ต้นทุนสร้างนิวเคลียร์ SMR ในไทย ความไม่แน่นอนที่ต้องเร่งหาคำตอบ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR ที่ช่วยก้าวข้ามวิกฤติด้านพลังงานในอนาคต การลงทุนที่ท้าทายด้วยต้นทุนสูง แต่จำเป็นเพื่ออนาคตพลังงานไทย
KEY
POINTS
- SMR ทางเลือก ทางรอด Green Energy เจาะลึกเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ทั่วโลกจับตา
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ช่วยก้าวข้าม
กรุงเทพธุรกิจ Roundtable จัดเสวนาหัวข้อที่สำคัญ “SMR ทางเลือก ทางรอด Green Energy” วันอังคาร ที่ 18 มีนาคม 68 เวลา 13.00-16.00 น. เพื่อเจาะลึกเทคโนโลยี SMR (Small Modular Reactor) พลังงานสะอาดที่ทั่วโลกจับตา
กระแส "SMR" ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะเป็นทางเลือกสำคัญในการก้าวข้ามวิกฤติด้านพลังงานในอนาคต แต่ก็ยังมีประเด็นคาใจอยู่มากมายถึงมาตรการต่างๆ ทั้งการลงทุน เทคโนโลยี ความปลอดภัย และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
โดยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาหลักด้านพลังงานสะอาดคือ เสถียรภาพพลังงานที่มั่นคง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และพลังงานลม
เนื่องจากพลังงานเหล่านี้มีข้อจำกัด เช่น การขึ้น-ลงของแสงแดด หรือปริมาณลมที่ไม่คงที่ และแบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งยังคงมีราคาสูงและต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ราคาลดลงในอนาคต
แต่การใช้ SMR จะสามารถช่วยเติมเต็มความมั่นคงนี้ได้ โดยสามารถผลิตพลังงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน แต่ความท้าทายหนึ่งคือ ต้นทุนของเทคโนโลยี SMR ซึ่งยังคงมีราคาสูงและต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ราคาลดลงในอนาคต
“ส่วนแผน PDP (Power Development Plan) ของประเทศไทย มีความยากลำบากในการอนุมัติแผนพัฒนาไฟฟ้าฉบับใหม่ เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน เช่น คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งอาจทำให้แผนนี้ช้ากว่าที่คาดหวัง"
ชี้แจงให้ชัดเจน
การสัมมนานี้ยังเปิดประเด็นสำคัญที่ว่า การนำ SMR เข้ามาใช้ในประเทศไทยจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในแง่ของความปลอดภัยและความมั่นคงของพลังงาน โดย ศ.ดร.พรายพล อธิบายว่า การพัฒนาพลังงานทางเลือกนี้ ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
"สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้พลังงานสะอาดเป็นทางเลือกที่สามารถสร้างความยั่งยืนและตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศในระยะยาวได้ โดยต้องคำนึงถึง ความปลอดภัย ต้นทุนที่เหมาะสม และความมั่นคงของแหล่งพลังงาน ซึ่ง SMR สามารถแข่งขันกับพลังงานจากก๊าซธรรมชาติได้ แต่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีการชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น"
ต้นทุนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ศ.ดร.พรายพล กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ SMR จะน่าสนใจมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องระวังเรื่องต้นทุนบ้าง ตอนนี้พูดเรื่องต้นทุนยังชัดเจนไม่ได้ 100% อย่างที่ผมได้ไปดูสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ พบว่าต้นทุนการก่อสร้าง SMR ขนาดใหญ่ค่อนข้างสูง โดยประมาณ 30,000 ล้านบาท
ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้แพงอย่างที่คิด เมื่อเทียบกับพลังงานในรูปแบบอื่น เช่น พลังงานจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 1 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีต้นทุนราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่โรง SMR จะมีต้นทุนประมาณ 7 ล้านสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าถูกกว่า ในแง่ของต้นทุนการสร้าง
“แต่ในแง่ของรายละเอียดเทคนิคที่มีพูดถึงในไทย ข้อมูลยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ตอนที่เราคุยกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับต้นทุนการก่อสร้าง เขาก็ไม่ได้ให้ข้อมูลชัดเจนมากนัก แต่จากที่ถามไป เขาก็บอกว่าต้นทุนอยู่ในเรทประมาณ 10-15% ของต้นทุนที่คาดการณ์ไว้
จากที่ได้คุยกับภาครัฐและเอกชน เขามีความหวังว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปอีกสักระยะ ต้นทุนจะลดลงอีก ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ครับ เพราะในช่วงแรกๆ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มักจะมีต้นทุนสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนจะลดลงแน่นอน"
ถึงท้าทายแต่คุ้มค่า
ศ.ดร.พรายพล กล่าวปิดท้ายว่า ประเทศไทยยังต้องพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป เพราะเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือการขยายตัวของพลังงานที่ยั่งยืนในประเทศ ถึงแม้จะมีความท้าทายในเรื่องการก่อสร้างและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่เชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะพัฒนาไปจนสามารถใช้งานได้จริงและคุ้มค่า
"สุดท้ายผมยังยืนยันว่าการลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมันจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและรองรับการเติบโตในอนาคต"