลังงานและความมั่นคงของ IEA กล่าวว่า “การปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างรวดเร็วกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของภาคส่วนการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นสองในสามของการใช้ถ่านหินทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ แบบจำลองของเราจึงแสดงให้เห็นว่าความต้องการถ่านหินทั่วโลกจะคงที่จนถึงปี 2027 แม้ว่าการบริโภคไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม”
ที่มา: IEA, The Guardian, The Straits Times