'ภูเก็ต' บ่อขยะล้น ส่งกลิ่นเหม็น ผลกระทบจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่ง

'ภูเก็ต' บ่อขยะล้น ส่งกลิ่นเหม็น ผลกระทบจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่ง

ภูเก็ตต้องเผชิญกับวิกฤตการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และกำลังประสบกับปัญหาขยะล้น เนื่องจากเตาเผาขยะ 1 เตา ปิดซ่อมบำรุง

KEY

POINTS

  • ภูเก็ตตั้งเป้าหมายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • ด้วยการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่งผลให้ภูเก็ตผลิตขยะเป็นจำนวนกว่า 1,100 ตันต่อวัน
  • ตอนนี้ภูเก็ตกำลังประสบวิกฤตการจัดการขยะ เนื่องจากเตาเผาขยะปิดซ่อมบำรุง 1 หัวเตา
  • เกิดปัญหากองขยะขนาดใหญ่ในบ่อทิ้งขยะที่มีอยู่แห่งเดียวในจังหวัด
  • ปริมาณขยะกว่า 900 ตันต่อวันถูกส่งเข้ายังบ่อฝังกลบ

จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะที่สวยงามและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตั้งเป้าหมายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนภูเก็ตราว 13 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 35 ล้านคนที่มาเยือนไทย ส่งผลให้ภูเก็ตผลิตขยะเป็นจำนวนกว่า 1,100 ตันต่อวัน ปริมาณขยะมหาศาลดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตด้านการจัดการขยะในภูเก็ต เกิดปัญหาขยะในทะเล และกองขยะขนาดใหญ่ในบ่อทิ้งขยะที่มีอยู่แห่งเดียวในจังหวัด

ตอนนี้ภูเก็ตกำลังประสบวิกฤตการจัดการขยะ เนื่องจากเตาเผาขยะของบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด ที่เทศบาลนครภูเก็ตให้สิทธิบริหารโรงเตาเผาขยะ ปิดซ่อมบำรุง 1 หัวเตา (Major Shutdown) เป็นเวลาหนึ่งเดือน ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2568 ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องนำขยะส่วนเกินหลายร้อยตันไปทิ้งลงหลุมฝังกลบที่กำลังเต็มไปหมด ซึ่งระหว่างการปรับปรุงเตาเผาดังกล่าว สามารถรองรับปริมาณขยะได้เพียง 300 ตันต่อวันเท่านั้น ทำให้ปริมาณขยะกว่า 900 ตันต่อวันถูกส่งเข้ายังบ่อฝังกลบ

นายศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ระหว่างรอให้ บริษัท ไทยไพบูลย์ อีควิปเม้นท์ (TPB) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) เริ่มดำเนินการรื้อร่อนขยะนำออกไปกำจัด ระหว่างนี้ต้องปรับแผนการบริหารจัดการพื้นที่บ่อฝังกลบขยะวันต่อวัน เนื่องจากปริมาณขยะจากทุกพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 จนถึงช่วงเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีปริมาณขยะส่วนเกินส่งเข้าพื้นที่บ่อฝังกลบประมาณ 800 – 900 ตัน ถือว่า เป็นปริมาณที่สูงมาก ซึ่งได้ประสานงานไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ต ให้ช่วยกันลดปริมาณขยะจากต้นทางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปริมาณขยะภาพรวมที่ส่งเข้ามายังศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมจังหวัดภูเก็ต

นอกจากนั้น นายศุภโชค กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ก่อนเกิดโควิด-19 ช่วงโลว์ซีซั่น ปริมาณขยะไม่เคยถึง 1,000 ตันต่อวัน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-1,100 ตันต่อวัน ทำให้ และเกิดความกังวลว่าในช่วงไฮซีซั่น ปริมาณขยะอาจพุ่งสูงถึง 1,100-1,400 ตันต่อวัน จนเกิดความกังวลว่าหลุมฝังกลบขยะอาจเต็มภายใน 1 ปี

“การเติบโตของภูเก็ต รวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็นมาก เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญมากในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ และเป็นรองเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้น ขยะที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะครัวเรือน การท่องเที่ยว และการก่อสร้าง ซึ่งเพิ่มขึ้นหลังจากช่วงหลังโควิด ปัจจุบันมีการร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะให้ได้ 200,000 ตันภายใน 1 ปี โดยแผนดังกล่าวจะเน้นการนำขยะมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่ผลิตจากขยะหลายประเภท”

มาตรการเร่งด่วน

รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตมีมาตรการเร่งด่วน ลดผลกระทบต่อประชาชน ดังนี้

  • ฉีดหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อระงับกลิ่น ลดผลกระทบจากบ่อฝังกลบขยะ วันละ 2 รอบ
  • ทำการไถเกลี่ยปริมาณขยะ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับขยะส่วนเกินจากการนำเข้ากำจัดยังเตาเผา
  • ติดตั้งเครื่องจักรรื้อร่อนขยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัด

ส่วนแผนระยะกลาง-ระยะยาว

  • ลดจำนวนขยะลงร้อยละ 15 ภายใน 6 เดือน
  • เปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิง
  • ทำโครงการลดขยะอินทรีย์ร่วมกับหน่วยงาน NGO
  • สร้างเตาเผาทำลายขยะเพิ่ม

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะจากมหาวิทยาลัยบูรพา มีความเห็นเพิ่มเติมว่า นโยบายการเพิ่มพื้นที่บ่อขยะและสร้างเตาเผาทำลายขยะใหม่นั้นไม่เพียงพอ ต้องส่งเสริมการลดและแยกขยะในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

อ้างอิง : PRD