‘ร้อยใจรักษ์’ บทพิสูจน์ ‘การพัฒนาทางเลือก’ โมเดลแก้ปัญหายาเสพติดยั่งยืน
ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหารุนแรงที่บั่นทอนเศรษฐกิจ ชีวิตผู้คน และฉุดรั้งการพัฒนาประเทศไทยในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากปราบปราม และการบังคับใช้กฎหมายยังต้องมีการนำเอาศาสตร์การพัฒนาไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ไม่ให้คนไม่กลับไปหายาเสพติดอีก
แนวคิดที่จะใช้ศาสตร์การพัฒนาแก้ปัญหายาเสพติดที่เกิดจากการขาดโอกาสและความยากจน ทำให้เกิดโครงการ “ร้อยใจรักษ์” ขึ้นในปี 2560 ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาที่ทรงริเริ่มโครงการนี้ด้วยพระราชปณิธานที่จะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
ในอดีตพื้นที่ ประมาณ 37,119 ไร่ 4 หมู่บ้านหลัก 20 หมู่บ้านย่อย โดย 4 หมู่บ้านหลัก ได้แก่ บ้านห้วยส้าน บ้านเมืองงามเหนือ บ้านหัวเมืองงามและบ้านเมืองงามใต้ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1,132 ครัวเรือน 4,709 คน พื้นที่ตำบลท่าตอน เป็นพื้นที่เปราะบางและมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นที่รู้จักว่ามีปัญหาการค้าและลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ นายเล่าต๋า แสนลี่ อดีตราชายาเสพติดทางภาคเหนือ
โครงการ “ร้อยใจรักษ์” ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เป็นการบูรณาการ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคท้องที่ท้องถิ่น จำนวน 263 คน และชาวบ้าน 208 คน รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 471 คน รวม 64 หน่วยงาน โครงการร้อยใจรักษ์เป็นโครงการเพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกัน ทำงานเพื่อความผาสุก มั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและสังคม
โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส. มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีส่วนร่วม ในทุกมิติตามศาสตร์พระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน สร้างอาชีพทางเลือกที่สุจริตและหลากหลาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น และ วางรากฐานสู่รายได้ที่มั่นคงในระยะยาว พัฒนาด้านการศึกษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงในการกลับไปค้ายาเสพติดของคนในชุมชน นั่นคือ ด้านอุปทาน (Supply) ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติด นั่นคือ ด้านอุปสงค์ (Demand) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน มีระยะเวลา ดำเนินงานทั้งสิ้น 12 ปี ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยส้านและลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าเป้าหมายในการทำงานในโครงการร้อยใจรักษ์ คือโครงการที่เราทำในพื้นที่ ต้องพยายามที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ของชุมชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องให้ได้ เพราะหากเราไม่สามารถทำได้ จะง่ายมากที่พวกเขาจะกลับไปค้าขายยาเสพติดอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือการทำให้คนมีโอกาสในการเติบโต ต่อยอด บนเส้นทางที่สุจริตเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เขาจะเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง แต่หากมีปัญหาก็อาจจะเกิดเหตุการณ์
“ผมจะพูดเสมอว่าการที่เราจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกจากการทำธุรกิจผิดกฎหมายต้องสร้างอะไรที่พวกเขาต้องเสีย หรือที่เรียกว่า give them something to lose เหมือนกับสิ่งที่จะดึงให้เขากลับมาในเส้นทางที่ถูกต้อง เช่น รายได้สุจริต ชุมชนที่มองเขาจากคนไม่มีค่าเป็นคนที่มีคุณค่า ความภูมิใจที่ลูกมองพ่อ ว่าพ่อประกอบอาชีพสุจริตนั้นคือสิ่งที่จำเป็น”
ศาสตร์การพัฒนาสู่การแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่กึ่งเมือง
ในส่วนของความสำเร็จที่ร้อยใจรักษ์ต่อยอดจากโครงการร้อยใจรักษ์ คือเอาหลักการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ไปแก้ปัญหายาเสพติดในส่วนที่เป็นยาเสพติดสังเคราะห์ ซึ่งถือเป็นที่แรกของโลก ซึ่งโมเดลนี้เมื่อไปคุยในเวทีการพัฒนาระดับโลก ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะแต่เดิมในเวทีขององค์การสหประชาชาติ (UN) นั้นเคยมีความคิดว่าหากเป็นเรื่องของการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development :AD) ต้องใช้กับการแก้ปัญหายาเสพติดที่เป็นพืชยาเสพติดในชนบทเท่านั้น แต่ว่าในศาสตร์พัฒนาของในหลวง ร.9 และสมเด็จย่านั้นมีการยกระดับว่าปัญหายาเสพติดนั้นมาจากปัญหาความยากจน และการขาดโอกาสในทางเลือกของชีวิต
ในอดีตการปลูกฝิ่นบนดอยนั้นมาจากคนขาดโอกาสและขาดทางเลือกจริงๆ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันความยากจนและการขาดโอกาส นั้นเกิดในชุมชนที่ไม่ใช่ชุมชนชนบทอย่างเดียว แต่เกิดในชุมชนที่เป็นกึ่งชุมชนเมือง เช่น ชุมชน ร้อยใจรักษ์ คนที่ขาดโอกาส คนที่ยากจน แต่ไม่ได้ปลูกฝิ่น แต่ไปทำงานที่เกี่ยวกับยาเสพติด เช่น ขนยา พักยา เป็นรายย่อย อย่างในชุมชนร้อยใจรักษ์ในอดีต ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งทำให้สังคมลงโทษมากขึ้น จนคนเหล่านี้ขาดโอกาสในการแก้ตัว
ทำให้กลายเป็นแหล่งเกิดราชายาเสพติด ซึ่งปัญหานี้รับสั่งของทูลกระหม่อมภา คือต้องการแก้ปัญหานี้ ซึ่งทำให้มีความสำเร็จขึ้น โดยทำให้เห็นว่า AD ใช้ในพื้นที่เมืองได้ และแก้ปัญหาให้คนที่ขาดโอกาสในชีวิต และยากจน จนทำให้ทั่วโลกยอมรับในแนวคิดนี้ โมเดลนี้ขยายไปยังต่างประเทศที่มีบริบทคล้ายๆกัน เช่น บราซิล เม็กซิโก แอลจีเรีย ไนจีเรีย ที่มาเรียนรู้ และเอาโมเดลนี้ไปเป็นโมเดลพัฒนาในต่างประเทศ ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำงานมาแล้วได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในการใช้หลักการพัฒนาในการแก้ปัญหายาเสพติดที่มีรากเหง้ามาจากการขาดโอกาสในชีวิต และความยากจน
สร้างแลนด์มาร์คดึงการท่องเที่ยวเข้าพื้นที่
นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร้อยใจรักษ์กล่าวว่าโครงการฯได้ดำเนินการสร้างตลาดชุมชนขึ้นในบริเวณแปลงเกษตรสาธิต 75 ไร่ เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาให้หยุดแวะซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากชุมชน เช่น ผลผลิตการเกษตร ผ้าทอชนเผ่า เครื่องจักสานพื้นบ้าน โดยเน้นอัตลักษณ์ประจำชนเผ่าทั้ง 6 เผ่าในพื้นที่โครงการฯ รวมไปถึงร้านอาหาร ร้านนวด เพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือก และรายได้เพิ่มเติมให้แก่คนในชุมชน ทั้งนี้ มีเกณฑ์การประเมินคุณภาพร้านค้าต่างๆ ที่จะเข้าจำหน่ายสินค้าอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน โครงการฯ ก็ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ด้านการผลิตงานฝีมือและสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยจัดการศึกษาดูงานให้กับชาวบ้านที่สนใจเปิดร้านค้า เพื่อให้เข้าใจในเรื่องคุณภาพและการจัดการ รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องธุรกิจกาแฟ แก่ชาวบ้านที่สนใจเปิดร้านกาแฟในตลาดชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานของ โครงการร้อยใจรักษ์ ปี 2566 ที่ผ่านมา ได้แก่
1.ส่งเสริมชุมชนให้ด้านการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี โดยใช้สารชีวภัณฑ์และน้ำส้มควันไม้เพื่อควบคุมแมลงและโรคพืช ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรด้วย
2.เน้นการส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ฟักทองมินิ-ญี่ปุ่น ข้าวอิโต เสาวรส เคพกู้สเบอร์รี่ และเก๊กฮวย ส่งเสริมให้เกิดรายได้ 11.8 ล้านบาท
3.ส่งเสริมงานหัตถกรรมชุมชน สร้างรายได้ 1.3 ล้านบาท และแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรในพื้นที่ระยะเริ่มต้น สร้างรายได้ 2.3 ล้านบาท อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและกาดชุมชน สร้างรายได้ 5.5 ล้านบาท
4.จัดตั้งน้ำสะอาดในชุมชนราคาย่อมเยา ลดรายจ่ายชาวบ้าน 3,106 บาทต่อครัวเรือน
5.ให้บริการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยตาต้อกระจก เพื่อเฉลิพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินธรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
รายได้ครัวเรือนในพื้นที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในการวัดผลในด้านรายได้ของโครงการเมื่อเทียบกัน 2 ปี
- รายได้รวม ปี 2565 จำนวน 212,207,105 บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 45,064 บาท/คน/ปี
- รายได้รวม ปี 2566 จำนวน 274,900,000 บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 61,293 บาท/คน/ปี
ส่วนพืชที่มีการส่งเสริมการปลูกเพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชนในโครงการ ได้แก่ ปลูกข้าวนาปรัง ฟักทองมินิ ฟักทองญี่ปุ่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฟักทองคางคก ฟักแฟง ข้าวไร่
ข้าวนา เก๊กฮวย เงาะ มะม่วง มะม่วงหิมะพานต์ โกโก้ อะโวคาโด ก๋ง ชาอัสสัม แปลงฝรั่ง พุทรา แปลงลิ้นจี่หลวงปู่จันทร์ ข้าวอิโต เห็ด สตอว์เบอร์รี่ ทุเรียน ส้ม เบญจมาศ เสาวรส ซึ่งในระยะต่อไปคือการทำให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน