จับตา ‘เทรนด์รับโลกร้อน’ ปี 2568 รู้ไว้ไม่ตกขบวน
สวัสดีครับผ่านไปหนึ่งทศวรรษเต็มๆ แล้วจากปี 2558 ที่สมาชิกสหประชาชาติได้บรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) และเร่งควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา
มาถึงวันนี้หากจะมองไปข้างหน้าว่ามีเทรนด์การจัดการกับก๊าซเรือนกระจกใดที่น่าจับตา เราต้องเหลียวหลังกลับไปมองว่ามีพัฒนาการความคืบหน้าใดบ้างที่น่าสนใจ ผมขอตั้งข้อสังเกตสามเรื่องหลักๆ ลองมาทบทวนไปพร้อมกันดังนี้ครับ
หนึ่งในวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือการลดการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมัน ปัจจุบันแนวโน้มการลงทุนจึงเทไปในพลังงานทางเลือกจนเรียกได้ว่าไม่หวนคืนแล้วครับ จากรายงาน Energy Transition Investment Outlook: 2025 and Beyond ที่ KPMG ได้ไปสอบถามบริษัท 1,400 แห่งในหลากหลายภาคธุรกิจทั่วโลก พบว่าร้อยละ 64 มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้ไฟฟ้า 56% ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และ 31% ลงทุนในเทคโนโลยีการดักจับกักเก็บคาร์บอน
นอกจากเรื่องทิศทางการลงทุนแล้ว ปีนี้จะมีการปรับแนวทางตั้งชื่อหุ้น ESG ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นด้วย หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนในยุโรป หรือ European Securities and Markets Authority (ESMA) ออกกฎเกณฑ์ที่จะบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2568 ว่ากองทุนที่เดิมมีชื่อประกอบด้วยคำเกี่ยวกับ ESG จะต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 80% ของมูลค่ากองทุนเพื่อการพัฒนาในด้านที่เกี่ยวข้องกับชื่อเหล่านี้ อีกทั้งเลี่ยงการลงทุนในกิจการประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล ยาสูบ เป็นต้น
กฎเกณฑ์นี้มุ่งกำจัดความกำกวมว่าด้วยลักษณะของกองทุน เพราะผู้จัดการกองทุนจะต้องสอบทานนโยบายการลงทุน เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้จริงว่าพอร์ตนั้นสีเขียวหรือไม่ ป้องกันการกล่าวอ้างเกินจริง (Green Washing) ซึ่ง Morningstar คาดว่ากรอบการตั้งชื่อที่ชัดเจนนี้จะส่งผลให้ 30-50% ของกองทุนในยุโรปต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อสะท้อนพอร์ตจริง และบางกองทุนต้องปรับวัตถุประสงค์หรือสัดส่วนพอร์ตเพื่อคงคำที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนไว้ในชื่อ เพราะการสมัครใจปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ชื่อหรือการรับรองด้าน ESG ย่อมช่วยให้กองทุนน่าเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนสายรักษ์โลก
นอกจากประเด็นด้านการลงทุน ปี 2568 ยังเป็นปีที่องค์กรต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนภายใต้กฎระเบียบที่เข้มข้นกว่าเดิม ในปีนี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ในยุโรปเริ่มรายงานการปล่อยคาร์บอนรวมถึงการดำเนินงานในมิติความยั่งยืนตามมาตรฐาน Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาระดับสากล Ernst & Young (EY) แนะนำให้มอง CSRD รวมถึงกฎ ESG ภาคบังคับอื่นๆ ที่จะตามมาเป็นโอกาสในการปรับตัวให้เร็วเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาด สามารถชูความเป็นเลิศในการปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนเป็นจุดเด่นของบริษัทได้
ยกตัวอย่างฟากยุโรปไปเยอะแล้ว มาดูกฎเกณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในทวีปอื่นกันบ้างครับ ล่าสุดออสเตรเลียได้เคาะกฎหมาย Australian Sustainability Reporting Standards (ASRSs) ที่กำหนดว่าตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป องค์กรขนาดใหญ่ในออสเตรเลียต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศ อาทิ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ 2 พร้อมเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
แม้ขณะนี้ ASRSs บังคับใช้กับเฉพาะองค์กรที่มีรายได้รวมตั้งแต่ 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียขึ้นไป หรือมีสินทรัพย์รวมตั้งแต่หนึ่งพันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียขึ้นไปก่อน แต่ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ความยั่งยืนระดับโลก PricewaterhouseCoopers (PwC) แนะนำว่าองค์กรขนาดรองลงมาควรเตรียมเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน โดยมีสี่ขั้นตอนเบื้องต้น คือจัดตั้งคณะทำงาน ทำความเข้าใจข้อกำหนดทางกฎหมาย วิเคราะห์ว่าองค์กรยังขาดอะไรในการรายงาน (Gap Analysis) แล้วจัดลำดับความสำคัญและวางแผนการรายงาน
ถือเป็นฤกษ์ดีรับปีใหม่ครับที่ผู้คนทั่วโลกตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนผ่านสีเขียวมากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมากนัก ผ่านการลงทุน การป้องกันการกล่าวอ้างเกินจริง และการเปิดเผยข้อมูล อีกทั้งยังมีการประกาศใช้กฎระเบียบบางอย่างตั้งแต่ต้นปี 2568 ซึ่งถือเป็นเทรนด์การปรับตัวเพื่อรับมือและลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือดที่น่าจับตามองต่อไปครับ