สกพอ.ผนึก“แม่ฟ้าหลวง” เพิ่มทักษะภาษา“อังกฤษ-จีน”
ความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะ 5 ปี (2562-2566) ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ 475,668 อัตรา แบ่งเป็นสายอาชีพ 53% และสายสามัญอีก 47%
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจ.เชียงราย เพื่อพัฒนาบุคลากรครูต้นแบบสอนภาษา โดยวันที่ 22 ก.พ.2565 ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติด้านการศึกษา เพื่อยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและจีนทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติให้ครูโรงเรียนในอีอีซี
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. เปิดเผยว่า สกพอ.และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงการในอีอีซี เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทักษะบุคลากรในเขตพื้นที่ โดยร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนและเพิ่มเติมองค์ความรู้รายวิชาภาษาต่างประเทศให้ครู
รวมทั้งต่อองค์ความรู้และพัฒนาครูให้เป็นครูต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อสร้างเครือข่ายครูในพื้นที่ สร้างเสริมประสบการณ์วิชาชีพแก่ครูเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาและพัฒนากำลังคน ให้ตรงความต้องการและได้มาตรฐานสากล
รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะนำองค์ความรู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน มาพัฒนาครูในอีอีซี พร้อมแนะนำเทคนิควิธีการ รวมทั้งเครื่องมือทั้งหมดที่มีสู่การพัฒนาพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้อีอีซีขับเคลื่อน เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ระยะเริ่มแรกของการพัฒนาจะมีกระบวนการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาภาษาอังกฤษให้ครู ซึ่งจะใช้หลักการฝึกฝนผู้สอน หรือ Train The Trainer เพื่อขยายผลสู่นักเรียน ซึ่งเป็นไปตามหลักสมรรถนะของครูผู้สอนในศตวรรษที่ 21 ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อเป็นเครื่องมือเปิดประตูของประเทศสู่โลกแห่งการสื่อสาร และการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคต
ปัจจุบัน ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการโรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาต่างประเทศทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในเขตอีอีซี (การใช้ภาษาอังกฤษ-จีน) ในระดับมัธยมศึกษาและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับการจัดการให้การศึกษาสู่ระดับสากลในการใช้ภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีความก้าวหน้าที่สำคัญในการฝึกอบรมการจัดการเรียนการสอนให้แก่ครูสอนภาษาอังกฤษและจีนที่เข้าร่วมโครงการ 35 คน และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ150 คน จากโรงเรียนในจังหวัดชลบุรีและระยอง 8 โรงเรียน
โดยตั้งเป้าให้มีการขยายผลจากการดำเนินโครงการในครั้งนี้ใช้จัดสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในอีอีซีอีกกว่า 8,000 คน โดยในปี 2565 จะขยายผลโครงการไปยัง 30 โรงเรียน และในปี 2566 อีก 90 โรงเรียน
เพ็ชร ชินบุตร รองเลขธิการ สกพอ. กล่าวว่า สกพอ.ดำเนินความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาบุคคลากรด้านการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการพัฒนานักธุรกิจท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาเรื่องหุ่นยนต์ โรโบติกส์ แขนกล และ 5จี
สกพอ.เปิดกว้างในการรับข้อเสนอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพและโดดเด่น ซึ่งตรงความต้องการและเหมาะกับการพัฒนาในอีอีซีเพื่อมาทำงานร่วมกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นที่ยอมรับในการสร้างสภาพแวดล้อมนานาชาติในการศึกษา
รวมทั้งจากความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน สกพอ.จึงริเริ่ม โครงการอีอีซี ไทยแลนด์ อะคาเดมี (EEC Thailand Academy) เพื่อเป็นสำนักงานกลางเก็บรวบรวมศาสตร์ความรู้เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจมาร่วมแบ่งปัน และเป็นพื้นที่สร้างโอกาสและความร่วมมือระหว่างเอกชนเพื่อการลงทุน รวมทั้งเป็นช่องทางติดต่อหลักของ สกพอ.กับเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2565 อีอีซีไทยแลนด์ อะคาเดมี จะเปิดให้นักธุรกิจนักลงทุนและหน่วยงานรัฐได้แลกเปลี่ยนกัน
คณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีอีซีเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยมี 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนประเทศ และตั้งแต่เริ่มพัฒนาอีอีซีพบสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการที่สุด คือ การพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะแรงงานขั้นสูง เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีแต้มต่อในการเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่
สกพอ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและดำเนินการควบคู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาตลอดตามแนวคิด “อีอีซี โมเดล” เป็นแกนหลักในการผลิตบุคลากร โดยประสานและร่วมกับภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลิตและพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงความต้องการในรูปแแบบ Demand Driven ทำให้ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายในการฝึกทักษะบุคลากรลงเฉลี่ยถึง 38% เนื่องจากแรงงานที่จบการศึกษาออกมาแล้วสามารถทำงานได้จริง
“สกพอ.มองปัญหาความต้องการบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงมาตั้งแต่ช่วงเริ่มทำอีอีซี และได้วางนโยบายเพื่อการพัฒนาบุคคลากรเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด โดย 4 ปีที่ผ่านมา สกพอ.ได้พัฒนาบุคคลากรตามความต้องการแล้ว 1 แสนคน จาก 4 แสนคน และบางส่วนอยู่ระหว่างการฝึกอบรม ทั้งได้มีการชักชวนนักลงทุนที่เข้ามาร่วมฝึกบุคคลากร อาทิ บริษัท หัวเว่ย และบริษัท ซิสโก้ และระยะต่อไป 3-5 ปี หากอุตสาหกรรมเป้าหมายยังมีกำลังคนไม่เพียงพอจะนำเข้าบุคคลากรจากต่างประเทศ”