Investor Stewardship: กลไกขับเคลื่อนความยั่งยืนในตลาดทุนไทย

Investor Stewardship:   กลไกขับเคลื่อนความยั่งยืนในตลาดทุนไทย

Investor Stewardship หรือ การพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ลงทุน เป็นแนวคิดสำคัญที่ผู้ลงทุนสถาบันใช้ในการกำกับดูแลในบริษัทที่ลงทุน

เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนในระยะยาวผ่านการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่มีนัยสำคัญ ผู้ลงทุนสถาบันมีบทบาทสำคัญในการเป็น “ผู้ถือหุ้นเชิงรุก” ที่ผลักดันและส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกสำคัญคือ:

· การสามารถมีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้น (Investor Engagement): สื่อสารกับผู้บริหารเพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้าน ESG

· ความรับผิดชอบในการกำกับดูแล (Stewardship): ใช้สิทธิออกเสียงอย่างรับผิดชอบ บริหารความเสี่ยง ESG และสนับสนุนการเติบโตระยะยาว

กลไกเหล่านี้ส่งเสริมบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ที่เข้มแข็ง เช่น การพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการและค่าตอบแทน รวมถึงการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ผลักดันการผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์ของธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

แนวคิด Investor Stewardship ได้รับการยอมรับในหลักปฏิบัติสากล เช่น UN Principles for Responsible Investment (UNPRI) และหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) ซึ่งเป็นแนวทางให้ผู้ลงทุนสถาบันกำกับดูแลการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ยกระดับความน่าเชื่อถือ และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนคำนึงถึง ESG ในการประกอบธุรกิจ โดยมีการระบุเครื่องมือสำคัญหลายประการ อาทิ

· การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy Voting): สนับสนุนหรือคัดค้านข้อเสนอของฝ่ายบริหารเกี่ยวกับประเด็นสำคัญด้าน ESG

· การมีส่วนร่วมกับบริษัท (Engagement and Dialogue): หารือและติดตามผลอย่างต่อเนื่องกับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท เกี่ยวกับความเสี่ยง ทิศทาง และนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร

· การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ลงทุน (Collaborative Actions): ร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ลงทุนสถาบันรับหลักการ UNPRI และ I Code มาปฏิบัติเพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานแล้ว ควรใช้สิทธิออกเสียงอย่างมีความรับผิดชอบ นำปัจจัย ESG มาประกอบการตัดสินใจลงทุน และเปิดเผยนโยบายอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ควรมีส่วนร่วมเชิงรุกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน (Transitioning) กับบริษัทที่มีความเสี่ยงด้าน ESG สูง เพื่อผลักดันการปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและพัฒนาโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ลงทุนสถาบัน องค์กร และสมาคมที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล

การดำเนินการตามแนวคิด Investor Stewardship ยังมีความท้าทายที่สำคัญ ทั้งปัญหาการฟอกเขียว(Greenwashing) ที่ใช้ ESG เพื่อภาพลักษณ์โดยขาดการปฏิบัติจริง แรงกดดันด้านผลตอบแทนระยะสั้นที่อาจขัดแย้งกับเป้าหมายความยั่งยืน และความแตกต่างของมาตรฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้การกำกับดูแล/เปรียบเทียบ/นำมาใช้ปฏิบัติจริง มีความยากขึ้นซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

บทสรุป: Investor Stewardship ช่วยให้ผู้ลงทุนสถาบันมีส่วนร่วมกับการกำกับดูแลตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเมื่อดำเนินการอย่างเข้มแข็ง จะช่วยยกระดับมาตรฐาน ESG ของบริษัทที่ลงทุน สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนกับเจ้าของเงินลงทุน และส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน

 

คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

*บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง SET ESG Experts Pool และ SET ESG Academy ในการนำเสนอประเด็น ESG ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของไทย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://setga.page.link/qA39