อาคารริมทะเล ‘ฟลอริดา’ กำลังจมน้ำ จากปัญหา ‘ดินทรุด-กัดเซาะชายฝั่ง’
ระหว่างปี 2016-2023 มีอาคาร 35 หลังตามแนวชายฝั่งทางใต้ของฟลอริดา อาจจมน้ำ เพราะกำลังเจอปัญหาดินทรุดตัว ตั้งแต่ 2-8 เซนติเมตร
KEY
POINTS
- ระหว่างปี 2016-2023 มีอาคาร 35 หลังตามแนวชายฝั่งทางใต้ของฟลอริดากำลังประสบปัญหาการทรุดตัว ตั้งแต่ 2-8 เซนติเมตร
- ปัจจัยที่ทำให้อาคารทรุดตัวมีด้วยกันหลายประการ เช่น การเคลื่อนตัวของชั้นหินปูนและทราย กระแสน้ำขึ้นน้ำลง น้ำหนักของอาคาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจทำให้เกิดรอยแตกร้าว ประตูไม่ตรงแนว และปัญหาโครงสร้างอื่น ๆ ตามมา
ตราบใดที่มนุษย์ยังคงพยายามสร้างตึกระฟ้าให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์ก็ยังต้องเผชิญกับกฎธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เห็นได้ชัดจากคอนโดและโรงแรมในฟลอริดา ที่กำลังเผชิญกับการกัดเซาะชายฝั่ง หลุมยุบ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งทำให้อาคารเหล่านี้กำลังจมลง
ตามรายงานจากนักวิจัยจาก Rosenstiel School of Marine, Atmospheric, and Earth Science ของมหาวิทยาลัยไมอามี พบว่า ระหว่างปี 2016-2023 มีอาคาร 35 หลังตามแนวชายฝั่งทางใต้ของฟลอริดา ตั้งแต่ชายฝั่งไมอามีบีชถึงซันนี่ไอลส์บีช คิดเป็นระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตรกำลังประสบปัญหาการทรุดตัว ตั้งแต่ 2-8 เซนติเมตร
การศึกษานี้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลง โดยดูที่จุดเฉพาะของอาคาร เช่น ระเบียงและเครื่องปรับอากาศบนดาดฟ้า และวัดการเคลื่อนตัวตามเวลา ซึ่งการทรุดตัวที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดในอาคารในซันนี่ไอส์ลส์บีช นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าข้อมูลเบื้องต้นยังบ่งชี้ว่ามีการทรุดตัวหรือทรุดตัวทางตอนเหนือมากขึ้น
ฟาร์ซาเนห์ อาซิส ซานจานี หัวหน้าคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยไมอามี กล่าวว่า “การศึกษานี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการติดตามอย่างต่อเนื่องและการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวสำหรับโครงสร้างอาคารเหล่านี้”
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาคารจะทรุดตัวเล็กน้อยระหว่างและหลังการก่อสร้าง เนื่องจากอาคารมีน้ำหนักมากและวิศวกรจะคำนึงถึงเรื่องนี้เมื่อทำการก่อสร้าง แต่การที่อาคารยังคงทรุดตัวต่อไปอีกหลายปีหลังจากนั้นถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของอาคารตามแนวชายฝั่ง เกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินปูนและทราย ซึ่งสามารถเคลื่อนตัวได้ภายใต้แรงกดของตึกสูง และเป็นผลจากแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างฐานราก นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า กระแสน้ำขึ้นน้ำลงรายวัน ซึ่งเคลื่อนย้ายน้ำเข้าและออกจากชายฝั่งยังทำให้พื้นดินเคลื่อนตัวและอาคารเหนือพื้นดินจมได้อีกด้วย
ตลอดจนโครงการก่อสร้างที่อยู่ห่างออกไปถึง 320 เมตร รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น น้ำหนักของอาคาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตำแหน่งของโครงสร้างเมื่อเทียบกับบ่อน้ำใต้ดิน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อาคารทรุดตัวได้เช่นกัน
นักวิจัยเริ่มทำการศึกษานี้ เมื่อคอนโดมิเนียม Champlain Towers South ในเซิร์ฟไซด์ถล่ม เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 98 ราย แม้ว่านักวิจัยจะไม่ตรวจพบสัญญาณใด ๆ ของการทรุดตัวก่อนที่อาคารจะถล่ม และเชื่อว่าเกิดจากและคอนกรีตเสริมเหล็กเสื่อมสภาพจากการบำรุงรักษาที่ไม่ดีและการออกแบบที่บกพร่อง แต่ก็พบหลักฐานของการทรุดตัวที่อาคารริมชายหาดบริเวณใกล้เคียงและตามแนวชายฝั่ง ผู้เขียนจึงเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องตรวจสอบเสถียรภาพของโครงสร้าง (Structural Stability) โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ
อย่างไรก็ตาม เอสเบอร์ แอนดิโรกลู ผู้เรียนร่วมการศึกษานี้กล่าวว่าการศึกษาดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย แต่มุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์และซ่อมแซมอาคารตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะต้องเสียค่าบำรุงรักษาราคาสูง
แม้อาคารทั้งหมดจะยังไม่ถล่มในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่อาคารกำลังทรุดตัวอย่างช้า ๆ หากไม่ได้รับการควบคุม การทรุดตัวที่ไม่เท่ากันอาจทำให้เกิดรอยแตกร้าว ประตูไม่ตรงแนว และปัญหาโครงสร้างอื่น ๆ ตามมา
“เพื่อให้เคลียร์ ในไม่มีอาคารใดในซันนี่ไอลส์บีชที่กำลังจม!” ลาริสา สเวชิน นายกเทศมนตรีซันนี่ไอลส์บีชกล่าวกับนิตยสารนิวส์วีค พร้อมกล่าวเสริมว่า อาคารที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเมืองถูกการตรวจสอบและได้รับใบรับรองการเข้าอยู่อาศัยที่เป็นไปตามกฎหมายอาคารของรัฐฟลอริดา ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายด้านอาคารที่ปลอดภัยที่สุดของสหรัฐ
นายกเทศมนตรียังระบุว่า ขณะนี้นักพัฒนากำลังทำงานร่วมกับวิศวกรระดับโลก เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างอาคารมีความสมบูรณ์ และคาดว่าจะมีการทรุดตัวในระดับหนึ่ง ซึ่งวิศวกรด้านธรณีเทคนิคและโครงสร้างจะออกแบบอาคารให้คำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวในระยะยาว โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การวางฐานรากลึก การตอกเสาเข็ม หรือการทำให้พื้นดินมั่นคง
แม้แต่ผู้เขียนผลการศึกษาก็พยายามไม่ให้ผู้คนแตกตื่นจากผลการวิจัยของพวกเขา “เราไม่อยากให้ใครตกใจเราแค่อยากจะบอกว่าใช่ มีการทรุดตัวเกิดขึ้นเล็กน้อย และเราต้องการวัดผล” ศ.เกรกอร์ เอเบอร์ลี ผู้เขียนร่วมของผลการศึกษากล่าวกับเอ็นบีซี ไมอามี
การวิจัยนี้สอดคล้องกับผลวิจัยก่อนหน้าของ Virginia Tech และสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ ที่แสดงให้เห็นว่าอาคารในเมืองใหญ่ ๆ ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจมลง โดยอาคารในนิวยอร์กซิตี้ ลองไอส์แลนด์ บัลติมอร์ และเวอร์จิเนียบีชจมลงมากกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล
“การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลที่สัมพันธ์กันไม่ว่าระดับพื้นดินจะลดลงหรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นก็ตาม จะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงในภูมิภาคนี้” มานูเชห์ ชีร์ซาอี นักธรณีฟิสิกส์จาก Virginia Tech กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่าไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนก เพราะปัจจุบันใช้ดาวเทียมในการตรวจสอบเสถียรภาพของตึกสูงริมชายฝั่งล่วงหน้าอย่างเป็นประจำได้แล้ว และมั่นใจว่าสามารถรับมือ พร้อมป้องกันอาคารได้ก่อนเกิดภัยพิบัติ