‘ร้อยใจรักษ์’ แก้พื้นที่ยาเสพติด ด้วย ‘ศาสตร์พระราชา’ และ ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’
ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และสร้างปัญหาทางสังคม รวมทั้งกระทบกับความมั่นคงประเทศ การแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้แค่เพียงกฎหมายแต่ต้องใช้แนวทางพัฒนาเข้าไปแก้ปัญหาไปด้วย
ข้อมูลรายงานการค้ายาเสพติดฉบับใหม่ของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ชี้ว่าการค้ายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทำสถิติสูงสุดในแง่การผลิตและการค้าในปี 2021
ส่วนรายงานสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่ามีปริมาณยาบ้าที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ
เมื่อรวมการจับกุมทั้งยาไอซ์และยาบ้าในไทย ในปี 2564 โดยจับยาบ้าได้กว่า 592 ล้านเม็ด และไอซ์อีกกว่า 22,126 กิโลกรัม นับว่ามีปริมาณมากที่สุดในทุกชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 13 ประเทศ
เส้นทางลำเลียงยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของไทยยังคงเป็นเส้นทางสำคัญของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทำให้ในช่วงที่ผ่านมาในบางพื้นที่หลายหมู่บ้านตกอยู่ในอิทธิพลของพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ ที่แม้ว่ากฎหมายจะจับกุมพ่อค้ายารายใหญ่ได้ แต่ “การพัฒนา” จะต้องเป็นส่วนสำคัญในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ จิตใจ พฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่ให้เปลี่ยนจากผู้เสพ และผู้ค้ายา มาดำเนินอาชีพสุจริต มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แนวคิดนี้ถูกนำมาสู่การพัฒนาโครงการ “ร้อยใจรักษ์” ในพื้นที่ 37,119 ไร่ ใน 4 หมู่บ้านหลัก 20 หมู่บ้านย่อย ในพื้นที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดย 4 หมู่บ้านหลักได้แก่ บ้านห้วยส้าน บ้านเมืองงามเหนือ และบ้านเมืองงามใต้ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ 1132 ครัวเรือน ประมาณ 4,700 คน
เป็นที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่นี้เป็นพื้นที่เปราะบางด้านความมั่นคงมีการลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนบ่อยครั้ง อดีตพื้นที่นี้ตกอยู่ในอิทธิพลของ นายเล่าต๋า แสนลี่ ราชาค้ายาเสพติดภาคเหนือ ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพร้อมพวก และครอบครัวที่โดนจับกุมไปตั้งแต่ปี 2559
เมื่อราชายาเสพติดถูกจับกุมไปทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจในพื้นที่เป็นโอกาสอันดีที่ “งานพัฒนา” จะเข้าไปทำงานในพื้นที่ ในหนังสือรายงานประจำปี ของโครงการร้อยใจรักษ์ ระบุไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเล็งเห็นว่าควรนำการพัฒนาเข้ามาเพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ ให้ชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้อย่างสุจริต ถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ที่อย่างยั่งยืน พระองค์ทรงเสด็จฯ ในพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการปีละ 2 ครั้ง ทรงพบปะประชาชน ทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการด้านต่าง ๆ รวมทั้งหารือร่วมกับข้าราชการที่ร่วมงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทรงมีกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 ทรงอธิบายให้คณะกรรมการอำนวยโครงการร้อยใจรักษ์ และคณะอนุกรรมการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โครงการร้อยใจรักษ์ให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของโครงการ ความตอนหนึ่งว่า
“...เป็นที่รู้กันว่าในพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดทั้งผู้เสพ และผู้ค้ารายใหญ่ รายย่อย ปัญหามีมานานและเรื้อรัง หากผู้ค้ารายใหญ่และรายย่อยได้ถูกดำเนินการโดยกฎหมายแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ทำการป้องกันหรือดำเนินการอย่างไรในพื้นที่เลย ก็จะมีผู้ค้ารายใหญ่ๆขึ้นมา อาจไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องในระยะยาว และไม่สามารถเรียกคืนศักดิ์ศรีของชาวบ้านกลับคืนมาได้
...จึงคุยกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯในการประชุมว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่กรุงเวียนนา เพื่อนำการพัฒนาเข้ามาแก้ไขรากฐานของปัญหา และดูว่ากฎหมายและการพัฒนาจะเดินไปควบคู่กันได้อย่างไรบ้าง เมื่อห้ามไม่ให้เขาทำผิดกฎหมาย จะให้เขาทำอะไร จึงเกิดโครงการร้อยใจรักษ์ เพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมมือกัน ร้อยใจเพื่อความเจริญของชุมชน และสังคม...”
โครงการ “ร้อยใจรักษ์”ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2560 เป็นการบูรณาการ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องที่ ท้องถิ่น จำนวน 263 คน และชาวบ้าน 208 คน รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 471 คน รวม 64 หน่วยงาน
โครงการร้อยใจรักษ์เป็นโครงการเพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อความผาสุก มั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและสังคม โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส. มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีส่วนร่วม ในทุกมิติตามศาสตร์พระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน สร้างอาชีพทางเลือกที่สุจริตและหลากหลาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น และ
วางรากฐานสู่รายได้ที่มั่นคงในระยะยาว พัฒนาด้านการศึกษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงในการกลับไปค้ายาเสพติดของคนในชุมชน นั่นคือ ด้านอุปทาน (Supply) ควบคูไปกับกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติด นั่นคือ ด้านอุปสงค์ (Demand) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน มีระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 12 ปี ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยส้านและลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้เริ่มเข้ามาดำเนินงานพัฒนา มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการ "ศาสตร์พระราชา" เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำชุมชนไปสู่การ "ระเบิดจากข้างใน" พร้อมที่ดำเนินกิจกรรมพัฒนาร่วมกับโครงการฯ ต่อไปโดยใช้โมเดลการพัฒนาจากโครงการฯดอยตุงมาใช้ ครอบคลุมการพัฒนา 10 มิติ น้ำ ดิน ป่า เกษตร ปศุสัตว์ การศึกษา สุขภาพ หัตถกรรม การท่องเที่ยว และมิติด้านการแปรรูปเพิ่มมูลค่า เท่ากับเป็นการใช้ “ศาสตร์พระราชา” และ “ตำราแม่ฟ้าหลวง”ไปพัฒนาพื้นที่เป้าหมายนี้ควบคู่ไปด้วยกัน
นับตั้งแต่วันเริ่มต้นโครงการผ่านมาเป็นระยะเวลาเกือบๆ 5 ปี การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ เกิดขึ้นควบคู่กับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยในส่วนของผู้ติดยาเสพติดที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้ค้าได้เข้าร่วม "โครงการอาสาทำดี" (อสด.) ที่ดำเนินการไปแล้ว 8 รุ่น รวมกว่า 460 คน ซึ่งนอกจากได้คนกลับตัวกลับใจออกจากวงการค้าและเสพยาเสพติด เจ้าหน้าที่ยังได้เบาะแสการค้ายาที่นำไปสู่การจับกุมยาเสพติดได้อีกหลายคดี
ส่วนในการสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เมื่อมีการเข้ามาวางแผนเรื่องจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทำให้การเพาะปลูกพืชสามารถทำได้มากขึ้น ปัจจุบันในพื้นที่มีการส่งเสริมการทำเกษตรทั้งจากพืชดั้งเดิมที่เคยปลูกในพื้นที่ทั้งพืชระยะสั้นและระยะยาว เช่น ข้าวพื้นเมืองพันธุ์อิโต ลิ้นจี่ ส้ม และพืชทางเลือกใหม่ๆ เช่น มันหวาน ทุเรียน เกรปฟรุ๊ต เก๊กฮวย ข้าวโพด กาแฟโรบัสต้า อะโวคาโด ฯลฯ ซึ่งผลผลิตทีได้โครงการได้นำมาจัดจำหน่ายที่กาดหลวงร้อยใจรักษ์ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ
นอกจากนี้ยังมีงานด้านปศุสัตว์ เช่น การส่งเสริมเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และเลี้ยงโค ในพื้นที่ที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมาทำให้ทราบถึงความก้าวหน้าของการทำเกษตรในพื้นที่
สมบูรณ์ แสนจันทร์ เกษตรกรผู้กลับใจจากผู้ค้ายาเสพติดมาทำเกษตรเต็มตัวบอกว่าแต่เดิมนั้นเคยคิดว่าขาดโอกาสในการหาตลาดที่จะทำการเกษตร จึงต้องไปดำรงชีพด้วยการค้ายา แต่เมื่อโครงการร้อยใจรักษ์เข้ามาบอกว่าจะช่วยทำตลาดและหาตลาดให้จึงหันหลังให้กับการค้ายามาทำเกษตรในพื้นที่ที่มีอยู่เดิมโดยเริ่มจากการปลูกมะม่วง และรวมกลุ่มกับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกมะม่วงราคาสูง เช่น พันธุ์นน้ำดอกไม้สีทองที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 75 บาท ต่อมาก็เริ่มขยายพื้นที่ปลูกส้มคุณภาพดี และส้มนอกฤดูเพื่อขายทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศมีตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยที่ผ่านมาเคยขายผลผลิตยกสวนได้ราคาสูงถึง 4.7 ล้านบาท
สมเดช อะบูเห็ด เกษตรกรกลุ่มปลูกฝรั่ง บอกว่าได้เริ่มเข้าโครงการตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยปลูกฝรั่งในพื้นที่หลังบ้านจำนวน 200 ต้น เดิมขายได้แค่ราคากิโลกรัมละ 15 บาท จึงค่อยๆเรียนรู้และพัฒนาการปลูกให้ได้คุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆจนปัจจุบันได้ราคากิโลกรัมละ 30 บาทสร้างรายได้ 70,000 บาทต่อการปลูก 1 รอบ โดยในแต่ละปีจะปลูกได้ 3 รอบ
ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มมี 29 ราย ซึ่งตนได้คัดเลือกสมาชิกที่เป็นกลุ่มหัวไว ใจถึงให้ออกมาปลูกฝรั่งคุณภาพสูงที่คาดว่าจะขายได้มากกว่า 35 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ได้รายได้มากขึ้น
อีกพืชที่เสนอเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ได้แก่ มันหวาน โดยได้นำเอาพันธุ์มันม่วงโอกินาวา และมันส้มโอกินาวา ที่ได้รับความนิยมบริโภคในท้องตลาด มีราคาจำหน่าย 20 – 25 บาทต่อกิโลกรัม โดยมันที่ได้มีรสชาติดีมากแต่ว่ามีเรื่องของศัตรูพืชที่เป็นด้วงที่ทำให้ในแปลงเพาะปลูกบางแปลงต้องเก็บเกี่ยวก่อนในระยะเวลา 80 วัน ซึ่งปกติหากไม่มีปัญหาศัตรูพืชในพื้นที่จะสามารถเพิ่มเวลาเพาะปลูกได้ถึงเวลาประมาณ 150 วันซึ่งมีความสมบูรณ์ของผลผลิต และมีจำนวนผลผลิตมากขึ้นซึ่งเป็นแนวทางที่จะปรับปรุงเพิ่มขึ้นในอนาคต สำหรับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันในพื้นที่สามารถสร้างรายได้ 20,000 บาทต่อไร่ จากต้นทุนประมาณ 5,000 บาทต่อไร่
ส่วนข้าวพื้นเมืองพันธุ์อิโต ที่เป็นข้าวนาปรังไม่ไว้แสงที่มีปริมาณแป้งสูง มีผลผลิตในพื้นที่สูง 800 – 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ โครงการฯได้มีการตั้งโรงสีข้าวชุมชนในพื้นที่เพื่อช่วยให้คนในพื้นที่นิยมปลูกและรับประทานข้าวพันธุ์นี้มาใช้โรงสีในพื้นที่ หรือขายข้าวเข้ามาให้โรงสีในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดช่วยเพิ่มทั้งรายได้และความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในพื้นที่ โดยราคารับซื้อจากชาวบ้านอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัมที่ระดับความชื้นไม่เกิน 14% มีการจ้างงานในชุมชน และเตรียมที่จะยกระดับเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเร็วๆนี้
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่าการนำเอาแนวทางการพัฒนาจากโครงการดอยตุงฯมาใช้ในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์เป็นการนำเอาแนวทางการพัฒนาด้วยศาสตร์พระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวง ไปพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย
โดยความแตกต่างระหว่างพื้นที่ร้อยใจรักษ์และดอยตุงคือในพื้นที่ของดอยตุงเป็นการแก้ไขปัญหาพืชยาเสพติด แต่พื้นที่ร้อยใจรักษ์มีปัญหาในเรื่องสารเสพติดสังเคราะห์ ที่ต้องแก้ปัญหาตัดวงจรเรื่องอิทธิพลของผู้ค้า ดีลเลอร์ ไปควบคู่กับการพัฒนาที่ต้องเร่งสร้างการพัฒนาอาชีพให้คนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการสร้างความคิดและทัศนคติที่ถูกต้องให้กับอดีตผู้ค้ายาเสพติดโดยใช้กระบวนการทางสังคมเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้แนวทางการทำงานยังเดินหน้าต่อไปตามแนวคิดและการทำงานของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล อดีตประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่บอกไว้ว่า “คนเราถ้าอยู่อย่างสุจริตได้แล้วนอนหลับ จะอยู่อย่างทุจริตคดโกงไปทำไมจึงต้องสร้างโอกาสให้คนเหล่านี้อยู่อย่างสุจริตได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
โดยโครงการนี้กำหนดระยะเวลาโครงการไว้ 12 ปี (2561 - 2572) โดยในระยะต่อไปจะเน้นที่การปลูกพืชที่มีราคาสูง การแปรรูปสินค้าเกษตร และพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาให้กับคนในพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสให้หลุดพ้นจากวงจรยาเสพติดอย่างถาวร