‘บีบีจีไอ’ดึงซัพพลายภาคเกษตร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

‘บีบีจีไอ’ดึงซัพพลายภาคเกษตร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

“บีบีจีไอ” เปิดแผนธุรกิจดันรายได้ปีโตก้าวกระโดด จากดีมานด์ควบรวม “เอสโซ่” และรับรู้รายได้โรงงาน “SAF-CDMO” ที่จะสร้างเสร็จเดือนเม.ย.นี้

KEY

POINTS

  • BBGI ตั้งเป้ากำลังการผลิตเอทานอลปี 2568 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% หรือ 260 ล้านลิตรต่อปี จากปี2567 ที่ 200 ล้านลิตร ส่วนไบโอดีเซลตั้งเป้าที่ 330 ล้านลิตร
  • เมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้นจากการควบรวมบางจากกับเอสโซ่ ส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์น้ำมันอยู่ที่ 30% มั่นใจผลประกอบการธุรกิจ Biofuel จะเติบโตก้าวกระโด

ช่วงปี 2567 ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญในการดำเนินธุรกิจกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรเชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจกับ บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล

เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตั้งเป้ากำลังการผลิตเอทานอลปี 2568 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% หรือประมาณ 260 ล้านลิตรต่อปี จากปี2567 ที่ 200 ล้านลิตร ส่วนไบโอดีเซลตั้งเป้าที่ 330 ล้านลิตร

“ปีนี้เดินเครื่องเต็ม 100% เพราะเมื่อมีดีมานด์เพิ่มขึ้นจากควบรวมกับเอสโซ่ ทำให้ปัจจุบันเป็นสถานีน้ำมันของบางจากทั้งหมดแล้วส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์ตลาดน้ำมันจะอยู่ที่ 30% หนุนให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่ามาก คาดผลประกอบการธุรกิจ Biofuel จะเติบโตก้าวกระโดด ส่งผลให้มาร์จิ้นดีขึ้นแน่นอน”

เม.ย.68พร้อมพร้อมกำรายได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ปี 2568 ธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานยนต์ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ซึ่ง BBGI ถือหุ้นอยู่ 20% ร่วมกับบางจาก จะเห็นโอกาสมากขึ้น จากการลงทุนเบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน จะเดินแล้วเสร็จเดือนเม.ย. 2568 ก่อนจะเข้าสู่ทดลองผลิตและเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังทันที โดยจะแบ่งกำไรตามสัดผู้ถือหุ้น คาดว่าจะได้ส่วนแบ่งค่อนข้างดี จากเป้าหมายแผนธุรกิจบางจาก

“เรามีลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ไทยจะยังไม่ชัดเจนว่าจะผสมสัดส่วนเท่าไหร่ แต่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และยุโรปมีทิศทางชัดเจนมาก อีกทั้ง ยังมีสายการบินต่างชาติที่ต้องมเติมเชื้อเพลิงในประเทศไทย”

‘บีบีจีไอ’ดึงซัพพลายภาคเกษตร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

2. โรงงาน Contract Development and Manufacturing Organization (CDMO) ซึ่งเป็นโรงงานไบโอเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาจเรียกว่าเป็นโรงงาน SynBio

คาดก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนเม.ย. 2568 เช่นกัน คาดว่าจะมีกำลังผลิตเบิ้งต้น 60% จากกำลังผลิตทั้งหมด (Total Fermentation Capacity) 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะเป็นการผลิตด้วยอุปกรณ์ขั้นสูงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยตั้งเป้าต่อยอดขยายธุรกิจออกเป็น 3 เฟส

“ธุรกิจ SynBio จะรองรับการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ชีววิทยาสังเคราะห์ด้วยกระบวนการหมักที่มีความแม่นยำ สอดรับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ยกระดับความยั่งยืนของทรัพยากรชีวภาพและเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ยอมรับว่านโยบายด้าน Biofuel ไทยแตกต่างมากหากเทียบประเทศอื่น เช่น อินเดียที่มีความชัดเจนว่า ปี 2025 จะใช้ผสมสัดส่วน 25% ซึ่งวัตถุดิบยังคงใช้กากน้ำตาล น้ำอ้อย สินค้าเกษตรเป็นหลัก และห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาลส่วนเกินเหลือบริโภคมาสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ ช่วยเพิ่ม GDP อินเดียได้ 1%

“โรงงาน CDMO เราร่วมกับ Fermbox Bio อินเดีย ถือหุ้น 75% ถือเป็นโครงการแรกๆ ในเซาท์อีสท์เอเชีย หากอนาคตไทยปรับนโยบายเหมือนอินโดนีเซีย และมาเลเซียทำไบโอดีเซล (บี35-บี40) เงินจะหมุนเวียนภายในช่วยปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ ทิศทางนี้จะช่วยให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero เกิดขึ้นได้”

“เฟส 2 จะมุ่งด้านอื่นมากขึ้น เช่น DHA กรดอะมิโนจากปลาทะเล เนื่องจากปัจจุบันการจับปลาได้น้อยลง สิ่งของจำเป็นของมนุษย์เริ่มขาดแคลน บริษัทฯ จึงนำสาหร่ายมาเลี้ยงในโรงงาน CDMO แล้วใช้วัตถุดิบที่น้อยกว่าาธรรมชาติและต้นทุนที่ดีกว่า”

เร่ง Bio-LNG ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

3. โครงการผลิตไบโอแอลเอ็นจี (Bio-LNG) โดยบริษัทฯ ได้ร่วมกับ บริษัท เคปเปล จำกัด (Keppel) และ คลีนเอดจ์ รีซอร์สเซส จำกัด (CleanEdge) จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการใช้พลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยยกระดับการใช้พลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำร่วมกันคือการนำเอาน้ำเสียจากเอทานอลมาผลิตเป็นไบโอแอลเอ็นจีลักษณะเหมือนปิโตรเลียมเหลว อีกทั้ง การที่สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีของโลกทั้งเดต้าเซ็นเตอร์ที่ต้องใช้พลังงานสีเขียวแต่ไม่สามารถขยายดาต้าเซ็นเตอร์เฟส 2 ได้ อนาคตรัฐบาลสิงคโปร์จะร่วมหาพลังงานสีเขียวเพิ่มมากขึ้น โดยกำลังผลิตเบื้องต้นที่ 1.6 หมื่นตันต่อปี คาดจะเริ่มผลิตปลายปี 2026 ใช้เงินลงทุนเฟสแรกที่ 1.5 พันล้นบาท

“ที่เราร่วมมือกับสิงคโปร์ผลักดัน Bio-LNG เพื่อให้ผลิตพลังงานสีเขียวและสามารถซื้อข้ามประเทศได้ หากร่วมมือกันได้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนฃจะช่วยลดคาร์บอนได้มาก เพราะไทยมีวัตถุดิบเกษตรเยอะจะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศได้มหาศาล”

เดชพนต์ กล่าวว่า นโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะกระทบแผนเป้าหมายการลดโลกร้อนหรือไม่นั้น มองว่า ประเทศไทยยังเป็นทิศทางที่คงนโยบายให้ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากธุรกิจบริษัทฯ สนับสนุนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนวัสถุดิบยังมีการรองรับ กลุ่มบางจากจะยังคงสนับสนุนนโยบายคาร์บอนแทกซ์เพื่อทำให้ราคาเชื้อเพลิง Biofuel ถูกลงแม้ว่าปี 2569 จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)

“เดิมทีเก็บในลักษณะกองทุนน้ำมันฯ ขณะนี้จะตัดในส่วนนี้ทิ้งและใช้กลไกภาษีคาร์บอนแทน ใครใช้น้ำมันที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงก็ต้องจ่ายค่าน้ำมันสูง ดังนั้น หลักการราคาขายหน้าสถานีบริการน้ำมันจะไม่ต่างกัน”

จับตาอุตสาหกรรมอาหารโดนตีแตก

“รัฐบาลพยายามช่วยเอสเอ็มอีและเอาเงินไปใส่ให้ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ไม่รู้จะผลิตแข่งกับใคร ดังนั้น โอกาสที่จะอยู่รอดได้คือ ต้องเกาะกับกระแสผลิตภัณฑ์สีเขียว หากไม่ปรับตัวจะไปทางไหนไม่ได้”

ทั้งนี้ สิ่งที่้เห็นชัดเจนคือสินค้าราคาถูกเข้ามามาก อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทรุด เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะประเทศเปิดให้ให้จีนเข้ามาลงทุนในกลุ่มผลิตปิโตรเคมีในขณะที่อุตสาหกรรมไทยยังไม่แข็งแรงจึงเป็นปัญหาในปัจจุบัน

อีกทั้ง ยังมีอุตสาหกรรมอาหารที่จะโดนตีแตก จากข่าวหมูเถื่อนที่เข้ามาเพราะมีราคาถูก ดังนั้น หลังจากนี้จะคุมไม่อยู่ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารจะเป็นอุตสาหกรรมต่อไปที่จะโดน หากไม่ปกป้องเหมือนสหรัฐ ไทยจึงควรดึงจุดแข็งหนุนภาคการเกษตรมาสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ปีนี้จะเป็นปีที่เริ่มต้นสู่อนาคตที่มีรายได้และผลประกอบการค่อนข้างมั่นคงขึ้น จากอดีตที่รายได้และกำไรมาจากธุรกิจ Biofuel ที่ยังผันผวน บริษัทฯ จึงมุ่งหาโอกาสทำผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอน”